วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

เท่าเทียมหรือทำลาย? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On January 11, 2018

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : ..อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

สวัสดีปีจอครับท่านผู้อ่าน เนื่องในศุภมงคลสมัยขึ้นปีใหม่พุทธศักราช 2561 ผมขอกราบอาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ท่านเคารพนับถือ จงได้โปรดดลบันดาลประทานพรให้ทุกท่านและครอบครัวประสบแต่ความสุขความเจริญ คิดถึงสิ่งใดก็ขอให้สมความปรารถนาในทุกประการ ขอให้พรั่งพร้อมไปด้วยจตุรพิธพรชัย สุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ร่ำรวยเงินทอง มีความสุขสมหวังตลอดปีนี้และตลอดไป

เปิดปีใหม่มาหมาดๆคิดว่าจะเขียนเรื่องเบาๆให้อ่านกันสบายๆ แต่พอนึกถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ซึ่ง “ท่านผู้นำสูงสุด” เลือกเวลาลงนามก่อนวันหยุดยาวส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เพียงไม่กี่วัน เลยอดไม่ได้ที่จะนำเรื่องนี้มาบ่นให้ฟังกัน เพราะเนื้อหาสาระคำสั่งฉบับนี้ต้องเรียนว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

คำสั่งนี้เป็นคำสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมอย่างรุนแรง ผมไม่เชื่อว่าการแก้ไขครั้งนี้มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อจะสร้างความเท่าเทียมให้กับทุกพรรคการเมืองแน่นอน แต่เป้าหมายที่แท้จริงเป็นอย่างไรนั้น ท่านผู้อ่านลองช่วยพิจารณาข้อเท็จจริงไปพร้อมๆกับผม

เรื่องแรกคือ การกำหนดให้สมาชิกพรรคการเมืองหากประสงค์จะเป็นสมาชิกพรรคต่อต้องยื่นหนังสือยืนยันไปยังหัวหน้าพรรคและแสดงหลักฐานการมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม พร้อมชำระค่าบำรุงพรรคภายใน 30 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ถ้าพ้นกำหนดเวลาและยังไม่มีการดำเนินการถือว่าพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคนั้นๆ

เรื่องนี้แปลความได้ทันทีว่า นับตั้งแต่การออกคำสั่ง ผู้ที่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองจะไม่สามารถใช้สิทธิหน้าที่ในฐานะสมาชิกพรรคได้เลยจนกว่าจะมีการทำหนังสือยืนยันไปยังหัวหน้าพรรค โดยจะสามารถกระทำได้เฉพาะในห้วงเวลาที่คำสั่งนี้กำหนดไว้เท่านั้น

นั่นย่อมไม่ต่างกับการสมัครสมาชิกใหม่ เพราะ “สถานะ” ของทุกคนที่เป็นอยู่ขณะนี้เสมือนยัง “ไม่เป็น” สมาชิกพรรค ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ป.พรรคการเมืองครั้งนี้จึงเท่ากับเป็นการลบล้างสมาชิกพรรคการเมืองเดิมที่มีอยู่ไปโดยปริยาย หรือเป็นการ “รีเซต” สมาชิกพรรคการเมือง “ทุกพรรค” นั่นเอง ซึ่งถ้าอธิบายแบบนี้แล้วยังไม่เข้าใจจะขออนุญาตเปรียบเทียบเป็นเรื่องง่ายๆให้ฟังดังนี้

มีสามีภรรยาคู่หนึ่งจดทะเบียนสมรสกันมาเป็นเวลานานแล้ว อยู่มาวันหนึ่ง “ท่านผู้นำสูงสุด” ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งให้ความเป็นผัวเมียของทั้งคู่ขาดจากกันทางกฎหมาย แม้ความจริงจะยังอยู่กินด้วยกันก็ตาม แต่ในทางกฎหมายถือว่าผัวเมียคู่นี้เป็นอิสระต่อกัน

หลังจากนั้นต้องรอจนกว่าจะถึงวันที่ 1 เมษายน 2561 ผัวเมียคู่นี้จึงจะมีโอกาสกลับมาจดทะเบียนสมรสกันได้อีกครั้ง และต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเสียค่าธรรมเนียมชั่วคราวรายปีๆละ 100 บาท หรือจะจดทะเบียนสมรสตลอดชีพก็ได้ แต่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นเงิน 2,000 บาท

