วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

3 ปียังไม่เห็นแสงสว่าง! / โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On December 19, 2016

คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : ประชาธิปไตย เจริญสุข

รัฐบาล คสช. ทำงานล้มเหลว

ถึงวันนี้คงเห็นแล้วว่าสิ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บอกในช่วงรัฐประหารก็ไม่เห็นอะไรที่จับต้องได้ชัดเจน จริงๆรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเขาก็ทำตามปรกติ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างรถไฟฟ้า พรรคไหนก็เร่งรัดเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว แม้แต่เรื่องการช่วยเหลือเกษตรกรก็เดินซ้ำรอย เพราะสุดท้ายก็ใช้วิธีจ่ายเงินสด ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ถูกตำหนิติเตียนว่าเป็นนโยบายประชานิยม

ตรงนี้ คสช. ต้องยอมรับว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็จำเป็นต้องมีนโยบายแบบนี้ตราบใดที่แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ได้ คำถามคือ แล้วการจัดโครงสร้างใหม่ในทางการเมือง การปกครองประเทศเกิดขึ้นหรือยัง ก็ต้องตอบว่าจนถึงวันนี้ยังไม่มีเลย ยกตัวอย่างง่ายๆเรื่องการช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องข้าวก็ได้ ยังไม่มีมาตรการในเชิงโครงสร้างเลย เช่น กระบวนการจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่จะยกระดับความสามารถการแข่งขันเรื่องข้าวคืออะไรกันแน่ เรื่องกฎหมายและกฎกติกาต่างๆ การปรับปรุงในเชิงโครงสร้างเพื่อให้มีโอกาสการแข่งขันที่เท่าเทียมกันก็ยังไม่เกิด

เพราะฉะนั้นระยะเวลา 2 ปีเศษและกำลังเข้าปีที่ 3 เรียนตามตรงว่าการปฏิรูปยังไม่เห็นเลยแม้แต่เรื่องเดียว อย่าง พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกเพื่อให้การบริการประชาชนรวดเร็วขึ้น วันนี้ไปถึงไหนแล้ว มีส่วนราชการใดที่ออกคู่มือสำหรับประชาชนในการติดต่องาน เพราะหากไม่เป็นไปตามที่ระบุก็สามารถฟ้องส่วนราชการได้

ยังไม่รวมเรื่องหลักๆ เช่น การปฏิรูปโครงสร้างทางภาษีทรัพย์สิน หรือการถือครองที่ดินทำกินที่เป็นปัญหาใหญ่ของความเหลื่อมล้ำก็ยังไม่เกิดขึ้นและไม่มีแนวโน้มจะเกิด ซ้ำร้ายกว่านั้นหลายเรื่องยิ่งหนักกว่าเดิม เช่น กระบวนการนโยบายประชารัฐ เห็นเลยว่าคนไม่มีปากไม่มีเสียงก็จะไม่ได้รับการดูแล รวมถึงสิทธิชุมชนก็ถูกลิดรอนด้วยกลไกต่างๆ
เช่น พ.ร.บ.แร่ จะเห็นว่าไม่ได้รองรับสิทธิชุมชนของคนชายขอบที่เป็นคนรากหญ้าเลย ทั้งที่เป็นประเด็นสาเหตุหลักในการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูป

ถ้าให้ผมประเมินการทำงานของ คสช. ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่ต่างกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เผลอๆมีข้อจำกัดเยอะกว่าด้วยซ้ำ โดยเฉพาะประเด็นต่างประเทศเป็นปัญหาจริงๆ อียู (สหภาพยุโรป) เขาไม่เจรจากับเราอยู่แล้ว สิ่งที่ทำได้จึงแค่ทานยาแก้ปวดไปวันๆ

สิทธิของคนยากไร้ คนชายขอบ คนรากหญ้าก็ไม่มี ยังไม่เห็นเลย นอกจากจ่ายเงินสดผ่าน ธ.ก.ส. ออมสิน การปฏิรูปเชิงโครงสร้างจับต้องไม่ได้ คนรากหญ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมเพิ่มมากขึ้น อย่างในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีที่ดินอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีประกาศทับที่ดินทำกินคนนับแสน จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งที่เป็นพื้นที่อ่อนไหว เป็นพื้นที่ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ตรงนี้ทำให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ คสช. ยังมองไม่แตก ปัญหาจึงยังค้างคาอยู่ เพราะฉะนั้นความรุนแรงจึงแก้ไม่ได้ การตั้งชุดทำงานส่วนหน้าก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร นอกจากแต่งหน้าทาปากช่วงสั้นๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในเชิงโครงสร้างเลย

