วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567

กับดักทางสติปัญญาแบบปานกลาง / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On October 3, 2016

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน กล่าวปาฐกถาเรื่อง “งานทางปัญญาในสังคมอับจนปัญญา” โดยชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยติดกับดักหลายลักษณะ ตั้งแต่ทางการเมืองในระยะ 40 ปีที่ผ่านมาคือกับดักกึ่งประชาธิปไตยกับเผด็จการทหาร ทางเศรษฐกิจยังอยู่ในกับดักประเทศรายได้ระดับปานกลาง แต่ปัญหาที่สำคัญคือ กับดักของระดับวัฒนธรรมทางปัญญาแบบปานกลาง หรือ “สังคมอับจนปัญญา” ซึ่งเห็นได้จากปรากฏการณ์หลายเรื่อง

ปาฐกถานี้ถือเป็นเรื่องน่าสนใจในการพิจารณาลักษณะทางวัฒนธรรมของสังคมไทย ผู้เขียนจึงอยากยกบางประเด็นมาเล่าและขยายความให้ชัดเจนมากขึ้น

ประเด็นแรก เริ่มต้นจากวัฒนธรรมการอ่านหนังสือของนักศึกษาไทย ธงชัยพบว่า นักศึกษาไทยจำนวนมากอ่านหนังสือแล้วจับใจความหลักไม่ได้ มักจะใส่ใจกับข้อเท็จจริงรูปธรรมที่เป็นส่วนประกอบ เมื่อจับใจความหลักไม่ได้ก็ไม่สามารถสร้างการวิพากษ์วิจารณ์ได้ นี่อาจไม่ใช่ข้ออ่อน เพราะลักษณะเช่นนี้สอดคล้องกับแนวทางการศึกษาไทยที่ไม่ต้องการสร้างวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์อำนาจกระแสหลัก จึงพบได้ว่าแม้สังคมไทยจะเป็นสังคมที่มีอัตราการรู้หนังสือสูงและมีข้อมูลในสังคมจำนวนมากจนข้อมูลท่วม แต่คุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับ “ปานกลาง” โรงเรียนจึงให้นักเรียนท่องอาขยานค่านิยม 12 ประการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้โดยไม่ต้องให้นักเรียนตั้งคำถามความชอบธรรมของการรัฐประหาร

ระบบการศึกษาทั้งหมดจึงอยู่ได้ โดยรองรับอำนาจนิยมที่ครอบงำสังคมไทย นำมาสู่การพิจารณามหาวิทยาลัยไทยในระบบมหาวิทยาลัยโลก ซึ่งพบว่าไม่ว่าจะมีการจัดระดับ ranking แบบไหน มหาวิทยาลัยไทยไม่เคยอยู่ในอันดับแถวหน้า อย่างมากก็ระดับปานกลางถึงจัดอันดับไม่ได้ ไม่ได้เป็นเพราะมหาวิทยาลัยไทยไม่อยากให้สถาบันของตนอยู่ในอันดับสูง แต่อาจเป็นเพราะสังคมไทยไม่มีเงื่อนไขกระตุ้นให้มีการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาให้มหาวิทยาลัยพ้นจากระดับการศึกษาแบบพอเพียง เพราะความเป็นมาของมหาวิทยาลัยไทยตั้งแต่แรกคือ การผลิตคนเข้ารับราชการ มหาวิทยาลัยไทยจึงอยู่ภายใต้กรอบของอำนาจราชการ แม้ต่อมาจะมีการผลิตเพื่อสนองตลาดมากขึ้น แต่ตลาดทุนนิยมไทยก็ยังอยู่ภายใต้รัฐราชการที่เป็นกรอบใหญ่ครอบงำอยู่

การศึกษาด้านมนุษยศาสตร์ในสังคมไทย เช่น ประวัติศาสตร์ ศาสนา วรรณคดี ปรัชญา เป็นต้น ก็เป็นมนุษยศาสตร์แบบความรู้ปานกลางที่รองรับองค์ความรู้กระแสหลักของไทย ความรู้ทางมนุษยศาสตร์ในต่างประเทศคือความรู้ที่เป็นเครื่องมือให้นักศึกษารู้ระบบเหตุผลและคิดเป็น โดยผ่านกระบวนการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ แต่มนุษยศาสตร์ไทยไม่ใช่เครื่องมือที่จะสร้างนักศึกษาให้มีความคิดวิพากษ์ แต่เป็นเครื่องมืออธิบายให้เกิดความภูมิใจในชาติและวัฒนธรรมที่เป็นกระแสหลักของสังคม ให้ยืนยันชื่นชมและหลงในความดีงามสูงส่งในเอกลักษณ์ของตนเอง มนุษยศาสตร์จึงต่อต้านและปฏิเสธแนวคิดแบบแหวกแนว สร้างคนให้คิดในกรอบสังคม ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ความคิดริเริ่มที่เอาโขนทศกัณฐ์มาโปรโมตการท่องเที่ยวถูกกระแสอนุรักษ์นิยมโจมตีอย่างหนักและถูกสั่งให้แก้ไข

