วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

วิวาทะโรงไฟฟ้าถ่านหิน / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On November 29, 2016

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหินกลับมาเป็นประเด็นใหม่ เนื่องจาก “เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน” ได้เคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ส่งตัวแทนทำกิจกรรมแบบอหิงสาคือ “นั่งภาวนากรวดน้ำ ตั้งจิตให้เป็นสมาธิ” บริเวณประตูทางเข้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาสัญญาว่าจะไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ และภาวนาให้ “คนไทยทั้งแผ่นดิน” ลุกขึ้นมาร่วมกันปกป้องกระบี่จากถ่านหิน

การเคลื่อนไหวนี้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเอ็นจีโอภาคใต้ โดยออกแถลงการณ์ยืนยันคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ว่า กระบี่เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และแหล่งท่องเที่ยวอันสวยงาม ไม่สมควรทำลายสิ่งเหล่านี้ด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโจมตีว่าความพยายามผลักดันมาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มุ่งจะเอื้อประโยชน์กลุ่มนายทุนโดยไม่คำนึงถึงการต่อต้านคัดค้านจากประชาชน

แต่การเคลื่อนไหวไม่ได้มีเพียงกระแสเดียว เพราะเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน มีกลุ่มที่เรียกว่า “กลุ่มเครือข่ายสนับสนุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่” นำโดยนายไพโรจน์ บุตรเผียน และสมาชิกประมาณ 10 คน เดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดกระบี่ พร้อมรายชื่อประชาชน 15,000 รายชื่อ เพื่อส่งถึงนายกรัฐมนตรีให้เร่งอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยอธิบายว่าพลังงานไฟฟ้าของภาคใต้ยังขาดแคลน การก่อสร้างโรงไฟฟ้าจึงมีความจำเป็น มิฉะนั้นจะเกิดวิกฤตด้านไฟฟ้าได้ โดยกลุ่มผู้สนับสนุนยืนยันว่าการสร้างโรงไฟฟ้าจะไม่มีผลในการทำลายสภาพแวดล้อม เพราะมีเทคโนโลยีที่ควบคุมได้

การเคลื่อนไหวให้สร้างโรงไฟฟ้าสอดคล้องกับการแถลงของนายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. เมื่อวันที่ 8 กันยายนว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินงานของคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อหาข้อสรุปเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งการต่อไป ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าอีกแห่งหนึ่งที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ก็เป็นไปตามแผนงาน และย้ำว่าทั้ง 2 โครงการมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้และของประเทศ

ข้อมูลของ กฟผ. ยังอธิบายว่าความต้องการไฟฟ้าในประเทศจะเพิ่มประมาณปีละ 4.2% ตามหลักทฤษฎีการผลิตไฟฟ้าในประเทศจำเป็นต้องผลิตให้เกินค่าการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละปีราว 15% ดังนั้น กฟผ. จึงต้องวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มให้เพียงพอสำหรับอนาคต ประการต่อมาคือ ขณะนี้การผลิตไฟฟ้าขึ้นอยู่กับเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติถึง 70% จึงจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงแบบอื่น รวมถึงถ่านหินที่เป็นเชื้อเพลิงสะอาดตามธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันสามารถใช้เทคโนโลยีทันสมัยที่เรียกว่า USC-Ultra Super Critical ควบคุมการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมได้ ดังนั้น การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงเป็นทางออกสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน

แต่กลุ่มที่ต่อต้านคัดค้านโต้แย้งว่า จากตัวเลขการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้สะท้อนว่ายังมีการผลิตไฟฟ้าสำรองล้นเกินมากพอที่จะใช้ได้ถึง พ.ศ. 2571 จึงไม่เกิดภาวะไฟฟ้าขาดแคลน ทั้งที่ตั้งโรงไฟฟ้าก็เป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำของปากน้ำกระบี่ที่เรียกว่า “แรมซ่าไซต์” ครอบคลุมสุสานหอย 45 ล้านปี และเป็นบริเวณบ้านของนกกว่า 221 ชนิด ปลากว่า 50 ชนิด รวมทั้งสิ่งมีชีวิตกว่า 10 ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ การสร้างโรงไฟฟ้าจะทำลายสภาพนิเวศเหล่านี้ทั้งหมด ประการต่อมา โรงไฟฟ้าถ่านหินที่สะอาดนั้นไม่มีในโลก เพราะเชื้อเพลิงฟอสซิลคือน้ำมันและถ่านหินเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่โลกปีละ 64,500 ล้านตัน และนำมาซึ่งก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ที่เป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนและฝนกรด

ฝ่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินยืนยันว่า ขณะนี้ทั่วโลกต่างเลิกและปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นจำนวนมาก เช่น ปี 2558 สหรัฐอเมริกาประกาศปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว 94 โรง โดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ให้เลิกใช้งบประมาณสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินในต่างประเทศ และให้รัฐบาลประเทศอื่นดำเนินการเช่นเดียวกัน โดยให้แก้ปัญหาด้วยการสร้างพลังงานหมุนเวียนทดแทนและใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับพม่า มาเลเซีย เวียดนาม จีน ต่างก็ประกาศไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน การดำเนินการของ กฟผ. ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวในเอเชียที่ประกาศจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ยืนยันว่า ประเทศไทยต้องขยายการผลิตไฟฟ้า และที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าที่ กฟผ. ดูแล เช่น โรงไฟฟ้าที่แม่เมาะและมาบตาพุด ไม่ได้ทำลายสภาพแวดล้อมอย่างมากมายตามที่กล่าวอ้าง ตรงกันข้ามกลับก่อให้เกิดผลดีในการจ้างงาน สนับสนุนเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม โดยยืนยันว่ากระบวนการเทคโนโลยีทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโรงงานที่สะอาดปลอดภัย หากจะผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น เช่น เขื่อน ก็จะมีการต่อต้านคัดค้านอีก การใช้พลังงานนิวเคลียร์ยิ่งเสี่ยงต่อการต่อต้านคัดค้านมาก การใช้แรงลมและแสงอาทิตย์ก็มีต้นทุนสูงมากและไม่มีความแน่นอน การใช้โซลาร์เซลล์ก็จะเกิดมลภาวะที่ยากแก่การทำลายเช่นกัน

ปัญหาการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ปัญหาหนึ่งที่กระทบต่อการสนับสนุนการเคลื่อนไหวคือ เอ็นจีโอภาคใต้แทบทั้งหมดเคยร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่ม กปปส. ที่ทำลายประชาธิปไตยและสนับสนุนให้เกิดการรัฐประหาร กรณีนี้จึงกลายเป็นวิบากกรรมที่เอ็นจีโอทั้งหลายต้องมาเคลื่อนไหวในเชิงขอร้องเผด็จการทหารให้รับฟัง ไม่สามารถเคลื่อนไหวคัดค้านเต็มรูปแบบภายใต้ระบอบประชาธิปไตยได้

นี่จึงเป็นเรื่องใหญ่มากกว่าที่จะเป็นเรื่องสภาพแวดล้อมล้วนๆ


You must be logged in to post a comment Login