วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

มลทินติดตัว?

On September 1, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

หลังศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ไม่รับฟ้องคดีที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้องตามสำนวนการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คดีสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย เนื่องจากเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ในทางกลับกันกรณีนี้ ป.ป.ช.มีมติเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 มีมติไม่รับคำร้องที่มีผู้ร้องยื่นให้สอบเอาผิด นายอภิสิทธิ์ กับ นายสุเทพ ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบที่ไม่ระงับยับยั้งการปฏิบัติเพื่อสลายการชุมนุมเพื่อมีผู้เสียชีวิต โดยระบุว่าการใช้อาวุธพื้นที่ในพื้นที่ชุมนุมหากเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุให้ถือเป็นความผิดเฉพาะตัวของเจ้าหน้าที่ผู้นั้น การจะเอาผิดผู้ปฏิบัติเกินกว่าเหตุให้เป็นหน้าที่ของดีเอสไอในการสอบสวนต่อไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 89/2

คดีนี้เมื่อป.ป.ช.ไม่รับเรื่อง ศาลยุติธรรมบอกว่าไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณา แม้ นปช.จะไปยื่นเรื่องซ้ำให้ป.ป.ช.พิจารณาเรื่องนี้ใหม่ แม้กรรมการป.ป.ช.จะเป็นคนละชุดกับชุดที่ยกคำร้อง แต่เมื่อพิจารณาตามมติป.ป.ช.ชุดเดิมแล้วแนวโน้มผลน่าจะออกมาไม่ต่างกัน

สรุปปิดประตูตายไม่สามารถเอาผิดทางกฎหมายกับ นายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพ ได้

เมื่อเทียบคดีนี้กับคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพิ่งยกฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายตำรวจที่เกี่ยวข้อง

คดีนี้ป.ป.ช.มติให้ฟ้องเอาผิด แม้อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องเพราะเห็นว่าสำนวนไม่สมบูรณ์ แต่ป.ป.ช.ก็ยื่นฟ้องเองโดยตรงต่อศาลฎีกาฯ

ในทางกลับกันคดีสลายการชุมนุม นปช.เมื่อป.ป.ช.มีมติยกคำร้อง ญาติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมไม่สามารถยื่นฟ้องเองต่อศาลฎีกาฯได้

แม้จะมีหลายกรณีที่ศาลไต่สวนแล้วระบุสาเหตุการตายของผู้ชุมนุม อาสาสมัคร นักข่าว ช่างภาพจากต่างประเทศหลายกรณีเป็นการเสียชีวิตจากกระสุนที่มาจากฝั่งของเจ้าหน้าที่ทหาร และบางกรณีศาลมีคำสั่งให้นำคำสั่งนี้ส่งต่อให้พนักงานอัยการ เพื่อดำเนินการต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่รู้ว่ามีความคืบหน้าการดำเนินการไปถึงไหนอย่างไร

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอีกว่ากระสุนที่มาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหารนั้นเป็นนายทหารคนไหนที่เป็นผู้ลั่นไกฟืน การจะเอาผิดผู้ที่ปฏิบัติเกินกว่าเหตุซึ่งถือเป็นความผิดเฉพาะตัวตามมติของป.ป.ช.นั้นจึงเป็นเรื่องค่อนข้างยาก

เมื่อย้อนไปดูคดีสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ ที่ป.ป.ช.ยื่นฟ้องเองต่อศาลฎีกาฯแล้วศาลสั่งยกฟ้อง ทำให้แกนนำและแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรฯไม่พอใจ เคลื่อนไหวให้ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล และหลังจากป.ป.ช.มีมติจะยื่นอุทธรณ์เฉพาะ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพียงคนเดียวในฐานะผู้อำนวยการเหตุการณ์ กลุ่มพันธมิตรฯจะยื่นฟ้องเอาผิดป.ป.ช.ในฐานะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

กรณีนี้ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์ และจะถูกดำเนินคดีฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ยื่นอุทธรณ์ทั้งหมด แต่กรณีของนปช.เหมือนศาลฎีกาตัดสินไม่รับฟ้องสำนวนที่ดีเอสไอเป็นผู้ทำและอัยการเป็นผู้ฟ้องแล้ว ผู้เสียหายจากการสลายการชุมนุมไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้อีก

ทางออกของนปช.เหลืออยู่เพียงสองทางเท่านั้นคือรอฟังมติป.ป.ช.ว่าจะมีมติอย่างไรต่อกรณีที่ไปยื่นเรื่องขอให้สอบสวนใหม่ และรอการดำเนินการของอัยการตามคำสั่งศาลที่ให้นำคำสั่งเรื่องสาเหตุการตายของผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร ช่างภาพ นักข่าวต่างประเทศ ว่าเรื่องนี้จะไปสิ้นสุดที่ขั้นตอนไหน อย่างไร

หากผลสรุปสุดท้ายแล้วป.ป.ช.ยื่นมติเดิมคือไม่รับเรื่อง การเอาผิดเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติที่ถูกระบุให้เป็นความผิดเฉพาะตัวไม่เกี่ยวกับคนสั่งการไม่สามารถหาตัวผู้ลั่นไกได้ นปช.จะไปยื่นอุทธรณ์เรื่องนี้กับใคร ผู้เสียชีวิตที่ไม่มีส่วนเกี่ยวกับการสร้างความรุนแรงจะร้องหาความยุติธรรมได้จากที่ไหน จะฟ้องร้องใครละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้หรือไม่

ไม่ว่าสุดท้ายเรื่องสลายชุมนุม นปช.จะมีบทสรุปอย่างไร แต่สิ่งที่ค่อนข้างแน่ชัดแล้วในตอนนี้คือ นายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพอยู่ในสภาวะลอยตัว แม้จะมีมลทินติดตัวแต่ก็รอดพ้นการเอาผิดทางกฎหมาย


You must be logged in to post a comment Login