วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

ต้องปักเสาประชาธิปไตย /สัมภาษณ์- ดิเรก ถึงฝั่งโดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On January 15, 2018

คอลัมน์ : ฟังจากปาก

สัมภาษณ์โดย  : ประชาธิปไตย เจริญสุข

 “ดิเรก ถึงฝั่งอดีต ส.ว. และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ยันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นต้นเหตุความขัดแย้งและเกิดรัฐประหารอีก ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ คือเสาหลักที่ต้องสร้างให้มั่นคงและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน หากจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยก็ต้องทำให้เสาหลักถูกต้องแล้วพัฒนาคน

+++++

ภาพรวมตั้งแต่รัฐประหารจนถึงขณะนี้ในซีกการเมืองไม่ดีขึ้นเลย เพราะความปรองดองไม่ได้เป็นไปตามเป้า การปฏิรูปการเมืองก็ไม่ได้เป็นไปตามแนวที่เราอยากเห็น เพราะรัฐธรรมนูญที่เขียนออกมาไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่เป็นเสาหลักในการปกครองระบอบประชาธิปไตย แม้จะเขียนไว้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่ในเนื้อหาจริงๆอำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชนโดยสมบูรณ์ การปฏิรูปการเมืองยังขาดตกบกพร่องอีกมาก โดยเฉพาะเสาหลักคือรัฐธรรมนูญเพี้ยนมาก

รัฐธรรมนูญปี 2560 ถ้ามองภาพรวมทุกมาตราก็ดูดี สมบูรณ์หมด แต่จริงๆหัวใจมันรั่ว เพราะหัวใจสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยคือที่มาของอำนาจต้องมาจากประชาชน ไม่ใช่ไปกำหนดกฎเกณฑ์ให้กับเขา เช่น ที่มาของนายกรัฐมนตรีเป็นคนนอกมันก็ผิด ขัดหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรีจะมาจากคนนอกไม่ได้ ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้นจึงจะเป็นฐานของประชาธิปไตยที่ถูกต้อง

ในบทเฉพาะกาลเขียนว่า ส.ว. มาจากการเลือกของ คสช. 250 คน ยิ่งชี้ให้เห็นชัดว่าต้องการให้นายกรัฐมนตรีเป็นคนนอก เพราะ ส.ว. 250 คน มีสิทธิจะเลือกนายกรัฐมนตรีได้ มันผิดหลักการ ส.ว. ที่ต้องการให้พิจารณากฎหมายกับถอดถอนนักการเมืองเท่านั้น ส.ว. ไม่มีอำนาจไปเลือกนายกรัฐมนตรี นั่นเป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร เขียนรัฐธรรมนูญให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี แล้ว ส.ว. ยังมาจาก คสช. อีก จึงไม่ต้องสงสัยเรื่องการสืบทอดอำนาจ แม้รัฐบาล คสช. จะปฏิเสธมาตลอด แต่สังคมและนักวิชาการมองอย่างนั้น เพราะแนวโน้มมันไปอย่างนั้นจริงๆ

ยิ่งให้การเลือกตั้งเป็นระบบจัดสรรปันส่วนเพื่อไม่ให้พรรคการเมืองได้เสียงข้างมาก เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลก็จะมาจากพรรคการเมืองต่างๆมารวมกัน ผสมกัน ก็จะทะเลาะกันเพราะการแย่งอำนาจ คนนั้นอยากเป็น คนนี้อยากเป็น รัฐบาลก็ไม่เข้มแข็ง ไม่สามารถบริหารประเทศได้ตามนโยบายที่กำหนดไว้ เพราะต้องการให้มีนายกรัฐมนตรีจากคนนอก ทั้งที่ขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ขัดมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เขียนไว้ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ” มันขัดกันเอง เพราะฉะนั้นเมื่อมีอุดมการณ์อย่างนี้ แต่รายละเอียดในรัฐธรรมนูญหลายมาตราไม่สามารถทำให้เป็นไปตามมาตรา 1 มาตรา 2 และมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญได้ โดยเฉพาะมาตรา 2 กับมาตรา 3

