วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

วันประวัติศาสตร์

On August 25, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

โหมโรงกันมานานวันนี้ (25ส.ค.) ก็จะได้รู้กันจริงๆเสียทีว่าของจริงเป็นอย่างไร

คำพิพากษาคดีรับจำนำข้าวที่อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกกล่าวหาปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายจะออกมามุมไหนอย่างไร

การรวมกันเพื่อมาให้กำลังใจอดีตนายกฯที่หน้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีเหตุการณ์วุ่นวายอย่างที่ฉายหนังโฆษณากันหรือไม่

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นน่าพิจารณาตรงที่ก่อนศาลฎีกาฯนัดอ่านคำพิพากษาหนึ่งวัน อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัวขอบคุณประชาชนที่ให้กำลังใจ แต่ในวันศาลฎีกาฯอ่านคำตัดสินขอให้อยู่ฟังคำตัดสินที่บ้าน เพราะไม่ต้องการให้มาสุ่มเสี่ยงกับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดคิดจากผู้ไม่หวังดี

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กำชับให้ลูกพรรคระวังตัวมากขึ้นในช่วงตัดสินคดีรับจำนำข้าว ส่วน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ที่ถูกจดหมายขู่ฆ่าต้องเดินทางไปต่างประเทศ โดยบอกว่ามีกำหนดการล่วงหน้าไว้อยู่แล้ว

จะเห็นได้ว่ามีความปั่นกระแสให้เกิดความวุ่นวายอยู่พอสมควร จนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ไม่อยากให้มวลชนต้องมาเผชิญความเสี่ยง แต่การแจ้งมวลชนอาจจะช้าไป เพราะหลายคนโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดไกลๆออกเดินทางมาแล้ว

ในส่วนของน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น นอกจากไม่อยากให้มวลชนมาเผชิญความเสี่ยงที่ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ยังรู้ด้วยว่าไม่ว่ามวลชนจะมาให้กำลังมากหรือน้อยไม่มีผลต่อการตัดสินใจขององค์คณะผู้พิพากษาที่น่าจะตัดสินใจกันไปเรียบร้อยแล้วว่ากำหนดอนาคตของอดีตนายกฯหญิงและอนาคตของการทำนโยบายสาธารณะเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอย่างไร

หลังคำตัดสินหากออกเป็นลบกับอดีตนายกฯยังมีเวลาต่อลมหายใจอีก 30 วันในการใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คดี ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา 195 วรรคสี่และวรรคห้า ที่ระบุว่า

“คําพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคําพิพากษา

การวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามวรรคสี่ ให้ดําเนินการโดยองค์คณะของศาลฎีกา ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาซึ่งไม่เคยพิจารณา คดีนั้นมาก่อน และได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจํานวนเก้าคน โดยให้เลือกเป็นรายคดีและเมื่อองค์คณะของศาลฎีกาดังกล่าวได้วินิจฉัยแล้ว ให้ถือว่าคําวินิจฉัยนั้นเป็นคําวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา”

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐธรรมนูญจะให้สิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ แต่ยังมีปัญหาตรงที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้วยังไม่ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ขณะนี้กฎหมายอยู่ในมือนายกรัฐมนตรียังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งต้องตามดูต่อไปว่าการที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่ประกาศใช้จะมีผลอะไรต่อการยื่นอุทธรณ์หรือไม่ หากผลออกมาเป็นลบกับอดีตนายกฯ

นอกจากนี้ หากผลออกมาเป็นลบยังต้องตามลุ้นด้วยว่าจะได้สิทธิประกันตัวช่วงอุทธรณ์คดีหรือไม่ การตัดสินคดีวันศุกร์หากยื่นเรื่องพิจารณาคดีกันไม่ทันต้องรอถึงวันจันทร์นั่นหมายความว่าอดีตนายกฯต้องถูกคุมตัวอย่างน้อยสองวัน

ทั้งหมดนี้อดีตนายกฯอยู่ในสถานะผู้รอถูกชี้ชะตา ส่วนคนกำหนดชะตาคือองค์คณะผู้พิพากษา ไม่ว่าผลตัดสินจะออกมาอย่างไรจะถือว่าเป็นคำตัดสินประวัติศาสตร์ที่จะส่งผลกระทบต่ออนาคตของประเทศทั้งในระยะสั้นระยะยาว

ส่วนจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง มีผู้รู้หลายคนได้แสดงความเห็นไว้มากแล้วคงไม่ต้องพูดกันซ้ำๆ


You must be logged in to post a comment Login