วันพฤหัสที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567

สังคมที่ไม่มีบทเรียน / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On February 27, 2017

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

สังคมที่ก้าวหน้าในโลกนี้ล้วนแต่เรียนรู้จาก “บทเรียนที่เจ็บปวดในอดีต” ยุโรปหลุดพ้นจากยุคกลางที่มีการล่าแม่มด สงครามศาสนา สงครามระหว่างนิกายศาสนา หลุดพ้นจากระบบศักดินาสวามิภักดิ์มาสู่การเป็นสังคมเสรีประชาธิปไตยที่แยกศาสนาจากรัฐและการเมืองได้เพราะผ่านบทเรียนที่เจ็บปวด และพร้อมที่จะเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนอุดมการณ์ทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และอื่นๆ เพื่อก้าวไปข้างหน้าที่มีความเป็นอารยะมากกว่า

แต่สังคมไทยดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น ปัญหาที่เราเผชิญอยู่เวลานี้สะท้อนว่าสังคมเราไม่เคยเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา เรื่องหนึ่งคือ ปัญหาการขาดประชุมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวนหนึ่งที่มี พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ด้วย สุดท้าย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า “ไม่ผิดจริยธรรม”

นี่คือปรากฏการณ์ที่สะท้อนว่าฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารไม่เคยเรียนรู้ว่าไม่เคยมีรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารยุคใดที่ประชาชนมีเสรีภาพและตรวจสอบได้ การโจมตีรัฐบาลจากการเลือกตั้งว่าตรวจสอบไม่ได้ แล้วสนับสนุนการรัฐประหารล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งนำมาสู่รัฐบาลที่ตรวจสอบไม่ได้มากยิ่งกว่า สมาชิก สนช. ที่เป็นข้าราชการทหารเป็นส่วนใหญ่รับเงินเดือน 2 ทาง แถมบางคนขาดประชุมต่อเนื่องก็ไม่ผิดจริยธรรม เพราะเรื่องถูกผิดทางจริยธรรมอยู่ที่ผู้มีอำนาจจะเป็นผู้บอกว่าถูกหรือผิด ประชาชนไม่มีอำนาจตัดสิน

อีกเรื่องคือ กรณีรัฐบาล คสช. ใช้มาตรา 44 ควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกายเพื่อตรวจค้นจับกุมพระธัมมชโย ผลก็คือไม่พบพระธัมมชโย แต่การใช้มาตรา 44 ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารร่วม 6,000 นาย สะท้อนการไม่เรียนรู้บทเรียนปัญหาศาสนากับการเมืองในอดีต

ในยุคเผด็จการทหารที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำการเมืองสงฆ์กับการเมืองทางโลกมาผูกโยงเป็นเนื้อเดียวกัน ความขัดแย้งในการเมืองสงฆ์นำมาสู่ข้อกล่าวหาว่า พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุและสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ต้องอาบัติปาราชิก แต่เมื่อกระบวนการทางสงฆ์ไม่สามารถเอาผิดได้เพราะขาดพยานหลักฐาน ฝ่ายที่ต้องการขจัดพระพิมลธรรมจึงดึงการเมืองทางโลกมาจัดการ นำมาสู่การตั้งข้อหาว่าพระพิมลธรรมและพวกมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ผลคือพระพิมลธรรมต้องติดคุกโดยไม่มีความผิดเป็นเวลานานถึง 5 ปี

กรณีวัดพระธรรมกายมีปัญหาการเมืองในวงการศาสนามายาวนานแล้วคือ กล่าวหาว่าวัดพระธรรมกายสอนผิดจากพระไตรปิฎก เป็น “ลัทธิจานบิน” บ้าง เป็นลัทธิเดียรถีย์นอกพุทธศาสนาบ้าง พระธัมมชโยถูกฟ้องอาบัติปาราชิก และมีพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วินิจฉัยให้พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิก แต่กรรมการมหาเถรสมาคมมีมติให้ไม่ต้องอาบัติปาราชิก เพราะข้อกล่าวหาที่เป็นคดีความเรื่องยักยอกเงินวัดอัยการสั่งไม่ฟ้อง จึงไม่มีเหตุให้ปรับอาบัติปาราชิกได้

พระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชกับมติมหาเถรสมาคมเป็นการตัดสินสวนทางกัน สะท้อนถึงความเป็นการเมืองสงฆ์ในเวลานั้น ผลคือ ทำให้ฝ่ายที่เรียกร้องเอาผิดพระธัมมชโยไม่พอใจ เมื่อมีรัฐบาล คสช. ที่ฝ่ายตัวเองสนับสนุนจึงออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้จัดการกับพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย

เริ่มจากการชูประเด็นปฏิรูปพุทธศาสนา ให้รื้ออธิกรณ์อาบัติปาราชิกของพระธัมมชโยที่จบไปแล้วขึ้นมาพิจารณาใหม่ โดยเรียกร้องให้เอาผิดอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช ตามมาด้วยการกล่าวหาว่าสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จช่วง) สนับสนุนวัดพระธรรมกายและแจ้งให้ดำเนินคดีครอบครองรถหรูหนีภาษี ทำให้แม้มติมหาเถรสมาคมจะเสนอชื่อสมเด็จช่วงขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชอย่างถูกต้องตามกฎหมายคณะสงฆ์ นายกรัฐมนตรีก็ไม่นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯแต่งตั้ง โดยอ้างเรื่องคดีและความแตกแยกในวงการสงฆ์

สุดท้ายก็มีการแก้กฎหมายสงฆ์ใหม่ ไม่ต้องให้มหาเถรสมาคมมีมติเสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ให้การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเป็น “พระราชอำนาจ” โดยตรง และเมื่อแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชจากฝ่าย “ธรรมยุติกนิกาย” ได้สำเร็จก็ใช้มาตรา 44 จัดการพระธัมมชโยและควบคุมวัดพระธรรมกายทันที

แน่นอนว่าเรื่องของพระธัมมชโยต่างจากกรณีพระพิมลธรรมตรงที่มีคดีทุจริตและซื้อที่ดินรุกป่าสงวนฯ แต่กระบวนการจัดการกับพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกายที่มีการโจมตีมาตลอดว่าลัทธิธรรมกายเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็เป็นการกล่าวหาในทางการเมืองที่รุนแรงไม่ต่างจากข้อหาคอมมิวนิสต์ที่ใช้กับพระพิมลธรรม การตั้งข้อหาแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกว่า 300 คดี และระดมกำลังร่วม 6,000 นาย เข้าควบคุมวัดพระธรรมกาย จึงยากที่จะปฏิเสธว่าไม่มีความเป็นการเมือง

เรื่องสุดท้ายคือการจับกุมแกนนำและสลายการชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่จังหวัดกระบี่ก็สะท้อนบทเรียนว่า การเรียกร้องให้ทหารทำรัฐประหารรัฐบาลจากการเลือกตั้งย่อมนำมาสู่สภาพที่ฝ่ายผู้เรียกร้องเช่นนั้นกลายเป็นผู้ไม่มีเสรีภาพและสิทธิต่อรองใดๆ แม้แต่การปกป้องสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปกล่าวโทษ “สี” หรือฝ่ายใดๆ ปัญหาทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมาแท้จริงแล้วคือปัญหาการใช้อำนาจของรัฐบาลจากรัฐประหารที่ไม่สามารถตรวจสอบได้และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน นำไปสู่ปัญหาขัดแย้งทั้งการเมืองทางศาสนาและการเมืองทางโลก ทำให้กำลังเดินห่างออกไปจากความเป็นประชาธิปไตย ความยุติธรรม และความปรองดองมากขึ้นเรื่อยๆ


You must be logged in to post a comment Login