วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567

ไทยจะปฏิรูปอย่างไร?/ โดย ณ สันมหาพล

On August 28, 2017

คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง

ผู้เขียน : ณ สันมหาพล

รัฐบาลทหารประกาศตั้งคณะปฏิรูปประเทศ 11 คณะ แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์รายชื่อต่างๆนานา ประเด็นสำคัญที่มีการตั้งคำถามคือ การปฏิรูปครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จนัก อาจกล่าวว่าการปฏิรูปครั้งแรกของไทยคือในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ประกาศให้เลิกประเพณี “หมอบคลาน” ซึ่งทรงเห็นว่าไม่เหมาะสมหากเกิดภาพต่อหน้าบุคคลชั้นนำ รวมถึงคณะราชทูตประเทศต่างๆ ซึ่งข่าวและภาพถูกเผยแพร่ไปทั่วประเทศและทั่วโลก ทั้งที่ประเทศสยามหรือไทยกำลังพัฒนาประเทศให้มีความเจริญเยี่ยงอารยประเทศสมัยใหม่

นอกจากนั้นต้องย้อนไปดูการปฏิรูปในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ประกาศการส่งเสริมการลงทุน ทำให้ประเทศก้าวสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ด้านอุตสาหกรรมร่วมกับภาคเกษตรกรรมที่เป็นภาคการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

การปฏิรูป 2 ครั้งดังกล่าวเมื่อเปรียบเทียบกับการปฏิรูปของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือว่าน่าสนใจอย่างมาก การปฏิรูปของญี่ปุ่นเกิดจากคำสั่งของกองทัพพันธมิตรที่เข้าไปยึดครองเพื่อต้องการทำลายระบบการผูกขาดการค้าและระบบเช่านา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างมากจนญี่ปุ่นก้าวเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำในเวลาไม่นาน

โดยเฉพาะการออกกฎหมายยกเลิกระบบเช่านา ซึ่งจำกัดการถือครองที่ดินของเจ้าที่ดินในอดีต หากใครมีที่ดินเกินกว่าที่กำหนดต้องโอนให้รัฐบาลผ่านการเวนคืน แล้วยังมีการโอนที่ดินให้เกษตรกรผ่านสหกรณ์ ทำให้ชาวนาและเกษตรกรในญี่ปุ่นลืมตาอ้าปากได้ ทั้งทำให้สหกรณ์มีความเข้มแข็งและเป็นปึกแผ่น ซึ่งเกาหลีใต้ก็มีการปฏิรูปเช่นเดียวกัน

นักปฏิรูปไทยจึงควรศึกษาการปฏิรูปของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งทำการปฏิรูปอย่างจริงจังแบบถอนรากถอนโคนตั้งแต่ฐานรากจนถึงกลุ่มทุนและขุนนาง รวมถึงการประกอบอาชีพต่างๆก็มีการเปิดสอนอย่างจริงจัง มีการยกระดับชุมชนให้เกิดการซื้อขายและขยายไปสู่นักธุรกิจและนักอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีนวัตกรรมในระดับแนวหน้าของโลก

ขณะที่จีนที่ก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลกนั้นยึดความสำเร็จของญี่ปุ่นเป็นแม่แบบในการปฏิรูป โดยเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเป็นแบบทุนนิยม

ส่วนของไทยรัชกาลที่ 5 ใช้แค่ไม่กี่มาตรการในการปฏิรูปประเทศ แต่ก็เป็นไปอย่างราบรื่นและน่าอัศจรรย์ กรณีญี่ปุ่นประกาศเลิกการผูกขาดการค้าและการถือครองที่ดิน ส่วนเกาหลีใต้และจีนอาจจะมีความแตกต่างบ้าง แต่ทั้ง 3 ประเทศก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่งจนเป็นประเทศที่มีความเจริญมั่งคั่งอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 30 ปี ซึ่งดัชนีที่ชี้ให้เห็นคือการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันคือ 19 ปี และ 20 ปีหลังการปฏิรูป ส่วนจีนเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกตามหลังคือ 30 ปีหลังการปฏิรูป

ดังนั้น ถ้ายึดการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นเกณฑ์วัดความสำเร็จในการปฏิรูป หมายความว่าไทยต้องได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกไม่เกินปี 2580 หรือปี 2590 นับจากปี 2560 ซึ่งอาจดูตัวอย่างการปฏิรูปของสหราชอาณาจักรที่ประสบความสำเร็จด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเริ่มปี 2522 ที่นางมาร์กาเร็ต แธทเชอร์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งสหราชอาณาจักรบอบช้ำอย่างมากจากสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง

หลังสงครามสงบรัฐบาลพรรคสังคมนิยมได้เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจจากทุนนิยมเป็นสังคมนิยม มีการโอนกิจการหลักๆของภาคเอกชนมาเป็นของรัฐ และควบรวมกิจการเหล่านี้จนทุกแห่งกลายเป็นองค์กรขนาดมหึมา ซึ่งองค์กรขนาดใหญ่ก็ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี หากการบริหารรัฐวิสาหกิจเกิดปัญหาและความผิดพลาดมากมายจนเศรษฐกิจประเทศตกต่ำอย่างมาก ประชาชนก็อยู่ในภาวะยากจนและลำบากอย่างมาก

หลังจากนางแธทเชอร์จากพรรคอนุรักษ์นิยมขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ประกาศปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ทันทีตามที่ได้หาเสียงเลือกตั้งว่าจะทำให้ประเทศกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม โดยมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างจริงจัง ซึ่งก็เห็นความสำเร็จในไม่นาน

ขณะที่ปัจจุบันสหราชอาณาจักรกำลังมีปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออกจากการลงมติให้ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ทั้งที่ก่อนหน้านี้คนอังกฤษเรียกร้องให้ร่วมกับสหภาพยุโรปเพราะถือว่าได้ประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจที่มีความเจริญมั่งคั่ง แต่วันนี้เปลี่ยนแปลงไปก็เพราะปัญหาเศรษฐกิจเช่นกัน

การปฏิรูปประเทศไม่ว่าประเทศใดต้องดูเหตุและผล รวมถึงรากเหง้าต่างๆที่จะเป็นปัจจัยสำคัญของการปฏิรูป ทั้งหมดก็เพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้มีความเจริญ ประชาชนอยู่ดีกินดี ซึ่งอาจใช้ไม่กี่มาตรการ แต่ต้องเป็นหัวใจสำคัญที่จะปลดล็อกให้ประเทศเดินไปข้างหน้าสู่ความเจริญมั่งคั่งได้

การปฏิรูปครั้งใหญ่ของไทยภายใต้รัฐบาลทหารจึงต้องจับตาว่าจะไปได้แค่ไหน และการปฏิรูปจะออกมาอย่างไร?


You must be logged in to post a comment Login