วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

‘ผลงานชิ้นเอก’ที่น่าละอาย? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On October 27, 2016

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

ผมเป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เริ่มทำงานกับท่านตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย ดังนั้น ผมคิดว่าผมมีความชอบธรรมในการถ่ายทอดเรื่องต่างๆตลอดห้วงเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายกฯปูให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบอย่างถูกต้องและเป็นไปตามข้อเท็จจริง

ตลอดเวลา 2 ปี 9 เดือน 2 วัน ขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งอยู่นั้น ผมเชื่อว่าท่านเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยที่ทำงานหนักมากที่สุดคนหนึ่ง และถ้าเปรียบเทียบกันตามที่สื่อมวลชนหลายสำนักเคยวิพากษ์วิจารณ์ไว้อย่างตรงไปตรงมาก็เชื่อได้ว่าท่านเป็นนายกฯหญิงที่ทุ่มเททำงานหนักมากกว่านายกฯชายอีกหลายคนทั้งในอดีตและปัจจุบัน

หลังจากทหารออกมาปฏิวัติรัฐประหารรัฐบาลเลือกตั้งของท่านในปี 2557 สถานการณ์ของประเทศไทยดีขึ้นหรือเลวลงอย่างไรทุกท่านคงมองเห็นและตระหนักรู้ได้เป็นอย่างดี ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมานี้คงไม่มียุคไหนที่ประเทศไทยยืนอยู่ปริ่มๆใกล้ปากเหวได้มากขนาดนี้อีกแล้ว (แต่หลายคนฟันธงว่าเราตกลงไปแล้วครับ)

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายซึ่งตามปรกติมักจะมีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย แต่ประเทศไทยภายใต้การขับเคลื่อนของท่านผู้นำสูงสุดกลับทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลังทั้งหลายประสานเสียงไปในทำนองเดียวกันว่า เวลาแห่งความสุขกำลังเริ่มหมดไปอย่างรวดเร็ว และเศรษฐกิจไทยคงไม่มีทางฟื้นตัวได้ในเร็ววันอย่างแน่นอน

หลักการของเศรษฐกิจทุนนิยมนั้นอยู่ที่การเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรี แต่การแข่งขันย่อมต้องมีการควบคุมให้ทุกฝ่ายเล่นกันตามกติกา และผู้ควบคุมกติกาคือรัฐนั่นเอง หากปราศจากการควบคุมของรัฐ ทุนใหญ่ย่อมเข้าครอบงำทุนเล็กในที่สุด เปรียบเสมือนปลาใหญ่กินปลาเล็ก เมื่อปลาเล็กหมดบ่อแล้ว สุดท้ายปลาใหญ่ก็ต้องกินกันเอง เมื่อไม่เหลือใครให้กิน ปลาตัวสุดท้ายก็ต้องอดตายในที่สุด

ดังนั้น หน้าที่ของรัฐก็คือ การให้ Handicap หรือแต้มต่อแก่ผู้ประกอบการรายเล็กๆเพื่อไม่ให้ใครอดตาย ซึ่งคล้ายๆกับกีฬากอล์ฟที่นักกีฬาทุกคนสามารถเล่นร่วมกันได้ ไม่ว่าใครจะเก่งมากกว่าใครแค่ไหนก็ตาม เพราะนักกีฬาที่ฝีมือด้อยกว่าสามารถเล่นกับคนที่เก่งกว่าได้ด้วยการใช้แต้มต่อนั่นเอง ซึ่งกรณีนี้ก็เช่นเดียวกันกับผู้ประกอบการรายเล็กทั้งหลายที่รัฐต้องให้แต้มต่อด้วยการช่วยเหลือในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องเงินทุน ภาษี และมาตรการช่วยเหลือด้านอื่นๆ เพื่อให้วัฏจักรของเศรษฐกิจเคลื่อนตัวไปด้วยกันอย่างราบรื่นร่วมกันได้ทั้งระบบ

เรื่องการอุดหนุนรายได้ให้กับเกษตรกรก็เช่นกัน ภายใต้ระบอบทุนนิยมเกษตรกรถือว่าอยู่ด้านล่างของห่วงโซ่เศรษฐกิจ ดังนั้น การช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจึงเป็นแนวทางและหลักการที่นานาอารยประเทศดำเนินการกันเป็นเรื่องปรกติทั้งสิ้น

ทั้งนี้เพราะหากเกษตรกรมีรายได้ที่เหมาะสม สามารถลืมตาอ้าปากได้ตามอัตภาพ การจับจ่ายใช้สอยอย่างคล่องตัวของคนกลุ่มใหญ่ที่อยู่ด้านล่างของห่วงโซ่เหล่านี้ย่อมเป็นกำลังหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนวงล้อเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประเทศให้วิ่งไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วและมั่นคง ทุกคนสามารถเดินหน้าร่วมกันได้อย่างปลอดภัย

