วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

6 ตุลาภายใต้สถานการณ์ใหม่ / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On October 10, 2016

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

แม้เวลาจะผ่านไปนานถึง 40 ปีแล้ว แต่ก็พบว่ากรณี 6 ตุลาคม 2519 มีเรื่องราวที่ยังไม่รู้อีกมาก เช่นเรื่องเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่ทราบจำนวนขณะนี้ 46 คน เป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่ 5 คน เป็นฝ่ายนักศึกษาประชาชน 41 คน ในจำนวนนี้มีผู้จมน้ำตาย 2 คน ศพถูกเผา 4 ศพ และคนหนึ่งผูกคอตายที่ห้องขังที่บางเขนในวันที่ 22 มกราคม 2520 ชื่อนายวันชาติ ศรีจันทร์สุข แต่ปัญหาความไม่รู้ที่ชัดเจนคือ การค้นพบล่าสุดว่าผู้ที่ถูกนำตัวมาแขวนคอที่สนามหลวงไม่ได้มีแค่ 2 คน แต่อาจมีถึง 4-5 คน

เหตุผลสำคัญของความไม่รู้จำนวนมากเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นลักษณะพิเศษทางประวัติศาสตร์ เพราะถ้าเปรียบเทียบกับกรณี 14 ตุลาคม 2516 แม้จะมีการปราบปรามประชาชนเช่นกัน แต่ฝ่ายนักศึกษาประชาชนได้รับชัยชนะ ผู้เสียชีวิตได้รับการยกย่องเป็นวีรชน 14 ตุลา เรื่องราวของแต่ละคนมีรายละเอียดชัดเจนและได้รับพระราชทานเพลิงศพที่สนามหลวง แต่กรณี 6 ตุลากลับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เริ่มจากข้อจำกัดของเหตุการณ์ เพราะการปราบปรามเข่นฆ่านักศึกษาเกิดขึ้นตอนครึ่งวันเช้า จากนั้นประมาณ 19.00 น. ก็เกิดการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน มีการประกาศกฎอัยการศึกและปิดหนังสือพิมพ์รายวันทั้งหมดเป็นเวลา 2 วัน หนังสือพิมพ์ออกได้ปรกติวันที่ 9 ตุลาคม แต่หนังสือพิมพ์ฝ่ายก้าวหน้า เช่น ประชาชาติ ประชาธิปไตย อธิปัตย์ ถูกปิดตลอดกาล ข่าวรายละเอียด 6 ตุลาจึงไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน

ตัวเลขขั้นต้นหลังเหตุการณ์รายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 42 คน และบาดเจ็บ 145 คน โดยไม่มีรายละเอียด จนถึง พ.ศ. 2539 เมื่อมีการรณรงค์จัดงานครบรอบ 20 ปี 6 ตุลา จึงมีการสรุปข้อมูลผู้เสียชีวิตที่ชัดเจนมากขึ้น รายชื่อและรายละเอียดของผู้เสียชีวิตที่สมบูรณ์ที่สุดขณะนี้บันทึกไว้ที่ภาคผนวก 3 ในหนังสือ “6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” ของธงชัย วินิจจะกูล

ในระยะ 40 ปี ข้อมูล 6 ตุลาหลายเรื่องมีความกระจ่างมากขึ้น ตั้งแต่เรื่องการปราบปรามนักศึกษาเช้าวันที่ 6 ตุลาคม แรกสุดหลังจากเหตุการณ์มีความเข้าใจว่าฝ่ายทหารและตำรวจร่วมมือกันปราบปราม ต่อมาเป็นที่ชัดเจนว่าฝ่ายทหารไม่ได้ร่วมลงมือ กองกำลังหลักที่ใช้ปราบปรามเข่นฆ่านักศึกษาคือตำรวจตระเวนชายแดนค่ายนเรศวร ต่อมาคือเรื่องการแต่งฟิล์ม เพราะยังมีความเข้าใจในฝ่ายคนเดือนตุลาว่า กรณี 6 ตุลาเริ่มต้นจากการใส่ร้ายป้ายสี โดยหนังสือพิมพ์ดาวสยามจงใจแต่งภาพละครแขวนคอให้ดูละม้ายคล้ายคลึงองค์รัชทายาทเพื่อสร้างสถานการณ์ แต่เมื่อพิจารณาฟิล์มต้นฉบับจะเห็นว่าไม่มีการแต่งภาพ เพียงแต่บรรณาธิการดาวสยามเลือกรูปที่มีความคล้ายที่สุดมาตีพิมพ์แล้วพาดหัวข่าวใส่ร้ายสร้างกระแส จึงนำมาสู่การปราบปราม