มาตรา 2 เขียนชัดเจนว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นี่เป็นอุดมการณ์ของเราเลย ส่วนมาตรา 3 เขียนว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขใช้อำนาจทางรัฐสภา ทางคณะรัฐมนตรี และทางศาล รัฐธรรมนูญทุกฉบับเขียนเหมือนกันหมด แสดงว่าเรามีอุดมการณ์ที่จะปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่เอาคอมมิวนิสต์ ไม่เอาเผด็จการ แต่เนื้อหาของรัฐธรรมนูญในบางมาตราขัดกับมาตรา 2 และมาตรา 3 ไปเขียนให้ ส.ส. มาจากระบบจัดสรรปันส่วนผสม ให้ ส.ว. มาจากการเลือกของ คสช. มันจึงหนีคำครหานินทาไม่ได้ ถูกติติง วิพากษ์วิจารณ์ และเกิดความขัดแย้งอีก

หลายมาตราได้เขียนเรื่องการปฏิรูปการเมือง หมวดที่ 16 มาตรา 257 กับ 258 เขียนไว้เลยว่า ต้องการให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยโดยถูกต้อง แต่รายละเอียดบางมาตรากลับไม่เป็นประชาธิปไตย มันขัดแย้งกันเอง ถ้ารัฐบาลใดเข้ามาก็ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ และถ้าแก้รัฐธรรมนูญอีกก็จะมีคนวางแผนยุยงให้ออกมาประท้วงอีก ในที่สุดก็ถึงทางตันและรัฐประหารอีก ไม่ใช่วิธีแก้ที่ถูกต้องเลย

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังกำหนดว่าต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และให้ออกเป็นกฎหมาย ซึ่งผมเห็นด้วย แต่ไม่ใช่ออกเป็นกฎหมายมาบังคับ 20 ปี เพราะยุทธศาสตร์ต้องปรับเปลี่ยนได้ตามความเปลี่ยนแปลงของโลก เปลี่ยนแปลงได้ทุกเวลา แผนยุทธศาสตร์ไม่ใช่การออกเป็นกฎหมายบังคับ เพราะถ้าไม่ทำตามก็เป็นความผิด พอผิดก็ต้องมีการร้องเรียนและนำมาซึ่งความขัดแย้งอีก เพราะมีคนจ้องจะฟ้องร้องอยู่แล้ว

ผมพูดมาหลายครั้งแล้วว่าการเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้จะเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งครั้งใหม่ เพราะเมื่อใครเข้ามาก็จะแก้รัฐธรรมนูญ ก็จะมีคนยุยงวางแผนให้คนออกมาให้เกิดความวุ่นวายและเกิดรัฐประหารอีก มันวนเป็นวงจรอย่างนี้มา 80 กว่าปีแล้ว ทำไมเราไม่หนีออกไปให้ถูกต้องเมื่อเรามีอุดมการณ์ว่าจะปกครองระบอบประชาธิปไตย

ไม่มีใครอยากให้บ้านเมืองเป็นแบบคอมมิวนิสต์หรือปกครองแบบเผด็จการ ผมถามลูกศิษย์ทุกคน ทุกคนต้องการประชาธิปไตย เราก็ต้องเดินให้ถูก รัฐธรรมนูญคือเสาหลัก ต้องเขียนให้ถูกต้องและยึดหลักความถูกต้อง แล้วจึงมาพัฒนาคนให้เข้าหาสิ่งที่ถูกต้อง เดินควบคู่กันไป ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ คือเสาหลักที่เราต้องสร้างให้มั่นคงและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับเขียนให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาก้าวก่ายทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการได้ อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญต้องแก้ไข เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ 3 เสาหลัก แต่ก็ไม่ใช่ให้เป็นเสาที่ 4 ที่มีอำนาจเหนือทุกองค์กรทุกฝ่าย ใหญ่กว่าฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ

ศาลรัฐธรรมนูญควรเป็นพี่เลี้ยงของรัฐสภาไม่ให้ออกกฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ และวินิจฉัยกฎหมายต่างๆให้กับรัฐสภาไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ ส่วนการให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจถอดถอนนักการเมืองก็โอเค เราไม่ว่ากัน เพราะเป็นอำนาจของ ส.ว. อยู่แล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นเพียงพี่เลี้ยงหรือผู้ช่วย การเมืองต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุดตรงประเด็น อะไรเป็นจุดอ่อนผมอธิบายไปเยอะแยะแล้ว โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งใหม่และวิกฤตทางการเมืองรอบใหม่แน่นอน

