วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

กฎหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On February 1, 2018

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : ..อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

ผมมีโอกาสได้ฟังบรรยายเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศไทยจากผู้เชี่ยวชาญหลายท่านหลายครั้งในหลายโอกาส มีไม่บ่อยครั้งที่ความเห็นของแต่ละท่านจะออกมาคล้ายคลึงกันเหมือนกับช่วงเวลานี้ ความเห็นสำคัญข้อหนึ่งที่เหมือนกันและหลายท่านเริ่มเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อยๆก็คือปัญหา “รวยกระจุกจนกระจาย” โดยเชื่อว่าหากปล่อยให้สถานการณ์แบบนี้ดำเนินต่อไปมันจะ “สายเกินแก้” หรือเปล่า!

อย่างที่เคยเรียนให้ท่านผู้อ่านรับทราบ เรื่องข้างต้นจะจริงเท็จอย่างไรผมไม่เคยต้องเสียเวลาพิสูจน์ เพราะตราบใดที่เสียงสะท้อนจากเขตสายไหม กรุงเทพมหานคร ซึ่งผมเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยังดังกึกก้องอยู่ตลอดเวลาขณะนี้ว่า “แย่แล้ว” โดยเฉพาะตลาดสดหรือตลาดนัดที่พ่อค้าแม่ขายยืนยันชัดเจนว่ากำลังซื้อของชาวบ้านหดหายไปกว่าครึ่ง ผมจึงเชื่อทันทีว่าเศรษฐกิจไทยกำลังย่ำแย่แน่นอน

เขตสายไหมเป็นเขตชานเมืองของกรุงเทพฯ มีประชากรมากกว่า 200,000 คน มีความผสมผสานบรรยากาศแบบภูธรและนครบาลอยู่ในตัวเอง ผู้คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ที่นี่มีความหลากหลายทางอาชีพและรายได้ เราสามารถพบได้ทั้งเจ้าของธุรกิจมหาเศรษฐีไปจนถึงผู้ใช้แรงงานและชาวไร่ชาวนา แน่นอนว่าที่นี่มีบุคคลที่รับราชการอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ดังนั้น สภาพเศรษฐกิจของที่นี่จึงสะท้อนข้อมูลพื้นฐานให้กับผมได้เป็นอย่างดี

ผมเคยเขียนเรื่องความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจฐานรากกับการเงินการคลังของประเทศอยู่หลายครั้งว่า ทำไมภาครัฐจึงต้องให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้และขยายโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีโอกาส “ลืมตาอ้าปาก” เพราะเมื่อไรที่คนส่วนใหญ่ของประเทศมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เมื่อนั้นรัฐก็จะมีรายได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน

เมื่อรัฐปฏิเสธที่จะดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอย่างเท่าเทียม แต่เลือกที่จะทุ่มเงินจำนวนมหาศาลลงไปในจังหวัดซึ่งมีรายได้เฉลี่ยประชากรต่อหัวอยู่ในระดับต้นๆของประเทศ ส่วนจังหวัดอื่นๆกลับได้เพียงแค่ “เศษเนื้อติดกระดูก” การกระจายรายได้แบบนี้จึงถูกกูรูเศรษฐศาสตร์บางท่านค่อนแคะว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และเรียกนโยบายลักษณะนี้ว่าเพื่อ “นายทุนขุนศึก” เท่านั้น

ผมบ่นให้ฟัง ส่วนท่านผู้อ่านก็พิจารณากันตามอัธยาศัย บางทีผมกับผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากอาจจะผิดก็ได้ แต่ถูกผิดอย่างไรคงไม่ใช่สาระสำคัญเท่ากับเงินในกระเป๋าของเราหดหายหรือเพิ่มพูนขึ้นมามากกว่า ถ้าท่านรวยขึ้นเพราะการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลเผด็จการ ผมก็ต้องแสดงความยินดีกับท่านและต้องชมเชยรัฐบาลของท่านผู้นำสูงสุดที่นำความกินดีอยู่ดีกลับมาให้กับประเทศ

แต่กลับกัน ถ้าท่านยากจนลง เป็นหนี้เป็นสินและขาดโอกาสในการสร้างรายได้ ต้องอยู่อาศัยกันอย่างแร้นแค้น สภาพแบบนี้ก็ต้องกล่าวโทษไปยังรัฐบาลเช่นกัน ดังนั้น เสียง “เรียกร้อง” กับเสียง “ขับไล่” จึงเป็นตัวชี้วัดได้เป็นอย่างดีว่าการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล คสช. ที่ผ่านมาสามารถ “คืนความสุข” หรือ “ขโมยความสุข” ของประชาชนไปกันแน่!

นอกเหนือจากสภาพเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่ที่ถดถอยลงไปเรื่อยๆแล้วยังมีเรื่องสำคัญอื่นๆที่ควรหยิบยกมาบ่นให้ฟังอีก นั่นก็คือการออกกฎหมายมาแบบรัวๆของผู้มีอำนาจในยุคนี้ การออกกฎหมายที่มีลักษณะเป็นเครื่องมือช่วยให้การบริหารประเทศราบรื่น ยิ่งออกมามากเท่าไรย่อมเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าการออกกฎหมายมากมายหลายฉบับด้วยวัตถุประสงค์อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกฎหมายเพื่อให้ผู้บังคับใช้กฎหมายหรือผู้มีอำนาจใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงประโยชน์ส่วนตน ผมถือว่าเป็นเรื่องที่ “น่ากลัว” อย่างยิ่ง

ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีด้านต่างๆก้าวไปอย่างรวดเร็ว มีการออกแบบเครื่องมือทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยออกมาอย่างมากมาย พลเมืองของโลกมีโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีและการบริการต่างๆเพื่อสร้างความสะดวกสบายและความง่ายให้กับชีวิตประจำวันของตนเองและครอบครัว

ดังนั้น สังคมที่เราอาศัยอยู่ขณะนี้จึงเป็นสังคมที่ “ผู้ให้บริการ” ต้องยึดเอาความพึงพอใจของ “ผู้ใช้บริการ” เป็นที่ตั้ง หากธุรกิจหรือกิจการใดไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้ ธุรกิจนั้นก็เจ๊งเอาง่ายๆ แม้แต่ธุรกิจที่มีการสืบทอดกิจการมาเป็นร้อยๆปี มีลูกค้ามาใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป บริษัทนั้นก็อาจล้มละลายลงได้ไม่ยาก

เพราะฉะนั้นการออกกฎหมายที่เหมาะสมสอดคล้องกับรูปแบบของธุรกิจที่เปลี่ยนไปจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง ผมยกตัวอย่างเรื่องการให้บริการรถโดยสารประเภทแท็กซี่ที่คนในหัวเมืองใหญ่ต้องใช้งานเป็นประจำ การให้บริการในลักษณะนี้หากบริษัทแท็กซี่มีระบบควบคุมที่ดีเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในความปลอดภัย ตลอดจนสามารถติดตามการทำงานของคนขับและรถได้ตลอดเวลา ลูกค้าคงไม่ไปเรียกร้องหาบริการของแท็กซี่ในรูปแบบอื่นๆ

แต่พอผู้ให้บริการไม่ยอมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการบริการให้เท่าเทียมและทันสมัยเทียบเท่ากับการบริการแท็กซี่ในรูปแบบใหม่ที่ลูกค้าสามารถเรียกใช้และตรวจสอบการบริการต่างๆได้เพียงปลายนิ้วกด ก็มีการใช้อำนาจตามกฎหมายเข้าไปยับยั้งการให้บริการที่ดีกว่า การแก้ไขปัญหาหรือการบังคับใช้   กฎหมายในลักษณะนี้จึงกลายเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตของประชาชนที่ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปโดยปริยาย

ยังมีธุรกิจ “Startup” อีกหลายตัวที่เกิดเมืองไทย แต่ต้องไปโตเมืองนอก หรือต้องเปลี่ยนสัญชาติเพราะความเก่าแก่ล้าสมัยของกฎหมายที่นอกจากไม่เอื้อประโยชน์ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างที่ควรจะเป็นแล้ว กฎหมายฉบับต่างๆยังกลายเป็นปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ธุรกิจยุคใหม่เหล่านี้ไม่สามารถเจริญเติบโตงอกงามในประเทศไทยได้

ผมติดตามดูประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลายให้ความสำคัญในการปรับแก้กฎหมายต่างๆเพื่อให้ธุรกิจยุคใหม่สามารถเดินหน้าและขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่ เพราะทุกประเทศทราบเป็นอย่างดีว่าธุรกิจเหล่านี้คืออนาคตที่สามารถสร้างความมั่งคั่งและยั่งยืนให้กับประเทศชาติ นอกจากนั้นยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศให้ดีขึ้นอีกด้วย

และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ในปัจจุบันหากเราดูความมั่งคั่ง 10 อันดับแรกของธุรกิจบนโลกใบนี้ จะพบว่าเกือบทั้งหมดเป็นธุรกิจยุคใหม่แทบทั้งสิ้น และถ้าเราเจาะลึกธุรกิจยุคใหม่ในอาเซียนที่ทำรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก เราจะพบว่ามีหลายประเทศแล้วที่ประสบความสำเร็จ และบริษัทเหล่านั้นสามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศของตนเองได้อย่างน่าชื่นชม ยกเว้น “ประเทศไทย”

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้มีอำนาจควรให้ความสำคัญกับการออกกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนธุรกิจยุคใหม่ เพราะไม่เช่นนั้นคนส่วนใหญ่อาจคิดได้ว่าการออกกฎหมายที่ผ่านมาเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องของท่านเท่านั้น


You must be logged in to post a comment Login