การปฏิรูปทางเศรษฐกิจ การปรับปรุงโครงสร้างการแข่งขันของประเทศก็ยังไม่เห็นชัดเจน เอาง่ายๆ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นกฎหมายมาตรฐานสากลที่จะดูแลให้การประกอบธุรกิจมีความเท่าเทียม ไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ ก็ยังไม่เกิดและยังไม่เห็นแววจะเกิด ทุกวันนี้เราจึงเห็นข่าวรายใหญ่ซื้อกิจการอื่นๆเพิ่มขึ้น คำถามคือ เราจะดูแลรายเล็กๆให้แข่งขันกับรายใหญ่ได้อย่างไร ไม่มีเลย ลำพังมาตรการทางการเงินอย่างเดียว ดอกเบี้ยต่ำ มีรายเล็กรายไหนที่มีสิทธิ สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีต้องการที่สุดคือ โอกาสทางการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน แต่ยิ่งนานวันกลุ่มทุนขนาดใหญ่ยิ่งครอบครองธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ

เข้าปีที่ 3 ของรัฐบาล คสช. ผมยังไม่เห็นแสงสว่างจะเกิดขึ้นเลย นอกจากนี้การสร้างความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการแข่งขันเรื่องการส่งออกหรือขายสินค้า กฎเกณฑ์ต่างๆที่ข้าราชการจะเข้าไปดูแลเยอะแยะมากมายและหยุมหยิม ถามว่ากระทรวงพาณิชย์เคยแก้กฎระเบียบอะไรที่ทำให้การส่งออกคล่องตัวขึ้นบ้าง ผมกล้าพูดเลยว่าไม่มี ความเป็นธรรมในระบบการค้าข้าวระหว่างเกษตรกร โรงสี กับผู้ส่งออก แก้ไขหรือยัง พอสถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำทีก็เกิดกระแสช่วยชาวนา คำถามคือกลไกปรกติระหว่าง 3 ฝ่าย ชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก ภาครัฐโดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจเข้าไปจัดการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างนี้อย่างไร ไม่มีเลย คนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือเกษตรกร

ขอย้ำว่า พ.ร.บ.ควบคุมการค้าข้าวออกมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วันนี้กระทรวงพาณิชย์คิดจะปรับปรุงหรือไม่ นอกจากนโยบายในเชิงแต่งหน้าทาปากแล้วยังไม่เห็นการปฏิรูปใดๆทั้งสิ้น เพราะ คสช. เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำอีก 4 สาย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปชุด 1-2 ท่านไม่มีจินตนาการหรือไม่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องเหล่านี้เลย คนเหล่านี้เข้าไปทำแล้วมาบอกว่าปฏิรูป คนแค่หยิบมือเดียว แล้วยังเป็นคนที่ไม่มีความเห็นอกเห็นใจและไม่อยากเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างด้วยซ้ำไป

รัฐธรรมนูญใหม่นำไปสู่วิกฤต

การปฏิรูปการเมืองผมยิ่งมองไม่เห็น รัฐธรรมนูญฉบับที่จะประกาศใช้มีแนวโน้มจะนำไปสู่วิกฤตในอนาคตแน่นอน เพราะออกแบบให้กลุ่มทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจอย่าง ส.ว. ผมคิดว่าจะเป็นปัญหา หรือรัฐบาลจากการเลือกตั้งชุดต่อๆไปต้องทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งที่คนเขียนแผนไม่รู้อะไร คนซึ่งชาวบ้านไม่ได้เลือกแล้วมาบอกว่าอีก 20 ปีต้องทำแบบนี้ โดยชาวบ้านเขาก็ไม่ได้เห็นพ้องด้วย แต่รัฐบาลที่มาจากคนที่เขาเลือกต้องปฏิบัติตาม

ผมคิดว่าจะเกิดเป็นวิกฤตแน่ๆ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็บอกแล้วถ้าไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติถือว่าไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าเสถียรภาพของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะอยู่ไม่ได้ เพราะจะถูกร้องเรียนตลอดเวลา ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง หรืออะไรก็แล้วแต่ ว่าไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กลายเป็นว่ารัฐบาลที่มาจากความเห็นชอบของประชาชนจะไม่สามารถผลักดันนโยบายที่พี่น้องประชาชนต้องการได้ เราจะกลับไปสู่ประเทศที่ปกครองด้วยระบบราชการเหมือนเมื่อประมาณ 30-40 ปีก่อน ซึ่งถูกพิสูจน์มาแล้วว่าระบบราชการไม่มีความสามารถพอ