เรื่องที่ใหม่กว่านั้นที่เสนอใน “6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” คือข้อมูลจากฝ่ายกระทิงแดงว่าไม่ได้ร่วมลงมือในวันที่ 6 ตุลาคมเลย พวกเขาไปที่สนามหลวงและอยู่บริเวณใกล้เคียง แต่ไม่ได้ทำอะไรเพราะไม่ได้รับคำสั่ง หากข้อมูลเป็นจริง มวลชนฝ่ายขวาที่ลงมือสังหารและทารุณกรรมศพนักศึกษาวันนั้นคือ กลุ่มค้างคาวไทย กลุ่มประชาชนผู้รักชาติ กลุ่มพิทักษ์ไทย กลุ่มวิหคสายฟ้า และอื่นๆ ซึ่งส่วนมากเป็นมวลชนจัดตั้งกระจัดกระจาย หรืออาจเป็นทหารนอกเครื่องแบบที่ในระยะหลังรวมตัวเป็นองค์กร “อภิรักษ์จักรี”

สรุปว่าเมื่อถึงวันนี้ความพยายามที่จะหาข้อเท็จจริง 6 ตุลาให้ได้มากที่สุดก็ยังต้องทำต่อไป อย่างน้อยก็เป็นการรื้อฟื้นความเป็นมนุษย์ให้กับวีรชนผู้เสียชีวิตที่ยังไม่เคยได้รับการยอมรับว่าเป็น “วีรชน” อย่างเป็นทางการ

การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกรณี 6 ตุลาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2549 คือการที่เหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจมากขึ้น ก่อนหน้า พ.ศ. 2549 การจัดงาน 6 ตุลาแต่ละปีส่วนมากอยู่ในแวดวงคนเดือนตุลา นักกิจกรรม และนักศึกษาจำนวนหนึ่ง คนทั่วไปมีความรู้ค่อนข้างน้อย และมักเรียกรวมเหตุการณ์ 14 ตุลาและ 6 ตุลาว่า “กรณี 16 ตุลา”

กรณี 14 ตุลาคม 2516 เป็นที่รับรู้มากกว่า ถูกประกาศให้เป็น “14 ตุลาประชาธิปไตย” เมื่อ พ.ศ. 2544 มีเรื่องราวปรากฏในแบบเรียน และยังมีผู้นำคนเดือนตุลาที่มีบทบาททางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะเพลงเพื่อชีวิตที่เป็นผลผลิตของขบวนการเดือนตุลาโดยตรง ทำให้เกิดการสืบทอดเรื่องราวเดือนตุลาไปสู่คนรุ่นใหม่บ้าง

หลังจากรัฐประหาร 2549 เกิดปรากฏการณ์ใหม่คือ อดีตผู้นำนักศึกษาหลายคนและนักร้องเพลงเพื่อชีวิตทั้งหลายกลายเป็นฝ่ายเหลืองสลิ่มสนับสนุนรัฐประหารและต่อต้านประชาธิปไตย ยิ่งหลังการรัฐประหาร 2557 นักร้องเพลงเพื่อชีวิตคนสำคัญเช่นยืนยง โอภากุล ไปแต่งเพลงให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มวลชนฝ่ายประชาธิปไตยจึงตั้งคำถามกับกรณี 14 ตุลามากขึ้นว่า 14 ตุลาอาจเป็นเพียงชัยชนะของชนชั้นนำ ขบวนการนักศึกษาถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือ และอดีตผู้นำนักศึกษา กวีซีไรท์ นักเขียนการ์ตูนชื่อดัง และนักร้องเพลงเพื่อชีวิต อาจเป็นเพียงพวกฉวยโอกาส ไม่ได้มีจิตใจประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ตรงกันข้ามกับกรณี 6 ตุลาที่นักศึกษาประชาชนถูกเข่นฆ่าปราบปรามแล้วยังถูกจับกุมดำเนินคดีเช่นเดียวกับกรณีคนเสื้อแดงเมื่อ พ.ศ. 2553 ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงสามารถเข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลาได้ง่าย และมีอารมณ์ความรู้สึกร่วม เพราะมีความเป็นไปได้ด้วยซ้ำว่าผู้ก่อเหตุสังหารนักศึกษา 6 ตุลากับผู้อยู่เบื้องหลังการปราบปรามปี 2553 น่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน

งาน 6 ตุลาในระยะหลังจึงมีคนเสื้อแดงเข้าร่วมมากขึ้น และกลายเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญในการรำลึกของฝ่ายประชาชน เท่ากับว่าสถานการณ์ปัจจุบันทำให้ความพร่ามัวสับสนระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลาและ 6 ตุลาลดลง คำว่า “16 ตุลา” เริ่มหายไป ส่งผลอย่างยิ่งต่อการเฉลิมฉลองกรณี 14 ตุลา เพราะกลุ่มคนเสื้อแดงก็ไม่สนใจจะเข้าร่วม แต่ฝ่ายคนเสื้อเหลืองสลิ่มและ กปปส. ที่สนับสนุนการรัฐประหารและการเมืองกระแสหลักก็ไม่ได้เห็นความสำคัญและความหมายของกรณี 14 ตุลาประชาธิปไตย มายกย่องเชิดชูเป็นพิเศษในภาวะที่บ้านเมืองไทยยังไม่ต้องการประชาธิปไตย

ดังนั้น 6 ตุลาคมปีนี้ เราจึงต้องร่วมเฉลิมฉลอง 40 ปี 6 ตุลาตามวิถีของประชาชน


You must be logged in to post a comment Login