วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

พิธีกรรมต้านโกง / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On May 8, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวน่าสนใจข่าวหนึ่งที่ไม่ใหญ่มากตามหน้าสื่อ แต่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบในวงกว้าง

ข่าวที่ว่าคือ กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เตรียมออกประกาศเพิ่มเติมกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐแสดงบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 40 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่จะต้องแสดงทรัพย์สินครั้งนี้เป็นนายทหารระดับผู้บังคับหน่วยที่มีอำนาจตัดสินใจทำนิติกรรมและดูเรื่องงบประมาณ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ให้นายตำรวจและรองอธิการบดียื่นแสดงทรัพย์สินมาแล้ว

ถามว่าเป็นเรื่องดีหรือไม่ เชื่อว่าทุกคนเห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องดี เพื่อความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน

แต่กลับมีปฏิกิริยาจากโฆษกกองทัพบกอย่าง พ.อ.วินธัย สุวารี ที่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าทหารไม่ใช่นักการเมือง

“ยังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องนี้ แต่ปรกติแล้วบุคคลที่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งก็ปฏิบัติตามนั้นมาตลอด ทั้งในส่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐบาล และผู้บัญชาการเหล่าทัพ แต่ในส่วนของผู้บังคับหน่วยทหารถือเป็นข้าราชการปรกติเหมือนข้าราชการอื่นๆ หากต้องยื่นข้าราชการทุกคนต้องยื่นกันหมด ทั้งนี้ ต้องดูข้อกำหนดของ ป.ป.ช. ก่อน เพราะ ป.ป.ช. ยังไม่ได้แจ้งรายละเอียดให้กองทัพบก มีเพียงข่าวสารจากสื่อเท่านั้น คงต้องรอให้มีความชัดเจนมากกว่านี้”

แม้จะเป็นการแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย แต่ก็เข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องที่ข้าราชการไม่เคยชิน ธรรมชาติของมนุษย์เมื่อมีอะไรใหม่ก็ต้องคัดค้านเป็นธรรมดา เมื่อถึงเวลาที่ ป.ป.ช. ประกาศให้แสดงทรัพย์สินก็ไม่สามารถเกี่ยงงอนได้ เพราะอำนาจของ ป.ป.ช. มีกฎหมายรองรับชัดเจน

ได้แต่หวังว่าเมื่อ ป.ป.ช. ประกาศให้แสดงทรัพย์สินแล้วจะไม่เกิดกรณียื่นลาออกจากตำแหน่งเพื่อหนีการแสดงบัญชีทรัพย์สินเหมือนที่รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยหนึ่งกระทำก่อนหน้านี้

ย้อนกลับไปดูเจ้าหน้าที่รัฐที่ ป.ป.ช. ประกาศให้ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินเพิ่มเติม นอกจากตำแหน่งที่ประชาชนคุ้นเคยว่าต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินแล้ว ตำแหน่งที่ต้องแสดงเพิ่มเติมตามประกาศใหม่ประกอบด้วย

รองอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดรัฐ, ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.), ผู้อำนวยการสำนักช่าง อบจ, ปลัดเทศบาลนคร, ผู้อำนวยการสำนักช่าง เทศบาลนคร, ปลัดเทศบาลเมือง, ผู้อำนวยการสำนักช่าง เทศบาลเมือง, ปลัดเทศบาลตำบล, ผู้อำนวยการสำนักช่าง เทศบาลตำบล

จเรตำรวจแห่งชาติ, รอง ผบ.ตร., ผู้ช่วย ผบ.ตร., ผบช.สำนักงานส่งกำลังบำรุง, ผบช.สำนักงานกำลังพล, ผบช.สำนักงานกฎหมายและคดี, ผบช.สำนักงานตรวจสอบภายใน, ผบช.ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้, ผบช.ตำรวจปราบปรามยาเสพติด, ผบช.ตำรวจสันติบาล, ผบช.ตำรวจตระเวนชายแดน, ผบช.สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ, ผบช.สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, รอง ผบช.สำนักงานส่งกำลังบำรุง, รอง ผบช.สำนักงานกำลังพล, รอง ผบช.สำนักงานกฎหมายและคดี, รอง ผบช.ตำรวจนครบาล, รอง ผบช.ตำรวจภูธรภาค 1-9, รอง ผบช.ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้, รอง ผบช.ตำรวจสอบสวนกลาง, รอง ผบช.ตำรวจปราบปรามยาเสพติด, รอง ผบช.ตำรวจสันติบาล, รอง ผบช.สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, รอง ผบช.ตำรวจตระเวนชายแดน, รอง ผบช.สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ, รอง ผบช.สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

