วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567

‘อายตนะ’ที่บิดเบือนยุคไทยแลนด์ 4.0 / โดย เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

On August 14, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร

ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี-ณัฐวุธ วัชรกุลดิลก

สิ่งสำคัญมากอีกประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์คือ กระบวนการแสวงหาความจริงและข้อมูลข้อเท็จจริง เพราะประวัติศาสตร์ไทยเราต่างก็รู้ดีว่าเป็นเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นฐานของรัฐชาตินิยม

แม้ด้านหนึ่งจะอิงกับวาทกรรมความรักชาติที่มีประโยชน์กับการส่งเสริมความรักชาติและความภาคภูมิใจในเรื่องราวของบรรพชน แต่ก็มีผลข้างเคียงติดตามมาหลายประการ เป็นต้นว่า ทำให้เกิดการบิดเบือนข้อเท็จจริง ในหลายกรณีมีการสร้างข้อมูลหลักฐานแปลกปลอมทางประวัติศาสตร์ขึ้นมาจนเป็นปัญหาใหญ่ที่จะศึกษาและทำความเข้าใจในเนื้อหาสาระทางวิชาการอย่างตรงไปตรงมา เพื่อที่คนไทยจะได้เรียนรู้ทั้งข้อมูล ข้อเท็จจริงของบรรพชนอย่างตรงไปตรงมาและปราศจากการบิดเบือน

โดยความจริงแล้วตัวผู้เขียนเองบางคนที่ไม่เข้าใจก็อาจจะเห็นว่า “ไอ้หมอนี้สติเฟื่อง” ก็ได้ หรือบอกว่า “มันเพี้ยน มันบ้า” ก็ได้ เพราะมีมุมมองและวิธีการคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่ผิดแผกจากนักวิชาการทั่วไป บางคนอาจระบุว่าเป็นพวก Counter-history คือประวัติศาสตร์สวนกระแส เป็นจำพวกต่อต้านประวัติศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นความเห็นของ “ธงชัย วินิจจะกูล” ที่มองว่านักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่มีความจำเป็นจะต้องเขียนประวัติศาสตร์ในลักษณะตรงกันข้ามกับประวัติศาสตร์แห่งชาติโดยสิ้นเชิง

เมื่อหลายสิบปีมาแล้วผู้เขียนรู้จักกับ พลตรีนายแพทย์สุรพล ครุธเวโช อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ได้สนทนาและแลกเปลี่ยนความรู้โดยไม่ตั้งใจ เพราะเคยเป็นคนไข้ประจำคลินิกแห่งหนึ่งในย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเมื่อร่วม 40 ปีที่แล้ว ทำให้ผมตระหนักว่าเรื่องราวบางเรื่องนั้นเราอาจบังเอิญได้เรียนรู้โดยไม่คาดหมายหรือไม่ตั้งใจก็ได้ เรื่องราวสนทนาครั้งนั้นบางเรื่องผมจำได้ เช่น ความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนา การทำวิปัสสนากรรรมฐาน ตลอดจนความสัมพันธ์ของอายตนะทั้งภายในและภายนอก ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงความรู้ในด้านจิตวิญญาณและกระบวนการทำงานเกี่ยวกับจิตวิญญาณและสมอง

ผมไม่แน่ใจว่าท่านผู้ร่วมแลกเปลี่ยนสนทนาในขณะนั้นเป็นประจำกับผมคือคนนี้ แต่เข้าใจว่าท่านน่าจะเปลี่ยนชื่อของตนเองใหม่ ซึ่งค่อนข้างยาวนานที่เราสองคนขาดการติดต่อกันไป แต่เข้าใจว่าท่านคือ พลเอกรองศาสตราจารย์นายแพทย์ไตรโรจน์ ครุธเวโช ต้องยอมรับว่าท่านเป็นผู้สอนการทำวิปัสสนากัมมัฏฐานแก่ผมจนนำไปสู่การปฏิบัติด้วยตัวเองได้ ถือเป็นคนที่ปูพื้นฐานเรื่องการทำวิปัสสนากัมมัฏฐานให้ผม ทำให้เข้าใจถึงกระบวนการเชื่อมต่อในสภาวะสิ่งที่เป็นนามธรรม ซึ่งเกี่ยวกับสิ่งที่พุทธเรียกกันว่า “อายตนะภายใน” และสภาวะที่บอกถึงอารมณ์ อันเป็นมิติเกี่ยวกับอารมณ์หรือนามธรรมของจิตวิญญาณนั่นเอง

