วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

วินัยแบบทหารในโรงเรียน / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On June 12, 2017

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อเฟซบุ๊คแฟนเพจ “โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ฝ่ายประถม” และเว็บไซต์ของโรงเรียนโพสต์ภาพบรรยากาศปฐมนิเทศนักเรียนระดับชั้น ป.3-ป.4 ประจำปีการศึกษา 2560 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม เป็นภาพทหารในเครื่องแบบเข้าร่วมงานปฐมนิเทศ ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามว่าเหตุใดทหารจึงต้องไปยืนคุมแถวเด็กประถม?

ต่อมา รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว ได้อธิบายว่า การเอาทหารฝึกวินัยเด็กเป็นเรื่องดี และโรงเรียนทำมานานแล้ว โดยได้ความคิดจากโรงเรียนเครือเซนต์คาเบรียล และมีโรงเรียนดังในกรุงเทพฯอีกหลายแห่งที่เอาทหารไปฝึกเด็ก ทั้งย้ำว่าเด็กนักเรียนสาธิตประสานมิตรวันนี้ไร้วินัย เพราะพ่อแม่เลี้ยงลูกมาอ่อนแอ แม้แต่เข้าแถวยังยืนบิดไปบิดมา ผู้ที่ฝึกวินัยได้ดีที่สุดก็น่าจะเป็นทหาร การเอาทหารมาฝึกไม่ได้ทำให้เด็กประถมเสียความคิดสร้างสรรค์ แต่ทำให้นักเรียนใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีวินัย เช่น การเข้าคิวเข้าแถวรับประทานอาหาร เข้าแถวเวลาเช้าและเดินขึ้นลงบันได ซึ่งผู้ปกครองต้องขอบคุณโรงเรียนที่สอนวินัยให้ลูก

ที่น่าสนใจคือ อาจารย์ประพันธ์ศิริเขียนหนังสือสำคัญ เช่น การพัฒนาการคิดและการคิดวิเคราะห์ และเป็นวิทยากรอภิปรายเรื่องลักษณะนี้เสมอ แต่กรณีนี้อาจารย์ประพันธ์ศิริและโรงเรียนสาธิตถูกโจมตีอย่างหนักว่าเป็นการสร้างความคิดให้เด็กคุ้นเคยกับเผด็จการ และไม่เหมาะสมในยุคทหารครองเมืองเช่นนี้ เพราะการฝึกและสร้างวินัยในเด็กไม่ควรเอาวินัยทหารมาเป็นต้นแบบ

อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยโดยกระแสหลักเป็นสังคมอำนาจนิยมมาช้านาน เพราะให้การยอมรับและเชื่อถือการใช้อำนาจแบบทหาร จึงมีความพยายามเปิดบทบาทให้ทหารกระทำการเกินหน้าที่เสมอ เรื่องที่ใหญ่กว่านี้คือกรณีที่ชนชั้นนำไทยเห็นว่าบ้านเมืองมีปัญหาความขัดแย้งก็จะเห็นว่ากองทัพเป็นองค์กรแก้ปัญหา จึงชักชวนและเปิดทางให้ก่อการรัฐประหารและมาบริหารบ้านเมืองทั้งที่ไม่มีความรู้ความสามารถ แต่จะชื่นชมว่าทหารที่เข้ามารักษาความสงบเรียบร้อยจัดวินัยให้สังคม เรื่องวินัยถูกทำให้เห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมไร้วินัย จึงสร้างจินตภาพว่ากองทัพน่าจะเป็นองค์กรที่มีวินัยที่สุด และเป็นเหตุผลการนำวินัยแบบทหารมาสู่โรงเรียน

คำว่า “วินัย” (Discipline) โดยทั่วไปหมายถึงระเบียบแบบแผนและข้อบังคับ ข้อปฏิบัติที่จะควบคุมพฤติกรรมของบุคคล วินัยที่เก่าแก่และใช้มานานแล้วคือวินัยสงฆ์ ซึ่งใช้กับพระสงฆ์ที่เป็นพุทธบริษัทคือ ศีล 227 ข้อ การกระทำผิดวินัยสงฆ์เรียกว่า “อาบัติ” จะถูกลงโทษหนักเบาต่างกัน ถ้าโรงเรียนสาธิตจะเอาพระสงฆ์มาสอนวินัยเด็กก็จะได้ภาพอีกลักษณะหนึ่ง

ในทางหลักการ การสร้างวินัยอาจทำได้ 2 วิธีได้แก่ การบังคับโดยใช้การลงโทษ หรือให้รางวัลเป็นเครื่องสนับสนุน ซึ่งถือเป็นการสร้างวินัยเชิงลบเพราะมีลักษณะบังคับ หรืออีกวิธีหนึ่งคือใช้การสั่งสอนอบรมให้เกิดจิตสำนึกในความรับผิดชอบให้เกิดวินัยด้วยตนเอง ตัวอย่างที่ชัดเจนในสังคมเช่น สร้างวินัยในการจราจร ถ้าเป็นแบบบังคับเพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎคือ ให้ตำรวจจราจรควบคุม จับกุม และลงโทษ ถ้าเป็นวินัยโดยสมัครใจคือ สร้างจิตสำนึกให้เห็นหน้าที่หรือความสำคัญในการเคารพกฎจราจร คือจะไม่มีตำรวจและมาตรการบังคับ ให้พลเมืองปฏิบัติตามกฎจราจรเอง ถือเป็นการสร้างวินัยเชิงบวก