จเรตำรวจ (สบ 8) (หัวหน้าจเรตำรวจ), นายแพทย์ใหญ่, รองจเรตำรวจ (สบ 7), ผบก.กองพลาธิการ, ผบก.กองโยธาธิการ, ผบก.กองสรรพาวุธ, ผบก.กองทะเบียนพล, ผบก.กองสวัสดิการ, ผบก.กองคดีอาญา, ผบก.สืบสวนสอบสวนศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้, ผบก.ตำรวจปราบปรามยาเสพติด 1-4, ผบก.ข่าวกรองยาเสพติด, ผบก.สกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติด, ผบก.ตำรวจสันติบาล 1-4, ผบก.ตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1-4 และ ผบก.ตำรวจสื่อสาร

จะเห็นว่าตำรวจมีตำแหน่งที่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินเพิ่มมากกว่าหน่วยงานอื่นๆ เพราะเป็นหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย ใช้อำนาจหน้าที่หาผลประโยชน์ได้ง่าย

ทั้งนี้ เชื่อว่าเมื่อ ป.ป.ช. ประกาศให้นายทหารระดับผู้บังคับหน่วยต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินจะมีคนยกมือสนับสนุนจำนวนมาก

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 2535 และผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ ชี้ว่า ปัญหาคอร์รัปชันไม่ได้มีแต่ในแวดวงการเมือง แต่มีอยู่ทุกวงการ จึงเห็นด้วยอย่างมากที่จะให้ผู้บังคับหน่วยแสดงบัญชีทรัพย์สิน

อย่างไรก็ตาม แม้ทุกคนเห็นตรงกันในหลักการว่าการแสดงบัญชีทรัพย์สินของผู้มีอำนาจอันอาจใช้ไปในทางแสวงหาผลประโยชน์ได้เป็นเรื่องที่ดีและจะช่วยสร้างความโปร่งใสได้

แต่ปัญหาคือ ที่ผ่านมาประเทศไทยบังคับให้มีการแสดงบัญชีทรัพย์สินของนักการเมือง ข้าราชการระดับสูงมานานแล้ว แต่ข้อสงสัย คำถาม หรือข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชันไม่ได้ลดน้อยลงไปแต่อย่างใด ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูงๆยังถูกประชาชนเคลือบแคลงสงสัยว่าร่ำรวยมาจากอะไร ยังมีข้อกล่าวหาเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์เหมือนตอนที่ไม่มีกฎหมายบังคับให้แสดงบัญชีทรัพย์สิน หรือให้แสดงบัญชีทรัพย์สินแบบปิดซอง ไม่ได้นำมาเปิดเผยกับประชาชน

เรื่องนี้ ป.ป.ช. ต้องถามตัวเองเหมือนกันว่ามีประสิทธิภาพในการควบคุมไม่ให้เกิดการคอร์รัปชันมากน้อยเพียงใด ที่ผ่านมาสามารถเอาผิดกับผู้ร่ำรวยผิดปรกติได้มากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม ต้องเห็นใจ ป.ป.ช. เหมือนกัน เพราะกำลังเจ้าหน้าที่มีจำนวนจำกัด การตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมือง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่มีจำนวนมากไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ จะตามไปดูว่าเอาไปซุกซ่อนในชื่อใครบ้างก็เป็นเรื่องยาก

ทำให้ช่วงที่ผ่านมาการบังคับให้แสดงบัญชีทรัพย์สินเป็นเพียงพิธีกรรมที่ดูเหมือนว่าสามารถทำให้เกิดความโปร่งใส ขจัดการทุจริตโกงกินได้

คนทั่วไปจึงมอบสถานะให้ ป.ป.ช. เป็นเสือกระดาษ

น่าเสียดายที่เราอยู่ในยุคปฏิรูป แต่ไม่ได้คิดที่จะปฏิรูปเพิ่มเขี้ยวเล็บให้ ป.ป.ช. พ้นสภาพจากการเป็นเสือกระดาษที่ไม่มีใครกลัว


You must be logged in to post a comment Login