แต่การบริหารงานด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมาผมมั่นใจว่าผู้มีอำนาจในปัจจุบันอาจมีความเข้าใจเรื่อง “Capitalism” หรือระบอบทุนนิยมที่ผิดเพี้ยนไปจากสิ่งที่ผมอธิบายเอาไว้ข้างต้น ความไม่เข้าใจดังกล่าวนำมาซึ่งการยกเลิกการช่วยเหลือต่างๆแก่คนระดับล่าง โดยเฉพาะเกษตรกร ดังนั้น สภาพที่เกิดอยู่ในปัจจุบันคือ ทุนเก่าและทุนใหญ่เป็นทุนกลุ่มเดียวที่ยังรอดชีวิตอยู่ ในขณะที่ทุนเล็กและรายย่อยทยอยล้มหายตายจากไปมากขึ้นเรื่อยๆ

สภาพแบบนี้แหละที่กูรูทางเศรษฐกิจกลัวมากที่สุด เพราะเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะถดถอย การจะแก้ให้กลับมาเดินหน้าได้เหมือนเดิมต้องใช้เวลานาน และไม่รู้ว่าเมื่อไรเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นได้อีกครั้ง นอกจากนั้นการบังคับใช้กฎหมายพิเศษต่างๆเป็นว่าเล่นก็กลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำลายความน่าเชื่อถือเรื่องการเงินการลงทุนอย่างไม่น่าเชื่อ

ล่าสุดมีการออกคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายจากอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์เรื่องโครงการรับจำนำข้าวเป็นเงินสูงถึง 35,000 ล้านบาท คำสั่งดังกล่าวหากพิจารณากันอย่างละเอียดแล้วจะพบว่าไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด และไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นยังเข้าข่ายไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกด้วย

เพราะคณะรัฐมนตรีที่นำเอาบทบัญญัติในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในรัฐธรรมนูญไปจัดทำเป็นโครงการและแถลงต่อรัฐสภาแล้วนั้นย่อมเป็นทั้งเอกสิทธิ์และหน้าที่ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และถ้าดูตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแล้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังต้องได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการเสียก่อนจึงจะกำกับดูแลงานในกระทรวงได้

แต่งานนี้ไม่ใช่งานในกระทรวง ถือเป็นงานของสำนักนายกฯ ดังนั้น อย่าว่าแต่รัฐมนตรีช่วยจะข้ามหัวรัฐมนตรีว่าการไปรับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เซ็นคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ที่บริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเลย แม้นว่ารัฐมนตรีว่าการจะเซ็นเองท่านก็ไม่มีสิทธิเซ็นหรือมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยเซ็นคำสั่งทางปกครองในลักษณะนี้อยู่แล้ว

ส่วนท่านผู้นำสูงสุด “บิ๊กตู่” ก็ยิ่งแล้วใหญ่ ทำไมยอมทิ้งความเป็นผู้นำของท่านไปอย่างหน้าตาเฉยด้วยการไม่เซ็นคำสั่งเอง เรื่องนี้ไม่มีใครรู้จริง มีแต่ผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าที่ “นายกฯตู่” ไม่กล้าเซ็นเอง เพราะรู้ดีว่าถ้าขืนเซ็นไปนอกจากจะถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์แล้ว ยังจะถูกร้องขอให้รัฐบาลในอนาคตออกคำสั่งเรียกค่าชดใช้ความเสียหายจากทุกโครงการที่ใช้งบประมาณแผ่นดินในการดำเนินนโยบายสาธารณะได้เช่นเดียวกัน

เรื่องนี้นักกฎหมายหลายคนเห็นตรงกันว่า การออกคำสั่งทางปกครองเพื่อเรียกชดใช้ค่าเสียหายคดีโครงการรับจำนำข้าวนั้นไม่ชอบธรรม เนื่องจากการจะออกคำสั่งทางปกครองเช่นนี้ได้ เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องมีการทำละเมิดกับเอกชนและถูกตัดสินให้รัฐจ่ายค่าเสียหายให้เอกชนก่อน หลังจากนั้นจึงจะสามารถออกคำสั่งยึดทรัพย์ได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆก็ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่ง ซึ่งการทำเช่นนี้บ่งชี้ว่าเป็นการใช้กฎหมายขัดเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะวันนี้อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ถือเป็นผู้บริสุทธิ์ และคดีความทั้งหลายก็ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี ยังไม่มีคำตัดสินใดๆออกมาทั้งสิ้น

ผมนำเรื่องนี้มาบ่นให้ฟัง เพราะเชื่อว่าใครที่อยู่เบื้องหลังการดำเนินการครั้งนี้ย่อมพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าสิ่งนี้กระทำได้หรือไม่? แต่เมื่อท่านตัดสินใจกระทำลงไปแล้ว ไม่ว่าใครจะเป็นคนเซ็นหรือใครเป็นคนบงการก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นผลงานสำคัญของท่าน เพียงแต่จะเป็น “ผลงานชิ้นเอก” หรือ “ผลงานที่น่าละอาย” อนาคต (อันใกล้) เท่านั้นจะเป็นผู้ตัดสินท่านเอง


You must be logged in to post a comment Login