วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

ประวัติศาสตร์คริสต์มาส / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On January 2, 2017

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

วันคริสต์มาส 25 ธันวาคม ถือเป็นวันสำคัญอย่างยิ่งต่อโลกของชาวคริสต์ที่เข้าใจกันว่าสืบเนื่องจากวันสมภพของพระเยซู ซึ่งถือว่ามีความสำคัญ เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นวันหยุดการทำงาน แม้แต่ประเทศที่ประชากรส่วนมากไม่ได้เป็นคริสต์ก็รับรู้และร่วมในความสำคัญของวันคริสต์มาสด้วย โดยเฉพาะประเพณีหลายเรื่องที่เล่าสืบมา เช่น การอวยพร การให้ของขวัญ การประดับตกแต่งต้นคริสต์มาส ทำให้ประเพณีคริสต์มาสมีการฉลองทั่วโลก

ความจริงแล้วมีความเข้าใจความหมายคลาดเคลื่อนบ้าง เช่น คำว่า “คริสต์มาส” ในภาษาอังกฤษเก่าคือ Crīstesmæsse หมายถึงการ “มิสซา” หรือ “มหาสนิท” ของชาวคริสต์ คำในภาษาละตินคือ “festum Natale” มีความหมายเป็นคริสต์สมภพมากกว่า แต่ที่มากกว่านั้นคือ วันที่ 25 ธันวาคม ไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับคริสต์สมภพที่เป็นจริงเลย

ในสมัยจักรวรรดิโรมัน เทศกาลปลายเดือนธันวาคมเรียกว่า “แซตเทอร์นาเลีย” คืองานเฉลิมฉลองบูชาพระเสาร์ซึ่งเป็นเทพแห่งการเกษตร เริ่มในช่วงวันที่ 17-23 ธันวาคม ต่อมาตั้งแต่สมัยต้นคริสต์กาล วันที่ 25 ธันวาคม ได้กลายเป็นวันศักดิ์สิทธิ์เพื่อฉลองวันประสูติของเทพมิธรา ซึ่งเป็นยุวเทพที่เกิดจากหิน ไม่ได้มาจากตำนานกรีก แต่เป็นอิทธิพลของศาสนาโซโรอัสเตอร์ที่รับเข้ามาในอาณาจักรโรมันก่อนหน้าศาสนาคริสต์

เมื่อศาสนาคริสต์เข้ามาเผยแผ่และกลายเป็นศาสนาหลักของจักรวรรดิโรมัน ชาวคริสต์ในระยะแรกยังไม่มีการฉลองคริสต์มาส มีเพียงเทศกาลฉลองอีสเตอร์ที่ถือว่าเป็นการกลับคืนชีพของพระเยซูเท่านั้น จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 4 ฝ่ายคริสตจักรเห็นว่าเมื่อกำเนิดของพระบุตรคือพระเยซูมีความสำคัญ จึงต้องมีการฉลองคริสต์สมภพให้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ ปัญหามีอยู่ว่า ในพระคัมภีร์ไม่ได้ระบุไว้เลยว่าพระเยซูสมภพวันที่เท่าไร เพราะไม่เคยให้ความสำคัญกับวันเกิดของพระเยซู ตามหลักฐานพระเยซูน่าจะประสูติในฤดูที่ไม่ใช่ฤดูหนาวด้วยซ้ำ เพราะมีการกล่าวถึงการต้อนแกะในทุ่งซึ่งในฤดูหนาวทำไม่ได้ แม้กระทั่งปีเกิดของพระเยซูก็ไม่มีระบุชัดเจน การหาปีเกิดพระเยซูทำโดยบาทหลวงดิโอนีซีอุส อีชิกูอัส ใน ค.ศ. 533 ซึ่งตามหลักฐานที่วิเคราะห์ปัจจุบันมีความเป็นไปได้ว่าศักราชมีความคลาดเคลื่อน พระเยซูไม่น่าจะสมภพในจุดเริ่มของ ค.ศ. 1 ตามที่เข้าใจในสมัยกลาง

กรณีวันคริสต์สมภพ สมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 1 (อยู่ในตำแหน่ง ค.ศ. 337-352) เป็นผู้เลือกให้ฉลองคริสต์สมภพในวันที่ 25 ธันวาคม ตามวันฉลองใหญ่ของอาณาจักรโรมัน และยังกำหนดวันอีพิฟานี (Epiphany) หรือวันพระคริสต์แสดงองค์ เป็นวันที่ 7 มกราคม หลังจากนั้นประเพณีฉลองคริสต์มาสจึงเผยแพร่ไปในโลกตะวันตก

แต่การฉลองคริสต์มาสก็เผชิญการท้าทายครั้งสำคัญจากพวกพิวริตัน (Puritans-สำนักบริสุทธิ์) ซึ่งเป็นสำนักโปรเตสแตนต์อังกฤษที่ศรัทธาในความจริงแท้ของพระคัมภีร์และปฏิเสธสถาบันคาทอลิกทั้งหมด เมื่อโอลิเวอร์ ครอมเวลส์ ยึดอำนาจ ค.ศ. 1645 จึงยกเลิกเทศกาลคริสต์มาสในอังกฤษ ด้วยเหตุผลว่าไม่เคยมีในพระคัมภีร์ และในสมัยพระเยซูทรงพระชนม์ก็ไม่มีการฉลองคริสต์มาส แต่หลังจากมีการรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์ในอังกฤษเมื่อ ค.ศ. 1660 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ก็รื้อฟื้นเทศกาลคริสต์มาสกลับมาอีก