วินัยในโลกสมัยใหม่ยังถือว่าจะต้องสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนคือ ต้องเคารพซึ่งกันและกัน และเห็นประโยชน์ร่วมกันในการสร้างกฎเกณฑ์ วินัยลักษณะนี้เน้นความรับผิดชอบร่วมกันในการรักษากฎเกณฑ์ และยอมรับการลงโทษหากละเมิดกฎเกณฑ์ การสร้างวินัยในสังคมแบบอารยะจึงเป็นไปตามหลักเหตุและผลและไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น กรณีการสร้างวินัยในเด็กก็คือ การสร้างความรู้สึกนึกคิดที่นำไปสู่ความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านการพูดคุยให้เหตุผล หรือสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม และสิ่งสำคัญยังเน้นว่าวินัยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเด็กเข้าใจว่าพวกเขาต้องรับผิดชอบต่อตนเองและคนหมู่มาก วินัยจะมาจากการสร้างความเข้าใจ ไม่ใช่การปฏิบัติตามคำสั่ง

ปัญหาวินัยแบบทหารไทยคือ ใช้อำนาจบังคับ เป็นวินัยแบบลำดับชั้น ทหารชั้นผู้น้อยต้องปฏิบัติตามคำสั่งนายทหารชั้นบนเสมอ ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะถูกลงโทษ ทหารไทยถูกฝึกให้ปฏิบัติเช่นนี้ เพราะในเวลาสงครามคำสั่งของฝ่ายบัญชาการต้องเด็ดขาดและได้รับการปฏิบัติอย่างไม่มีข้อสงสัย การสร้างวินัยแบบทหารไทยจึงนำมาสู่การปฏิบัติตามคำสั่งแบบไม่มีเหตุผล ตัวอย่างกรณีทหารระดับบัญชาการสั่งให้ทหารชั้นผู้น้อยไปฆ่าประชาชนที่คิดต่างหรือเห็นว่าเป็นภัยต่อรัฐ ทหารชั้นผู้น้อยก็พร้อมจะดำเนินการตามคำสั่งเสมอ เพราะขาดระบบกลั่นกรองเหตุผล นี่คือที่มาของการสังหารหมู่หลายครั้งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทย

เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าสังคมไทยถูกสร้างให้คุ้นเคยกับการใช้การบังคับและลงโทษมากกว่าการสร้างจิตสำนึก หมายความว่าถ้าปราศจากการบังคับควบคุม วินัยจะหมดความหมายไปทันที กรณีโรงเรียนก็จะพบว่าเป็นเวลานานแล้วที่สังคมไทยเอาวินัยทหารมาใช้กับเด็กนักเรียน ตั้งแต่บังคับให้เข้าแถวแบบทหาร ตัดผมสั้นเกรียนสำหรับเด็กชายและผมสั้นระดับใบหูสำหรับเด็กหญิง บังคับให้แต่งเครื่องแบบนักเรียนอย่างเคร่งครัด การใช้วินัยเช่นนี้ยังข้ามจากโรงเรียนมาสู่มหาวิทยาลัย นำมาซึ่งการฝึกฝนแบบบังคับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเพณีรับน้องแบบบังคับ ซึ่งรุ่นพี่จะใช้ระบบว้ากและใช้อำนาจนิยมให้รุ่นน้องยอมรับกฎเกณฑ์ทั้งหลายที่ตั้งขึ้น เมื่อรุ่นน้องไม่ยอมรับก็จะถูกลงโทษตามที่รุ่นพี่จะกำหนด โดยอ้างว่าเป็นการสร้างความรักต่อสถาบันและสร้างพลเมืองที่ดีให้กับสังคมได้ แต่ในทางปฏิบัติจะเห็นได้ว่าการสร้างวินัยทั้งหมดนี้ล้มเหลว สังคมไทยยังได้ชื่อว่าเป็นสังคมขาดวินัยอย่างมากแห่งหนึ่งของโลก

ความจริงแล้วอุดมการณ์ดั้งเดิมของโรงเรียนสาธิตในสังคมไทยที่ตั้งขึ้นเพื่ออบรมบ่มเพาะหรือสอนเด็กให้ตื่นรู้แบบสมัยใหม่ตามปรัชญาการศึกษาแนวก้าวหน้า เพื่อให้มีการทดลองการพัฒนาความรู้และพัฒนาพฤติกรรมเด็กให้พ้นจากกรอบที่กำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนสาธิตแต่เดิมจึงให้อยู่ในสังกัดของแต่ละมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนของคณะศึกษาศาสตร์หรือครุศาสตร์ ไม่ขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการ แต่เมื่อโรงเรียนสาธิตเหล่านี้กลับพัฒนากลายเป็นโรงเรียนแบบธรรมดา ไม่ได้แตกต่างจากโรงเรียนลักษณะอื่น เราจึงพบว่าเมื่อเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 โรงเรียนสาธิตก็มิได้ต่างจากโรงเรียนแบบอื่นในการสอนให้เด็กท่องค่านิยม 12 ประการที่หัวหน้าคณะรัฐประหารตั้งขึ้นตามอำเภอใจ และยึดถือราวกับว่าเป็นสิ่งดีงามในสังคม โรงเรียนสาธิตจึงสอนเด็กให้คิดในกรอบของกระแสหลัก

กล่าวโดยสรุปจะเห็นว่า แนวคิดแบบผู้บริหารโรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร ที่ใช้ทหารมาฝึกเด็กตั้งแต่ยังเล็ก ให้เด็กเข้าแถวเป็น เข้าคิวได้ และเป็นผู้ใหญ่ที่มีวินัยในสังคมจึงไม่น่าจะถูกต้อง แต่ที่ถูกต้องคือ ควรฝึกให้เด็กตรงต่อเวลา มีความซื่อสัตย์ รู้จักรับผิดชอบ รู้จักหน้าที่ของตนเอง และเคารพสิทธิของคนอื่นในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งวินัยลักษณะนี้ทหารไทยคงสอนไม่ได้


You must be logged in to post a comment Login