ปัจจุบันปัญหามันซับซ้อนมากขึ้น วันนี้เราสงบเรียบร้อยภายใต้การกดเอาไว้ แต่ทันทีที่จะต้องยกเลิกเรื่องเหล่านี้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามา สิ่งที่กวาดไว้ใต้พรมในช่วงนี้ก็จะค่อยๆโผล่ออกมา ผมคิดว่าความสงบที่บอกว่าเป็นคะแนนของรัฐบาลนี้ หลังจากการเลือกตั้งมันจะสวิงกลับ เพราะปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรมจะถูกเปิดออกมา เพราะฉะนั้นมันจะนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองค่อนข้างแน่นอน พอเปิดพรมมาปุ๊บ ประกอบกับกลไกทางรัฐธรรมนูญที่ออกแบบไว้ ไม่ว่าสถาบันไหนก็ต้องเกิดวิกฤตแน่นอน วันหน้าถ้าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกจดจำไว้ในประวัติศาสตร์ว่าท่านเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ทั้งหมดทั้งมวล

การปฏิรูปของ คสช. ถือว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ถ้าเราจำเหตุการณ์เมื่อ 2 ปีที่แล้วได้ หลายท่านเรียกว่าคนจำนวนมาก เราเปี่ยมไปด้วยความหวังว่าจะเกิดกระบวนการปฏิรูปที่จับต้องได้ แต่วันนี้เราตั้งคำถามว่าเราจับต้องอะไรได้บ้าง ผมมีคำถามสั้นๆว่า เราจับต้องเรื่องไหนที่เป็นการปฏิรูปในเชิงโครงสร้างจริงๆได้บ้าง หาลำบากมากเลย

สถานการณ์ก่อนการเลือกตั้ง

ผมคิดว่ากระบวนการการเลือกตั้งคงต้องเดินต่อไป เพราะ คสช. กำหนดโรดแม็พไว้อย่างนั้น แต่ที่น่าสนใจคือกระบวนการที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งจริงๆคือกฎหมายลูก เราจะพบว่า พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่ออกมา ทำให้มองไม่เห็นว่าการแข่งขันจะเกิดขึ้นได้ยังไง เพราะพรรคการเมืองขนาดเล็กเกิดไม่ได้ โตไม่ได้ คือคนจะตั้งพรรคการเมืองต้องจ่ายคนละ 2,000 บาท ผมถามว่าถ้าชนเผ่าผีตองเหลืองจะตั้งพรรคการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิของเขา เขาตั้งได้มั้ย ทำไมต้องจำกัดสิทธิเขา ถ้าคุณจะตั้งพรรค คุณต้องไปหาคนมาช่วยจ่ายคนละ 2,000 บาท หรือพี่น้องเกษตรกรรายย่อยอยากจะตั้งพรรคเพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้เขา

ถามว่าเงิน 2,000 บาท สำหรับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญท่านอาจเห็นว่าน้อย เพราะเบี้ยประชุมท่านเยอะ แต่ไม่ใช่สำหรับคนยากไร้ ถ้าอยากส่งเสริมให้คนมีส่วนร่วมทางการเมือง ตัดพรรคที่ผูกขาด ตัดนายทุน ตัดการครอบงำทางการเมือง เราต้องทำให้กระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมง่ายที่สุด แต่พอตั้งกติกาแบบนี้ พรรคขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะอยู่ได้ แล้วจะบ่นกันอีกว่าทำไมมีอยู่แค่ 2-3 พรรค

ผมถามว่าแล้วกลไกที่มีอยู่มีอะไรส่งเสริมให้ตั้งพรรคการเมืองได้ ไม่มีเลย เปรียบเทียบกับ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับที่แล้ว ผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองใช้ 15 คน พอจดทะเบียนเสร็จ ปีแรกก็ไปหาสมาชิกให้ครบ ถามว่ายากมั้ยก็ยากอยู่ แต่ยังกัดฟันกันไปได้ แต่ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับใหม่ แค่คิดจะตั้งพรรคต้องหาคนมาร่วมตั้งให้ได้ 500 คน แล้วต้องจ่ายคนละ 2,000 บาท มันแย่กว่าฉบับที่แล้ว ผมยกตัวอย่างกลุ่มเพศทางเลือก เขาอยากตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อนำเสนอปัญหาและเพื่อลงแข่งขันเลือกตั้ง มันจะเหลือแต่คนหน้าเดิมๆ

