- อย่าไปซ้ำเติมPosted 8 hours ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 days ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 days ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 6 days ago
- บทเรียนพระสายมูPosted 7 days ago
- ไม่ตายก็คางเหลืองPosted 1 week ago
- ช่วยกันเป็นฮีโร่Posted 1 week ago
- อย่าอ่อนแอแพ้ต่อกิเลสPosted 1 week ago
- พระรัตนตรัยดีที่ 1Posted 2 weeks ago
- ประเทศต้องเดินหน้าได้Posted 2 weeks ago
คลองท่อม-คลองไทย / โดย เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก
คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก
เส้นทางข้ามมหาสมุทรที่ใช้กันมานั้น ความจริงมีอยู่หลายเส้นทางในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นมะริด-กุยบุรี เพชรบุรี-กระบุรี เส้นทางแนวเขตชุมพร-ตะกั่วป่า เส้นทางกระบี่-อ่าวบ้านดอนในสุราษฎร์ธานี เส้นทางนครศรีธรรมราช-ตรังและพัทลุง
ต่อมาเส้นทางเหล่านี้ปรับลดระดับลงมากลายเป็นเพียงเส้นทางในท้องถิ่นเท่านั้น ทั้งนี้เพราะวิธีการขนถ่ายสินค้าได้เปลี่ยนแปลงไป โดยหันไปขนถ่ายผ่านช่องแคบมะละกาแทน เนื่องจากสะดวกสบายมากกว่า
กล่าวโดยสรุปแล้วเส้นทางขนสินค้าข้ามมหาสมุทรมีจริง และมีเส้นทางอยู่ล่างสุด ได้แก่ เส้นทางที่เรียกว่า “โพธิ์นารายณ์” เชื่อมโยงระหว่างรัฐไทรบุรีและปัตตานี เป็นเส้นทางที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ตามที่ผมได้เขียนถึงเมื่อครั้งที่ผ่านมา
ในแต่ละเส้นทางเหล่านั้นจะเริ่มต้นเมื่อสินค้าที่ฝั่งมหาสมุทรอินเดียได้ขนจากเรือสำเภาแล้วนำเอาบรรทุกบนหลังช้างเดินทางต่อไปทางบกเพื่อไปสู่ฝั่งทะเลอีกฟากของอ่าวไทยหรือมหาสมุทรแปซิฟิก
นี่เป็นอีกข้อมูลและการบ้านที่น่าศึกษาต่อไปว่า “มีความเป็นไปได้ไหมที่เส้นทางนี้ยังสามารถปรับเอามาใช้ได้ในปัจจุบัน?” ซึ่งอาจดีกว่าแนวเส้นทาง 5A ด้วยซ้ำไป
การลงทุนก็ต่ำจนอาจไม่ต้องลงทุนขุดดินหรือย้ายภูเขาใดๆ เพียงแต่จะออกแบบกันอย่างไรให้เหมาะสม ซึ่งในอดีตเส้นทางเชื่อมมหาสมุทรนี้ก็ขนถ่ายโดยใช้เรือสำเภาเลาะเลียบลำน้ำปัตตานีเข้ามา และมีบางจุดที่ขนไปบนแผ่นดินผ่านเขาและภูเขาก็ถ่ายขนไปกับช้างนั่นเอง
การนำเสนอเส้นทางนี้อาจเรียกให้เป็นเส้นทางโพธิ์นารายณ์ตามชื่อเก่าของเมืองยะลา ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างถ้ำคูหาและตำบลท่าสายในเขตอำเภอเมืองยะลา
ผมไม่ได้อวดรู้แต่อย่างใด เพียงแต่อยากบอกว่าถ้าจับประวัติศาสตร์มาทบทวนและทำความรู้จักกับภูมิศาสตร์ของพื้นที่ให้จริงจัง บางทีเราอาจจะมีเส้นทางโบราณที่เชื่อมโยงสองฝั่งมหาสมุทร ตรงนี้เป็นคำตอบได้โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนสูงมากและขุดแผ่นดินออกไป
สรุปแล้วคือมีเส้นทางบกเดินเท้าหรือใช้สินค้าบรรทุกบนหลังช้าง สามารถเดินทางข้ามมหาสมุทรที่เชื่อมโยงระหว่างรัฐไทรบุรีหรือเกดะห์ในมาเลเซีย ซึ่งเริ่มต้นจากหุบเขาบูโดหรือหุบเขาแม่ม่ายในรัฐไทรบุรี หลังขนถ่ายสินค้าจากเรือมาบรรทุกบนหลังช้างแล้วเดินลัดเลาะไปในป่า ซึ่งมีเส้นทางจากเบตง จังหวัดยะลา ไปทะลุเข้ารัฐไทรบุรีเพื่อเชื่อมโยงต่อไปลงมหาสมุทรอินเดีย