รวยกระจุก จนกระจาย

เราคงจำได้ หลังรัฐประหารเราถูกต่อต้าน ถูกคว่ำบาตรจากประเทศประชาธิปไตย โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ ทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา ไม่ว่านำเข้าและส่งออก ถูกกดดันหลายเรื่อง เราต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจเข้าขั้นวิกฤต ตอนนี้นายสมคิด (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี) บอกว่าจีดีพีสูงขึ้น แต่ผมมองว่ามันสูงจากคนรวยที่รวยกระจุก ไม่ได้เป็นการกระจายรายได้ให้กับคนจน เพราะฉะนั้นภาพรวมของประเทศ ความยากจนระดับล่างยังมีอีกมากมาย อย่างที่เราเรียกว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” เวลานี้มันเป็นอย่างนี้

เราอย่าโกหกตัวเอง ต้องมองความจริงมาพูด เวลานี้เศรษฐกิจมันแย่ คนจนไม่มีเงิน ค้าขายก็ไม่ได้ เราต้องไม่พูดเอาใจกัน ไม่ได้โจมตีรัฐบาล แต่วิเคราะห์จากสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เอาความจริงมาพูด จะได้ช่วยกันแก้ปัญหา ระบบเศรษฐกิจเวลานี้ยังไม่ดี อย่าไปเอาจีดีพีมาเป็นตัวชี้วัด ผมอยากให้รัฐมนตรีทั้งหลายไปเดินตลาดแล้วสอบถามชาวบ้าน เอาความจริงมาพูดกัน ไม่ใช่อยู่แต่ในห้องแอร์หรือฟังแต่คนสอพลอ

ถ้าเปรียบเศรษฐกิจเหมือนคน รัฐบาลก็คือส่วนศีรษะ มีหู มีตา มีสมอง รัฐบาลสายตาต้องกว้างไกล มองให้ออกถึงการเปลี่ยนแปลงของโลก หูต้องฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ฟังคำติฉินนินทาบ้าง ไม่ใช่ฟังแต่คนใกล้ชิดที่สอพลอ สมองต้องคิดตาม ปากก็ต้องพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประเทศ พูดให้นานาประเทศเข้าใจ ไม่ใช่พูดแล้วมีแต่คนสวนกลับ ด่ากลับ

ส่วนราชการเปรียบเหมือนโครงกระดูก ซึ่งระบบราชการมีปัญหากับประชาชนมาก การติดต่อราชการมีแต่ปัญหา ถ้าไม่มีปัญหา พล.อ.ประยุทธ์คงไม่ต้องใช้มาตรา 44 ห้ำหั่นข้าราชการไปหลายกระทรวงหรอก ส่วนภาคเอกชนและประชาชนก็เหมือนกล้ามเนื้อที่จะทำให้เป็นคนโดยสมบูรณ์

งบประมาณต้องมาจากประชาชน จากภาคเอกชนคือ 1.ภาษีอากร 75 เปอร์เซ็นต์บวกลบ 2.รัฐค้าขาย 20 เปอร์เซ็นต์บวกลบ หมายถึงรัฐวิสาหกิจ เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ฯลฯ อีก 5 เปอร์เซ็นต์มาจากเงินบริจาคหรือเงินช่วยเหลือจากนานาชาติ แต่ทุกวันนี้เงินบริจาคแทบไม่มี เพราะฉะนั้นรายได้หลักอยู่ที่ภาษีและรัฐค้าขาย เมื่อภาคเอกชนคือกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง เราจะเอาเงินภาษีจากที่ไหนมาเป็นงบประมาณมาพัฒนาประเทศ

เศรษฐกิจขณะนี้ต้องยอมรับว่าคนระดับรากหญ้ายังลำบากมาก การแก้ไขต้องแก้ทุกปัญหา รัฐธรรมนูญต้องแก้ก่อนเลย ต้องเขียนให้เป็นประชาธิปไตยที่ถูกต้อง อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง พัฒนาคนให้เข้ามาใช้อำนาจ ไม่ใช่ให้มีนายกฯจากคนนอก นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง อำนาจอธิปไตย 3 ฝ่ายต้องไม่ก้าวก่ายและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน รัฐบาลต้องรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนให้เดินตามวิถีประชาธิปไตยที่ถูกต้อง เคารพกติกา ยึดกฎหมายที่ถูกต้อง ไม่ใช่กฎหมายสองมาตรฐาน