คำถามคือ 2 ปี 3 ปีที่ผ่านไปมันคืออะไร ผมเชื่อว่าร้อยละ 90 สมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่จะเข้ามาก็ยังเป็นหน้าเดิมๆ แล้ว 2-3 ปีที่ผ่านมาเราไปหยุดไว้มันเกิดประโยชน์อะไร ถ้าเรามองว่าพรรคขนาดใหญ่ถูกนายทุนครอบงำจนเป็นปัญหา แต่วันนี้เราส่งเสริมให้พรรคแบบนี้อยู่ได้ คนรุ่นใหม่ๆที่อยากจะตั้งพรรคการเมืองจึงเป็นไปไม่ได้ เท่ากับความหลากหลายทางเลือกของประชาชนก็น้อยลง แล้วเราเว้นวรรคการเมืองทำไม เพื่ออะไร ขณะที่เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก เรายอมเสียหายเพื่อเซตซีโร่กันใหม่วันนี้ แต่เรามาผิดทางแน่ๆ

การเลือกตั้ง

จะเร็วจะช้าปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 ก็ต้องมีการเลือกตั้ง แต่กว่าจะตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ยังไม่รู้ว่าจะมีอะไรที่ล่อแหลมในการไปตีความหรือเปล่าถ้าผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่ คสช. อยากเห็น ปัญหาว่าหลังการเลือกตั้งจะเกิดอะไรต่างหาก สิ่งที่ผมเห็นแน่ๆก่อนการเลือกตั้งคือประชาชนมีทางเลือกน้อยลง ก็จะนำไปสู่คำถามที่ 2 ว่าแล้วหลังการเลือกตั้งจะเกิดความไม่ลงตัวระหว่างผลการเลือกตั้งกับกติกาซึ่งผู้ที่ไม่ได้ลงเลือกตั้งเป็นคนเขียน ผมคิดว่าวิกฤตทางการเมืองยังไม่สิ้นสุด อาจจะเพิ่งเริ่มต้นหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยซ้ำไป

ส่วนรัฐบาลหลังการเลือกตั้งก็ต้องมีคนของ คสช. คนใดคนหนึ่ง สมมุติว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ผมเชื่อว่าจะเต็มไปด้วยการต่อรองเหมือน 30 กว่าปีที่แล้ว จะเกิดปัญหาแน่นอน ทุกวันนี้แม่น้ำ 4-5 สายที่ท่านตั้งไม่มีใครต่อรองกับท่าน แต่พอเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ท่านต้องเจอการต่อรองทุกทาง แม้ ส.ว. จะเป็นคนที่ คสช. ตั้ง แต่กิจกรรมบางอย่าง ส.ว. ก็เกี่ยวข้องไม่ได้ อย่างการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ กระบวนการทางการเมืองจะไม่เหมือนยุค สนช. แล้วสิ่งที่ท่านสร้างเอาไว้ก็ไม่เหมือนกัน แล้วยังต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติที่ระบุไว้เต็มไปหมด ท่านจะรู้ว่าอยู่ในฐานะที่ทำอะไรไม่ได้เลย เมื่อถึงวันนั้นผมสงสัยว่าจะต้องเกิดรัฐประหารอีกหรือเปล่า

วันนี้ยังไงก็ช้าไปแล้วที่จะกลับมาตั้งหลักกันใหม่ รัฐธรรมนูญก็ผ่านประชามติแล้ว กฎหมายลูกเปิดให้คนที่เห็นต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็น แล้วเอาความคิดเห็นเขาไปใช้หรือไม่ สิ่งที่พอจะแก้ไขปรับปรุงกันได้ช่วงเวลา 1 ปีที่เหลืออยู่นั้น คือต้องเปิดพื้นที่การต่อรองให้กับคนรากหญ้าเพิ่มมากขึ้น ถ้าท่านบอกว่าการต่อรองของคนรากหญ้าคือความวุ่นวาย การปลุกม็อบให้ชุมนุมเรียกร้อง ผมว่าวิธีคิดอย่างนี้มีแต่ทำให้ข้อเรียกร้องเหล่านี้ถูกปิดกั้น ซึ่งเป็นข้ออ้างให้ท่านยึดอำนาจด้วยซ้ำและจะถูกเปิดโปงในรัฐบาลปรกติ จะทำให้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะต้องจดจำท่านในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งทุกคนไม่ประสงค์จะให้ประวัติศาสตร์ทางการเมืองจดจำสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร


You must be logged in to post a comment Login