แต่ถ้าผัวเมียคู่นี้ไม่ยื่นจดทะเบียนสมรสใหม่ตามเงื่อนไขตามคำสั่งก็ให้ถือว่าผัวเมียคู่นี้หย่าขาดจากกันโดยอัตโนมัติ ใครจะไปแต่งงานใหม่กับใครสามารถกระทำได้โดยไม่มีภาระผูกพัน หรือจะอยู่เป็นโสดก็ไม่ผิดกติกาและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย คำสั่งนี้จึงเปรียบเสมือนการเซ็นใบหย่าให้กับสมาชิกพรรคการเมืองเก่าทั้งหมดโดยแท้

เท่านี้ยังไม่พอ คำสั่งนี้ยังบอกว่าการกำหนดให้มีการจัดประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อแก้ไขข้อบังคับการเลือกกรรมการบริหาร การจัดตั้งสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ทั้งหมดที่ว่านี้ต้องทำภายใน 90 วันนับแต่มีการยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558

คำถามของผมคือ แล้ว คสช. จะยกเลิกประกาศและคำสั่งดังกล่าวเมื่อไร? เพราะหากไปยกเลิกใกล้ๆวันเลือกตั้ง พรรคจะดำเนินการเรื่องดังกล่าวทั้งหมดให้ทันเวลาได้อย่างไร? ถ้าไม่ทันก็เข้าทางใครบางคนใช่หรือไม่? เพราะพรรคนั้นๆย่อมไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้อย่างแน่นอนเนื่องจากขาดคุณสมบัติ

นอกจากนั้นการดำเนินการต่างๆต้องขออนุญาตจาก คสช. ก่อน จะทำอะไรโดยพลการไม่ได้ และถ้าต้องการขอขยายเวลาก็ทำได้เพียง 1 เท่าของเวลาเดิมเท่านั้น ทั้งที่ตามกฎหมายพรรคการเมืองกำหนดให้ขยายได้ถึง 3 ปี

หากดำเนินการเรื่องต่างๆไม่ครบถ้วน “ความซวย” ก็จะมาเยือนทันที เพราะพรรคจะถูกตัดสิทธิห้ามมิให้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งและห้ามมิให้จัดสรรเงินอุดหนุนให้กับพรรค เท่ากับเป็นการล็อกพรรคการเมืองไว้ 2 ชั้น และเกิดความไม่แน่นอนกับพรรคการเมือง

ในทางตรงกันข้าม หากเป็นพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่สามารถดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมือง จัดประชุมเพื่อเลือกกรรมการบริหาร จัดทำข้อบังคับพรรคได้ แม้การจัดประชุมเพื่อจัดตั้งพรรคจะต้องขออนุญาตจาก คสช. ก่อนก็ตาม การเขียนคำสั่งที่มีเจตนาแบบนี้ยิ่งชี้ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันตามกฎหมาย และผลของคำสั่งนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมอย่างแน่นอน

ผมบ่นให้ท่านผู้อ่านฟังมาถึงตรงนี้แล้ว เชื่อว่าหลายท่านน่าจะคิดเหมือนผมว่าการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้น่าจะขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ขาดความชอบธรรม ละเมิดสิทธิเสรีภาพของสมาชิกพรรค เปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองบางกลุ่มได้จัดตั้งพรรคเพื่อปูทางให้ คสช. สืบทอดอำนาจต่อไปใช่หรือไม่?

ทั้งนี้เพราะกลุ่มการเมืองที่ต้องการสนับสนุนให้ คสช. สืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อไปสามารถใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้จัดประชุมเพื่อจัดตั้งพรรค เลือกกรรมการบริหารพรรค จัดทำข้อบังคับพรรคได้เพียงขออนุญาตจัดประชุมต่อ คสช. ก่อนเท่านั้น แต่พรรคการเมืองเดิมกลับไม่สามารถทำได้

ประกอบกับมีข้อเท็จจริงว่า ก่อนออกคำสั่งเพียงไม่กี่วันมีการเรียกร้องจากบางกลุ่มการเมืองให้มีการรีเซตสมาชิกพรรคใหม่โดยอ้างเรื่องความเท่าเทียมของพรรคการเมืองเดิมและพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งคำสั่งของหัวหน้า คสช. ก็สอดคล้องกับข้อเรียกร้องดังกล่าว

ดังนั้น การดำเนินการของหัวหน้า คสช. จึงมิใช่เพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมืองบนความเสมอภาคเท่าเทียมตามที่กล่าวอ้าง แต่เป็นไปเพื่อทำลายพรรคการเมืองเดิมและสนับสนุนกลุ่มการเมืองที่จะจัดตั้งพรรคขึ้นใหม่มากกว่า

ผมวิเคราะห์ตรงไปตรงมาแบบนี้แหละ ส่วนท่านผู้อ่านเห็นเป็นอย่างไรลองใช้วิจารณญาณพิจารณากันตามอัธยาศัย พบกันฉบับหน้าครับ


You must be logged in to post a comment Login