วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ที่พึ่งสุดท้าย

On August 2, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

คำแถลงปิดคดีด้วยวาจากรณีถูกกล่าวหาปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา มีเนื้อหาสาระสรุปได้ดังนี้

คดีนี้มีพิรุธตั้งแต่ชั้นไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชั้นสั่งฟ้องคดีและการไต่สวนพยานในชั้นศาล

ในชั้นไต่สวนมีความเร่งรีบใช้เวลาไต่สวนเพียง 79 วัน และชี้มูลความผิดหลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียง 1 วัน เป็นการชี้มูลทั้งที่คดีอื่นที่เกี่ยวกับการทุจริตระบายข้าวยังไม่มีข้อสรุป อีกทั้งป.ป.ช.ยืนยันตลอดว่าการทุจริตระบายข้าวไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับน.ส.ยิ่งลักษณ์

ก่อนการสั่งฟ้องคดีอัยการสูงสุดเห็นว่าผลการไต่สวนของป.ป.ช.ไม่สมบูรณ์ที่จะฟ้องคดีได้ แต่กลับมีคำสั่งฟ้องก่อนที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติถอดถอนออกจากตำแหน่งเพียงหนึ่งชั่วโมงในวันที่ 23 กรกฎาคม 2558

มีการฟ้องนอกสำนวนไม่ยึดรายงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่กฎหมายกำหนด

ในชั้นพิจารณาคดีมีการเพิ่มข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่ที่เกิดขึ้นหลังฟ้องคดี เช่น รายงานผลตรวจสอบคุณภาพและปริมาณข้าว สรุปผลการสอบข้อเท็จจริง ความรับผิดทางละเมิด และนำพยานหลักฐานคดีทุจริตระบายข้าวที่ป.ป.ช.มีมติชี้มูลหลังคดีจำนำข้าวมาใช้ในคดี

นโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายสาธารณะเพื่อมุ่งช่วยเหลือชาวนากว่า 15 ล้านคนเพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ไม่ได้มุ่งสร้างประโยชน์ให้ใครเป็นการเฉพาะอย่างที่ถูกกล่าวหา และยังช่วยให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ

นโยบายจำนำข้าวเป็นการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 84 (8) กำหนดไว้ เป็นการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงต่อรัฐสภา และดำเนินการตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2555 ถึง 2558 ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

ไม่ได้เพิกเฉย ละเลยตามข้อกล่าวหาเพราะได้กำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีการดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการ โดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงานแต่ละด้านกว่า 13 คณะ โดยกำหนดอำนาจหน้าที่ให้เกิดการคานอำนาจและถ่วงดุล ติดตามตรวจสอบ ตามระเบียบของการบริหารราชการแผ่นดิน

ที่ไม่ระงับโครงการเพราะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ มีความคุ้มค่าต่อการดำเนินภารกิจภาครัฐ ตามหลักเกณฑ์การประเมินความคุ้มค่า ที่ต้องไม่คำนึงเฉพาะ รายจ่าย หรือประโยชน์ ที่คำนวณเป็นตัวเงินได้ แต่ต้องพิจารณาถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศและประโยชน์อื่นๆโดยรวมด้วย การดำเนินโครงการตลอด 5 ฤดูกาลผลิต เป็นไปตามกรอบที่กฎหมายบัญญัติ และกรอบเพดานหนี้สาธารณะ ที่สำคัญไม่มีหน่วยงานใดที่มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินโครงการเสนอทั้งต่อดิฉันและคณะรัฐมนตรีให้ยุติหรือระงับยับยั้งโครงการ ดังนั้นจะให้ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรียุติหรือระงับยับยั้งโครงการได้อย่างไร

ส่วนกรณีที่ ป.ป.ช.และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหนังสือท้วงติงนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าทั้ง 2 หน่วยงานไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะสั่งให้ฝ่ายบริหารยับยั้ง การดำเนินนโยบายสาธารณะที่แถลงต่อสภา อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ละเลยต่อข้อท้วงติงได้ส่งข้อเสนอของป.ป.ช.และสตง.ให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการชุดต่างๆรับไปพิจารณาตามขั้นตอนบริหารราชการแผ่นดิน นอกจากนี้ ยังเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและได้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตขึ้นมาตรวจสอบเพิ่มเติมอีกคณะหนึ่ง

ที่สำคัญคณะรัฐมนตรีได้ป้องกันความเสียหายโดยฤดูกาลผลิต 2556/57 โดยปรับลดวงเงินรับจำนำจากไม่จำกัด เป็นจำกัดวงเงินการรับจำนำไม่เกินรายละ500,000 บาท และ 350,000 บาท ตามลำดับ ลดราคารับจำนำจาก ตันละ 15,000 บาท เหลือตันละ 13,000 บาท

“หากดิฉันมีเจตนาทุจริต หรือสมยอมให้ทุจริต จะสร้างหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้นมาทำไม… ดิฉันรู้ดีว่า ดิฉันเป็นเหยื่อของเกมการเมืองที่ลึกซึ้ง จึงหวังพึ่งศาลสถิตยุติธรรม… ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด ในช่วงทำโครงการรับจำนำข้าว เป็นผลพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมแล้วว่า ทำให้ชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงขอวิงวอนศาลได้โปรดพิจารณา พิพากษาคดีนี้ตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและพยานหลักฐานที่เข้าสู่สำนวนโดยชอบและโดยสุจริต ไม่รับฟังการชี้นำจากฝ่ายใดๆแม้แต่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้กุมชะตาและอำนาจรัฐ ที่พูดชี้นำคนในสังคมเกี่ยวกับคดี ทำนองว่าถ้าเรื่องนี้ไม่ผิดแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาได้อย่างไร ซึ่งคำพูดนี้  เป็นการชี้นำ เสมือนหนึ่งว่า  มีการกระทำความผิดแล้ว ทั้งๆที่ศาลยังไม่ได้ตัดสิน ดิฉันเชื่อในคำกล่าวที่ว่า ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน


You must be logged in to post a comment Login