ท่านยังเป็นคนชี้ให้ผมเห็นว่า สภาวะของการรับรู้ที่เป็นจิตและไม่ใช่สภาวะการนึกคิดของสมองนั้นเป็นสภาวะที่มีอยู่จริงและพิสูจน์ได้หากเราปฏิบัติตามวิธีการฝึกฝนในแบบพุทธ

ไม่ว่าท่านจะเป็นนายแพทย์สุรพล ครุธเวโช แห่ง “สุรพลคลีนิค” ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือพลเอกรองศาสตราจารย์นายแพทย์ไตรโรจน์ ครุธเวโช ท่านก็คือครูผู้สอนวิปัสสนากัมมัฏฐานคนแรกในชีวิตให้แก่ผม เป็นคนที่บอกให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างการทำงานของสมองและความรู้สึกนึกคิด รวมทั้งจิตวิญญาณ ผมได้เรียนรู้มาอย่างนี้จริงๆ    ยกตัวอย่างเมื่อตามองเห็นภาพ สมองก็เติมเต็มเกี่ยวกับภาพที่ตามองเห็น ก่อนจะสื่อสิ่งนั้นไปสู่ใจ ตรงนี้จึงเกิดการแปลงและปรุงแต่งขึ้นมาอีกขั้นตอน ทั้ง ดร.ณัฐวุธและพลตรีนายแพทย์สุรพลได้สรุปให้ผมฟังแบบเดียวกันว่า การรับรู้ของมนุษย์ซึ่งเชื่อมต่อไปสู่อายตนะเป็นเครื่องเชื่อมต่อและติดต่อในวงจรของจิตและการรับรู้ของมนุษย์ โดยธรรมชาติแล้วการรับรู้ข้อเท็จจริงมีแนวโน้มบิดเบือนเข้าข้างตัวเอง

เนื้อหาสาระตรงนี้เป็นเรื่องน่าสนใจมาก ซึ่งผู้เขียนได้เอามานำเสนอเพื่อเชื่อมโยงและสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่ขับเคลื่อนและดำเนินไปด้วยกระบวนการที่บิดเบือนเกี่ยวกับความจริงเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว

ฉะนั้นในทางประวัติศาสตร์ต้องเข้าใจเป็นพื้นฐานว่า นักประวัติศาสตร์ทั่วไปซึ่งไม่เข้าใจพุทธะที่แท้จริงก็จะมีแนวโน้มของการตีความเข้าข้างตัวเอง รวมทั้งลักษณะการคลั่งไคล้ใหลหลง จึงไม่แปลกที่ประวัติศาสตร์ไทยจะมีอยู่หลายเหตุการณ์ที่บิดเบือนและเข้าข้างตัวเองจนเกินไปจากความจริงและข้อเท็จจริง

ผมเขียนบทความชิ้นนี้ไม่ได้คัดค้านนักประวัติศาสตร์ที่ยึดถือกระแสชาตินิยมแต่อย่างใด เพียงแต่อยากจะติติงและเสนอแนวคิดว่า ในยุคนี้ที่เราประกาศจะเข้าสู่ “ประเทศไทย 4.0” ดังนั้น เรื่องราวของการแสวงหาความจริงและข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์ก็ควรจะถึงเวลาสำหรับการเปลี่ยนแปลงทฤษฎีและมุมมองด้วย

ขณะที่เรายังเข้าใจว่าเราเป็นประเทศ 4.0 แต่มีการวิวาทเรื่องผีกระสือและผีกระหัง ทรรศนะและแนวคิดนี้ผมเห็นว่าน่าจะไม่เหมาะสมกับประเทศชาติที่ท่านผู้นำคิดจะไปสู่ยุทธศาสตร์ 4.0

แต่ถ้าเราเห็นว่าเรื่องราวเก่าๆเกี่ยวกับผีกระสือหรือผีกระหังยังเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องให้คนไทยเรียนรู้และศึกษา ผมก็เพียงแต่หวังว่าเราคงไม่จำเป็นถึงกับต้องไปเขียนประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับผีกระสือและผีกระหังทั้งหลายนะครับ

 


You must be logged in to post a comment Login