เมื่อพวกพิวริตันไปตั้งถิ่นฐานในอเมริกาเหนือตั้งแต่ ค.ศ. 1620 ไม่มีการฉลองคริสต์มาสในอเมริกาเลย และในบางเมืองเช่นบอสตัน ถือว่าการฉลองคริสต์มาสเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ต้องถูกปรับ ต่อมาเมื่อสหรัฐอเมริกาเป็นเอกราชจากอังกฤษเมื่อ ค.ศ. 1776 ประเพณีจากอังกฤษไม่เป็นที่นิยม ไม่มีการฉลองเทศกาลคริสต์มาสอย่างเป็นทางการ แต่เทศกาลที่สำคัญคืองานฉลองอิสรภาพ 4 กรกฎาคม และวันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving Day) คือวันที่ 26 พฤศจิกายน จนกระทั่ง ค.ศ. 1819 วอชิงตัน เออร์วิน นักเขียนอเมริกันคนสำคัญ ได้เขียนชุดรวมเรื่องสั้นเรื่อง The Sketchbook of Geoffrey Crayon, Gent. ซึ่งเป็นหนังสือขายดีอย่างมาก โดยเล่าถึง “ตำนานโบราณ” รวมถึงเรื่องการฉลองคริสต์มาสในอังกฤษ ทั้งที่เออร์วินไม่เคยไปอังกฤษและไม่เคยเห็นการฉลองคริสต์มาสเลย แต่สร้างจินตภาพคริสต์มาสขึ้นมาใหม่ให้เป็นวันแห่งครอบครัวและการรวมญาติ เป็นวันเฉลิมฉลองความสุข ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวกับศาสนาและคริสต์สมภพเลย แต่ก็ทำให้เทศกาลคริสต์มาสเป็นที่สนใจมากขึ้นในสหรัฐ

นวนิยายของชาร์ลส์ ดิกเกนส์ เรื่อง “ภูตคืนคริสต์มาส (A Christmas Carol)” ที่ตีพิมพ์ ค.ศ. 1843 เป็นที่นิยมสูงสุด ยิ่งทำให้วันคริสต์มาสเป็นที่นิยมทั้งในอังกฤษและสหรัฐ ในที่สุดรัฐบาลกลางสหรัฐประกาศให้วันคริสต์มาสเป็นวันหยุดทางการใน ค.ศ. 1870

การนำต้นคริสต์มาสมาประดับก็ไม่มีอะไรเกี่ยวกับคริสต์สมภพ แต่เป็นประเพณีดั้งเดิมก่อนคริสต์ศาสนาที่ชาวโรมันนำต้นไม้มาบูชา ส่วนซานตาคลอสเป็นเรื่องของนักบุญนิโคลัสแห่งมีราซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 270-325 โดยสาวกผู้ศรัทธาจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลในเดือนธันวาคมและให้ของขวัญแก่กัน ในที่สุดนักบุญนิโคลัสถูกดัดแปลงโดยชาวเยอรมันรวมกับเทพเจ้าโอดินกลายเป็นชายมีหนวดเคราขี่ม้าบินมาในวันที่ 6 ธันวาคม สวมชุดหนาเพื่อป้องกันความหนาว คาทอลิกรับเอานักบุญนี้เข้าสู่ประเพณีของตนและย้ายวันเดินทางมาของนักบุญนิโคลัสเป็นวันคริสต์มาส จากนั้นวอชิงตัน เออร์วิน เป็นผู้ขนานนามนักบุญนิโคลัสเป็น “นักบุญกางเขน” หรือ “ซานตาคลอส” (ใช้คำตามภาษาดัตช์) ต่อมาใน ค.ศ. 1822 คลีเมนต์ มัวร์ เขียนบทกวีบรรยายให้นักบุญนิโคลัสมาโดยเลื่อนที่มีกวางเรนเดียร์ 8 ตัว และนำของขวัญใส่ในถุงเท้ายาวที่แขวนไว้กับปล่องไฟ จึงเป็นจุดเริ่มซานตาคลอสในเวลาต่อมา

เรื่องและภาพการฉลองคริสต์มาส ต้นคริสต์มาส การให้ของขวัญ และซานตาคลอสที่รู้จักกันทั่วโลก ถูกต่อต้านคัดค้านจากฝ่ายเคร่งศาสนา เพราะเห็นว่าไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคริสต์สมภพเลย กลุ่มนี้ต้องการรื้อฟื้นความหมายเดิมของคริสต์มาสคือการทำพิธีทางศาสนาและการเข้าโบสถ์เท่านั้น แต่คงไม่ประสบผล เพราะงานฉลองคริสต์มาสทั่วโลกได้กลายเป็นธุรกิจการค้าที่มีขนาดมหาศาลไปแล้ว


You must be logged in to post a comment Login