อย่างที่เคยกล่าวเอาไว้ในเรื่องคลองไทยในบทความก่อนหน้านี้ แม้รัฐบาลจะพยายามผลักดันและมีใครต่อใครเชียร์กันอยู่ก็ไม่ใช่ง่ายนัก ยังมีวิวาทะกันอีกมาก และยังไม่รวมการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกต่างหาก
นี่คือเหตุผลข้อแรกที่บอกได้ว่าอุปสรรคอันดับต้นๆคือการพิจารณาและตัดสินใจเลือกแนวการขุดคลองไทย ซึ่งจากผลการศึกษาที่ผ่านมาถือว่ายังคงไม่ชัดเจนและเพียงพอ อาจต้องกระทำเพิ่มเติมและทบทวนใหม่ก็ได้
นอกจากแนวตอนล่างสุดที่ไทรบุรี-ปัตตานีซึ่งเป็นแนวเส้นทางโบราณที่เคยใช้มาก่อนในประวัติศาสตร์ แต่อยู่คาบเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ทำให้หลายฝ่ายต้องคิดมากในมิติของความมั่นคง
อีกแนวที่เชียร์กันมากในตอนหลังคือ แนวตัดจากกระบี่ไปออกที่อ่าวบ้านดอน สุราษฎร์ธานี เพราะมีภูเขาเป็นอุปสรรคน้อยในการขุดเป็นแนวตัดตรงออกอ่าวบ้านดอนไปลงทะเลฝั่งแปซิฟิกได้ง่าย ทำให้มีค่าใช้จ่ายการลงทุนที่ต่ำ จึงน่าสนใจและเคยเป็นเส้นทางข้ามมหาสมุทรในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน
ยังมีผู้ให้เหตุผลทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติมว่า แนวของกระบี่ไปออกอ่าวบ้านดอนนั้นมีความเป็นไปได้ และคำว่า “คลองท่อม” ก็คือ “คลองไทย” นั่นเอง
ประการต่อมาที่เป็นอุปสรรคและปัญหาของคลองไทยน่าจะเป็นการบริหารและจัดการในพื้นที่ภายหลังการขุดได้เสร็จสิ้นไปแล้วนั่นเอง
ตรงนี้คงต้องพิจารณากันมากในประเด็นทั้งแนวทางการลงทุนและการบริหารจัดการในพื้นที่ ซึ่งต้องว่ากันในรายละเอียดของการปฏิบัติให้มากกว่านี้
แน่นอนว่าในมิติของความมั่นคง แม้พยายามมองข้ามแต่คงมีรายละเอียดในตัว เช่น หากเลือกแนวล่างสุดก็คงหวั่นเกรงเรื่องการแบ่งแยกแผ่นดินในแง่การปกครอง ซึ่งอาจแก้ไขได้โดยการพิจารณาจัดตั้งจังหวัดใหม่เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจในแง่การบริหารการปกครองให้มากขึ้นทั้งในการจัดการปกครองและการบริหาร เช่น จัดตั้งเป็นจังหวัดใหม่เพื่อปิดช่องว่างและจุดอับในการบริหารและจัดการของรัฐ ถ้าพิจารณาในมิติความมั่นคงและการทหารจะพบว่าบริเวณพื้นที่ต่อชายแดนระหว่างยะลาและสงขลาในระยะหลังมักกลายเป็นพื้นที่ปฏิบัติการและแย่งชิงมวลชนระหว่างฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการ ปัญหาการตั้งจังหวัดใหม่จึงน่าพิจารณา ซึ่งความจริงฝ่ายความมั่นคงก็เคยคิดเรื่องนี้ แต่ไม่ลงตัว เช่น การตั้งจังหวัดสะเดา เรื่องนี้จึงเป็นอีกประเด็นใหญ่หากจะเลือกเอาแนวล่างสุดตอนใต้ให้เป็นแนวขุดคลองไทย
ในทรรศนะของผู้เขียนเห็นว่าการตั้งจังหวัดใหม่ในทางใต้อาจต้องกระทำ ไม่ว่าจะเลือกขุดคลองไทยตรงแนวไหนก็ตาม
นี่เป็นเพียงแนวความคิดส่วนหนึ่งของผู้เขียน ส่วนวิวาทะประเด็น “คลองไทย” เป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกฝ่ายควรให้ความสนใจและคำนึงถึงอย่างมาก เพราะยังมีอีกหลายประเด็นที่เราไม่ควรมองข้าม
You must be logged in to post a comment Login