วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

ประชาชนคือเหยื่อ? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On October 13, 2016

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

เดือนตุลาคมถือเป็นเดือนสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะช่วงที่รัฐไทยต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้น เมื่อครั้งคอมมิวนิสต์แผ่อิทธิพลเข้ามาในอินโดจีน ประเทศไทยถือเป็นพื้นที่การต่อสู้ทางความคิดที่รุนแรงพื้นที่หนึ่ง ดังนั้น เรื่องราวต่างๆจึงเกิดขึ้นในแผ่นดินนี้มากมาย

สำหรับเหตุการณ์การเมืองครั้งสำคัญที่คนไทยอายุ 50 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่คงลืมได้ยากคือ วันมหาวิปโยคหรือวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์แต่อย่างใด แต่เป็นวันที่วีรชนคนไทยจำนวนมากต้องหลั่งเลือดและเสียชีวิตจากการต่อสู้ขับไล่ผู้นำเผด็จการทรราชทหารและเรียกร้องสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย

หลังจากทรราชทหารถูกขับไล่ออกไปได้ไม่นาน ใครจะเชื่อว่าถัดไปเพียงไม่กี่วันจะครบ 3 ปีพอดิบพอดีนั่นคือเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ภาพของวีรชนคนกล้าซึ่งต่อสู้กับเผด็จการทหารกลับถูกแทนที่ด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ เมื่อผู้มีอำนาจรัฐใช้กลไกการสื่อสารของรัฐทั้งหมดโฆษณาชวนเชื่อและปลุกระดมให้มวลชนกลุ่มต่างๆเกิดความเกลียดชังนิสิตนักศึกษาและปัญญาชนด้วยการยัดเยียดว่าเป็นพวกฝ่ายซ้ายหัวก้าวหน้า หรือยัดข้อหาคอมมิวนิสต์ให้นั่นเอง

ผลสมตามความมุ่งหมายของทางราชการ เมื่อมวลชนหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มนวพล กลุ่มกระทิงแดง ซึ่งเป็นกลุ่มของนักเรียนอาชีวะ กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ชมรมวิทยุเสรี ชมรมแม่บ้าน และกลุ่มมวลชนจัดตั้งอื่นๆ ยาตราทัพเข้าปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีตำรวจและทหารคอยสนับสนุนอยู่ห่างๆ หลังจากนั้นการสังหารหมู่นักศึกษาก็เกิดขึ้นในเวลาต่อมา

ทบทวนเหตุการณ์ไทยฆ่าไทยครั้งนั้นสักนิด เมื่อกลุ่มมวลชนฝ่ายต่อต้านนักศึกษารวมตัวกันในคืนวันที่ 5 ตุลาคมต่อเนื่องเช้าวันที่ 6 จากนั้นได้เคลื่อนเข้ามายังบริเวณท้องสนามหลวงด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเริ่มมีการปะทะกันด้วยอาวุธปืนขนาดเบา นายกรัฐมนตรีขณะนั้นประชุมหารือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ แต่ยังไม่สามารถสรุปเหตุการณ์ได้อย่างชัดเจน และไม่สามารถติดต่อผู้บริหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้

การประชุมคณะรัฐมนตรีเช้าวันนั้น รองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งยืนยันว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องจัดการกับขบวนการนักศึกษาอย่างเด็ดขาด สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ตึงเครียดและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เหตุร้ายเริ่มขึ้นตั้งแต่ตี 5 วันที่ 6 มีการยิงลูกระเบิดแบบเอ็ม 79 ซึ่งเป็นอาวุธสงครามในราชการทหารเท่านั้นเข้าไปกลางสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัย ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ต่อมาเวลาประมาณ 7 โมงเช้า ตำรวจตระเวนชายแดนปิดทางออกทั้งหมด นำรถบรรทุกพุ่งชนประตูใหญ่ มีการยิงตอบโต้ออกมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บ้าง แต่ก็เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ต่อมานักศึกษาเรียกร้องขอให้หยุดยิง แต่นายตำรวจที่รับผิดชอบการปฏิบัติการในครั้งนั้นปฏิเสธและอนุญาตให้ใช้อาวุธได้อย่างเสรีภายในมหาวิทยาลัย

จากนั้นการสนธิกำลังกันของเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มมวลชนจัดตั้งก็เข้าบดขยี้นักศึกษาที่มีแต่มือเปล่าอย่างโหดเหี้ยม วันนั้นนักศึกษาและผู้เข้าร่วมชุมนุมทั้งชายหญิงราว 1,000 คน ถูกบังคับให้ถอดเสื้อและนอนคว่ำลงกับพื้น บางคนถูกบังคับให้คลานไปตามพื้นและถูกกลุ่มมวลชนเตะต่อยรุมทำร้าย หลายคนถูกซ้อมจนเสียชีวิตต่อหน้าธารกำนัล มีการนำเอาศพผู้เสียชีวิตไปแขวนประจานกับต้นไม้ริมสนามหลวง เพื่อให้มวลชนเตะต่อยและถุยน้ำลายรด กระทำทารุณกรรมกับผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตอย่างเหี้ยมโหดโดยการเผาสดๆด้วยยางรถยนต์