ถ้าจะมี ส.ว. ก็ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีอำนาจหน้าที่พิจารณากลั่นกรองกฎหมายและถอดถอนนักการเมืองเท่านั้น ไม่มีหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี หลายคนอาจเถียงผมว่าแล้วทำไมอังกฤษ ส.ว. เขารัฐบาลเลือกล่ะ อังกฤษที่เขาเลือก ส.ว. เองนั้น รัฐบาลเป็นผู้เลือก รัฐบาลเขามาจากการเลือกตั้ง มาจากประชาชน แล้วเขาเลือก สภาสูงเขาเลือกของเขาเอง แล้วให้มีอำนาจพิจารณากฎหมายอย่างเดียว ไม่มีอำนาจไปถอดถอนใครเลย ถามว่าเขาเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าเป็น เพราะคนที่เลือก ส.ว. คือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อเขาเลือกเอง เขาไม่ได้ให้ประชาชนเลือก เขาจึงกำหนดอำนาจไว้เพียงพิจารณากฎหมายเท่านั้น

ผมยืนยันว่าเมื่อเรามีอุดมการณ์จะปกครองในระบอบประชาธิปไตย เสาหลักที่ต้องปักตรงตามระบอบประชาธิปไตยคือรัฐธรรมนูญ สอนคน พัฒนาคน ไม่ใช่เริ่มต้นอย่างที่เป็นอย่างทุกวันนี้ เดี๋ยวก็เข้าวังวนเดิม รัฐประหารไม่รู้จบ ร้อยปีก็เดินไม่ได้ เพราะเราเดินผิดทาง ถ้ารัฐบาล คสช. ทำอย่างที่ผมพูดก็จะได้รับการยกย่องมากเลยว่าปูพื้นฐานไว้ นายกรัฐมนตรีพูดอะไรคนก็เชื่อ แต่ถ้าคิดจะสืบทอดอำนาจอย่างที่เขาวิพากษ์วิจารณ์กัน ท่านมาเป็นนายกฯรอบที่ 2 ก็เหนื่อย เพราะไม่มีอำนาจมาตรา 44 ถ้าถูกวิพากษ์วิจารณ์แล้วเก็บอารมณ์ไม่อยู่ก็จะยิ่งโดนถล่มหนักกว่านี้อีก

ส่วนการเลือกตั้งที่หลายฝ่ายยังไม่มั่นใจว่าจะมีตามที่ประกาศ ผมคิดว่าสิ่งแวดล้อมเวลานี้เหมือนจะเป็นเช่นนั้น ถ้าไม่มีเลือกตั้งปีนี้ ทั้งที่ไปพูดกับผู้นำสหรัฐ ท่านก็จะเสียเอง จะเป็นวิกฤตศรัทธาที่ท่านทำลายตัวเอง ผมเองไม่แน่ใจว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรตามมา ที่นักวิชาการหรือภาคประชาชนเตือนว่าจะซ้ำรอยจอมพลถนอม กิตติขจร หรือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผมก็เห็นด้วย

วิกฤตศรัทธาอยู่ที่ตัวท่านเอง ครั้งที่ผมเป็น สปช. ได้อภิปรายว่าถ้าท่านยังคิดสืบทอดอำนาจก็จะตกกระไดตอนจบ เพราะมีบทเรียนจากนักปฏิวัติหลายคนมาแล้ว ถ้าเดินพลาดนิดเดียวก็จะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเดินตรง ผู้คนก็จะส่งเสริมชมชอบ

หากยังไม่ยอมลงจากหลังเสือ ต้องการจะสืบทอดอำนาจ คือต้องการเป็นใหญ่ต่อไป เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ท่านก็ต้องพูดให้ชัดเจน หรือจะเอาคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านไม่มาเอง ส่งลูกทีมหรือใครมาเป็นก็ตาม ก็จะเกิดปัญหาอีก ผมถึงบอกว่าเมื่อจะปกครองในระบอบประชาธิปไตย สิ่งแรกที่ต้องทำคือปักหลักให้ถูกต้อง แล้วสอนคน พัฒนาคน ถ้าท่านทำแบบนี้ท่านจะเป็นพระเอก ผมจะชื่นชมท่านมากเลย นี่คือการแก้ปัญหาของประเทศที่แท้จริงและถูกต้อง แต่เวลานี้รัฐธรรมนูญมันไม่ใช่ ต้องเลิกพูดเสียทีว่าพวกนักการเมืองทำให้บ้านเมืองมีปัญหา ถ้าเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย แม้แต่คนเป็นนายกรัฐมนตรีก็ถูกติติงได้


You must be logged in to post a comment Login