วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

พิธีกรรม-ลมปาก

On January 30, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การเมืองสัปดาห์นี้ยังต้องติดตามสองเรื่องใหญ่ที่ต่อเนื่องมาจากสัปดาห์ที่ผ่านมา

เรื่องแรกให้จับจ้องไปที่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันสิ้นเดือน 31มกราคม 2560 ว่า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะสามารถเสนอรายชื่อคณะกรรมการเตรียมการปรองดองและสามัคคีให้ที่ประชุมครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบได้หรือไม่หลังจากที่ยืดเยื้อมาพักใหญ่

เดิมที่มีข่าวหลุดออกมาว่ารายชื่อคณะกรรมการจะเต็มไปด้วยบรรหารแม่ทัพนายกองมีกองทัพไทยทำให้เสียงคัดค้านดังเซ็งแส้ว่าจะทำให้งานสร้างความปรองดองไม่ประสบความสำเร็จ จากที่จะเสนอให้ ครม.เห็นชอบได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาจึงต้องเลื่อนออกไปก่อน

ล่าสุดมีความพยายามดึงนักวิชาการเข้ามาร่วมอยู่ในคณะกรรมการด้วย เห็นคุยว่ามีหลายคนตอบรับมาแล้ว แต่ก็ต้องรอดูหน้าตาอีกครั้งว่าจะมีใครบ้าง เพราะหากเป็นนักวิชาการเลือกข้างก็คงไม่พ้นมีเสียงคัดค้านอีก

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาตามเงื่อนเวลาที่ “บิ๊กป้อม” ว่าไว้ว่าจะให้เห็นหน้าเห็นหลังภายใน 3 เดือน สัปดาห์นี้จึงน่าจะคลอดรายชื่อคณะกรรมการออกมาเสียทีเพราะหากปล่อยให้ยืดเยื้อไปกว่านี้ กรอบเวลาสร้างความปรองดองคงต้องถูกยืดออกไปอีก

ส่วนแนวทางการทำงานหลังเปิดตัวคณะกรรมการมีการวางกรอบเรื่องที่จะถกกันเอาไว้ 10 ประเด็นว่าจะมีแนวทางใดบ้างที่จะทำให้คนที่เห็นต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้ เมื่อได้ 10 ประเด็นที่ว่าแล้วจึงเปิดรับฟังความเห็นจากบุคคลทั่วไปและพรรคการเมือง

อย่างไรก็ตามมีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าทั้งหัวหน้าที่กำหนดและการเปิดรับฟังความคิดเห็นน่าจะเป็นเพียงพิธีกรรมเพื่อให้ดูว่าทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เพราะแนวทางสร้างความปรองดองของจริงผู้มีอำนาจน่ามีเอาไว้ในใจแล้ว

เหมือนกรณีร่างรัฐธรรมนูญที่จัดเวทีเปิดฟังความเห็นทั่วประเทศแต่กลับไม่ค่อยได้นำมาใช้เพราะคณะผู้ร่างมีธงในใจแล้วนั่นเอง

อีกประเด็นที่ต้องติดตามคือท่าทีของรัฐบาลทหารคสช.โดยเฉพาะท่านผู้นำอย่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ว่าจะเลือกส่งสัญญาณอย่างไรกับกรณีบิ๊กข้าราชการไทยถูกจับฐานขโมยภาพที่ญี่ปุ่น

ความเคลื่อนไหวตอนนี้คือมีความพยายามใช้กลไกรัฐให้ความช่วยเหลือเพื่อให้บิ๊กข้าราชการที่ว่านี้ได้กลับประเทศโดยไม่ต้องถูกดำเนินคดี มีความพยายามเจรจาให้โรมแรมเจ้าของภาพถอนแจ้งความแลกกับการจ่ายค่าเสียหาย ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าจะเอาเงินส่วนไหนไปจ่าย เงินส่วนตัวของบิ๊กข้าราชการที่ทำผิดหรือว่าเงินภาษีประชาชน

เรื่องนี้หากท่านผู้นำต้องการกู้ภาพลักษณ์เป็นรัฐบาลที่เข้ามาล้างทุจริต หลังจากเสียหน้าถูกลดชั้นความโปร่งใสไปอยู่ที่อันดับ 101 ของโลก ได้เพียง 35 คะแนนเต็ม 100 ต้องเลือกส่งสัญญาณให้ถูกต้อง

หากไม่ห้ามปรามกระบวนการช่วยเหลือเพื่อให้พ้นผิดและกลับมารับราชการได้ตามปรกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นภาพลักษณ์การเป็นรัฐบาลต้านโกงจะยิ่งเสียหาย

กรณีนี้ยังโยงไปถึงเรื่องสินบนอื้อฉาวของบริษัท โรลส์-รอยซ์ ที่สององค์กรตรวจสอบอย่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้รายชื่อและพฤติการณ์ของผู้รับสินบนแล้ว

ถ้ารัฐบาลไม่เข้ามาเทกแอ็คชั่นเร่งรัดให้เกิดความชัดเจนโดยเร็วปล่อยให้ทุกอย่างเดินตามกระบวนการปรกติภาพลักษณ์รัฐบาลต้านโกงที่เสียหายจะยิ่งกู่ไม่กลับ

ขนาดสำนักงานปราบปรามการทุจริตของสหราชอาณาจักร (เอสเอฟโอ) ยังแปลกใจทำไมหน่วยงานไทยจำนวนมากยื่นขอข้อมูลสินบนและสงสัยว่าหากได้ข้อมูลมาแล้วจะสามารถเอาผิดผู้เกี่ยวข้องได้จริงหรือไม่ เพราะกังวลว่าจะมีอำนาจมืดเข้ามาแทรกแซงจนไม่สามารถเอาผิดใครได้เหมือนหลายกรณีที่ผ่านมา

ทั้งสองประเด็นเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้เพื่อดูความชัดเจนจากรัฐบาลว่าการเปิดกว้างฟังความเห็นสร้างความปรองดองจะเป็นแค่พิธีกรรม การเป็นรัฐบาลต้านโกงจะเป็นแค่ลมปากหรือไม่


You must be logged in to post a comment Login