นอกจากเผาทั้งเป็นแล้วยังกระทำทารุณกรรมกับศพอีกหลายรูปแบบ เช่น ตอกไม้ทิ่มศพ ใช้ไม้ทำอนาจารกับศพนักศึกษาหญิง ปัสสาวะรดศพ เป็นต้น เท่านั้นยังไม่หนำใจ จากหลักฐานต่างๆพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐยังปล่อยให้มวลชนจัดตั้งกลุ่มต่างๆสามารถกระทำกับนักศึกษาและผู้ร่วมชุมนุมได้ตามอำเภอใจ ทั้งการทำร้ายร่างกาย ตบตีและปล้นทรัพย์สินส่วนตัว ทำอนาจารกับผู้หญิงและข่มขืนกระทำชำเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการข่มขืนมีหลักฐานชัดเจน ไม่เพียงมวลชนกลุ่มกระทิงแดงที่ข่มขืนกระทำชำเรานักศึกษาหญิงทั้งที่มีชีวิตอยู่และเสียชีวิตเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่รัฐบางคนก็เข้าไปผสมโรงกระทำชำเราด้วย

เหตุการณ์อัปยศดังกล่าวจบลงด้วยผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการทั้งสิ้น 46 คน และบาดเจ็บ 167 คน แต่หลายคนเชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากกว่านี้ เพราะจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างไม่เป็นทางการสูงกว่า 100 คน โดยอ้างอิงแหล่งข้อมูลนิรนามจากสมาคมจงหัวแห่งประเทศไทยที่ดูแลเรื่องศพไร้ญาติและศพอนาถา เชื่อว่าญาติผู้เสียชีวิตส่วนหนึ่งยังมีความหวาดกลัวและไม่แน่ใจในความปลอดภัยของครอบครัวจึงไม่กล้าแสดงตัว ตลอดจนผู้บาดเจ็บส่วนหนึ่งก็หลบหนีเพราะหวั่นเกรงต่อการใช้อำนาจรัฐ ตัวเลขอย่างเป็นทางการจึงต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมากกว่าครึ่ง

ผมนำเรื่องเก่ามาบ่นให้ฟัง เพราะอยากให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้ย้อนทบทวนเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อ่านที่อายุน้อยกว่าผมและอาจเกิดไม่ทันเหตุการณ์ดังกล่าว ถ้าตามไปอ่านต่อจะพบว่าเหตุการณ์หลังจากการสังหารหมู่ในวันนั้นคือ “การรัฐประหาร” นั่นเอง โดยนายทหารที่ทำการยึดอำนาจให้เหตุผลความจำเป็นด้วยเหตุผลคลาสสิกธรรมดาที่สุดคือ เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

การรัฐประหารครั้งนั้นได้รับการต้อนรับและยอมรับอย่างกว้างขวาง เพราะประชาชนส่วนใหญ่เกลียดและกลัวคอมมิวนิสต์และไม่ชอบความวุ่นวาย ดังนั้น การปลุกระดมและวางแผนล่วงหน้าเพื่อจัดการกับฝ่ายนักศึกษาและประชาชนที่ถูกอุปโลกน์ว่าเป็นฝ่ายซ้ายจึงสำเร็จด้วยการใช้ความรุนแรงได้อย่างชอบธรรม ซึ่งต่อมาหลังจากการรัฐประหารมีการนำกำลังเข้าล้อมจับผู้ต้องสงสัยฝ่ายซ้ายอีกกว่า 3,000 คน มีการควบคุมสื่อมวลชนแขนงต่างๆอย่างเบ็ดเสร็จ และผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ถูกลงโทษประหารชีวิต

รัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งภายหลังการรัฐประหารมีนโยบายขวาจัด กวาดล้างเป้าหมายต่างๆทั้งในมหาวิทยาลัย สื่อมวลชนและองค์กรต้องสงสัยต่างๆรัฐบาลมีคำสั่งเด็ดขาดห้ามเผยแพร่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด และให้ยกเลิกการเรียนการสอนเรื่องการเมืองในสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งการดำเนินนโยบายรุนแรงเช่นนี้ส่งผลให้นักศึกษา พ่อค้า ประชาชนส่วนหนึ่งต้องหลบหนีเข้าป่า เพื่อไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในเวลาต่อมา

ผมบ่นเรื่องนี้เพื่อเชิญชวนให้ทุกท่านทบทวนประวัติศาสตร์การเมืองที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะเหตุการณ์ 6 ตุลาเท่านั้น ถ้ามีโอกาสอยากให้ทุกท่านลองศึกษาข้อเท็จจริงในแต่ละห้วงเวลาอย่างละเอียดแล้วจะเห็นว่าสถานการณ์การเมืองไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลงบริบทที่สำคัญเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะความขัดแย้งและความวุ่นวายถือเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมของชนชั้นปกครอง เหยื่อของความทรยศและการหลอกลวงที่เกิดขึ้นทุกครั้งก็คือประชาชนธรรมดาอย่างเราๆนั่นเอง


You must be logged in to post a comment Login