สังคมไทยจึงไม่เคยมีนวนิยายทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณภาพดีแม้แต่เพียงหนึ่งเล่มที่อ้างว่าเป็นนวนิยายประวัติศาสตร์ มีแต่นิยายรัก ริษยา โรแมนติก ที่ยืมประวัติศาสตร์มาเป็นฉาก หรือหยิบเอาเรื่องในอดีตมากระตุ้นปลุกเร้าความเป็นชาติเพื่อปกป้องชาติจากศัตรูภายนอกหรือคนทรยศภายใน เพราะประวัติศาสตร์ถูกทำให้เป็นของศักดิ์สิทธิ์ ต้องมีคำอธิบายอันตายตัว รองรับอุดมการณ์ชาติและธรรมะแห่งการดำรงอยู่ของชนชั้นนำ สังคมไทยจึงไม่คุ้นเคยกับประวัติศาสตร์ที่เป็นผลผลิตของคำถาม การตีความ การให้เหตุผล การจินตนาการ ภายใต้โครงเรื่องและแนวคิดทางประวัติศาสตร์ที่เป็นแบบราชาชาตินิยม จึงยอมให้เกิดวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ หักล้างไม่ได้ การสร้างนวนิยายประวัติศาสตร์ที่มีการมองต่างมุม ที่มีจินตนาการเกินเลยจึงทำไม่ได้

เช่นเดียวกับสื่อมวลชนไทยซึ่งสะท้อนผู้บริโภค สื่อมวลชนไทยไม่มีคุณภาพเพราะสังคมไทยไม่มีเงื่อนไขให้พัฒนาคุณภาพ เป็นการอธิบายถึงวุฒิปัญญาของสังคมไทย เพราะถ้าทำหนังสือดีมีคุณภาพ วิพากษ์วิจารณ์ ตลาดก็ไม่ต้อนรับ สื่อมวลชนจึงต้องทำให้มีคุณภาพแบบปานกลาง เสนอข่าวการเมือง แต่ต้องมีเรื่องซุบซิบนินทา ข่าวอาชญากรรม และข่าวเร้าอารมณ์ เพื่อให้สอดคล้องสังคมแบบปานกลาง และที่มากกว่านั้น ในระยะแห่งความขัดแย้งทางการเมืองหลัง พ.ศ. 2549 สื่อมวลชนกลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง บางฉบับสร้างข่าวขึ้นเองเพื่อเป็นเครื่องมือการต่อสู้ทางการเมือง

ความเป็นสังคมภูมิปัญญาปานกลางยังสะท้อนออกแม้กระทั่งรายการแสดงตลกในสังคมไทย เพราะเรื่องล้อห้ามเล่นมีมากเกินไป ในต่างประเทศการแสดงตลกล้ออำนาจ ล้อสถาบันสังคมกระแสหลัก ล้อศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องปรกติธรรมดา สังคมชาวบ้านไทยในอดีตก็เคยมีเรื่องอย่าง “ศรีธนญชัย” ที่ล้ออำนาจและสังคม แต่ในปัจจุบันการล้อตลกเรื่องอำนาจ ล้อสถาบันหลักทางสังคม ล้อศาสนา เป็นสิ่งกระทำไม่ได้ เพราะข้อห้ามมีมากมาย การแสดงตลกจึงมีรูปแบบหลักคือ ล้อความโง่เซ่อ ความเชยของคนบ้านนอก คนกลุ่มน้อย คนชั้นต่ำ หรือเบี่ยงเบนจากภาวะปรกติ เช่น คนพิการ กะเทย คนจีนที่พูดไทยไม่ชัด เป็นต้น ซึ่งถือเป็นตลกคุณภาพต่ำ

นี่เป็นตัวอย่างหรืออาจเป็นดัชนีชี้วัดระดับวัฒนธรรมแบบปานกลางในสังคมไทย การไม่ส่งเสริมการสร้างความคิดที่แตกต่างทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมอับจนปัญญา แม้กระทั่งเรื่องแสนง่ายอื่นๆ เช่น การเมืองแบบประชาธิปไตย วัฒธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ และการยอมรับความแตกต่าง ก็ยังเป็นสิ่งที่ทำได้ยากในสังคมไทย การคิดนอกกรอบหรือการตั้งคำถามไม่ถูกเรื่องจะถูกลงโทษโดยสังคม และถูกลงโทษตามกฎหมายถึงขั้นติดคุกได้

แต่กระนั้นสังคมทุกสังคมก็ยังอยู่ภายใต้กระบวนการเปลี่ยนแปลง สังคมไทยก็จะต้องเปลี่ยนแปลง แต่อาจไม่รวดเร็วทันใจ ไม่เห็นผลในวันนี้ การอดทนและก้าวไปกับการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดีกว่าจะหยุดนิ่ง ถ้าเราทำได้เพียงเท่านี้ก็คงทำเท่านี้ และนี่เป็นทางออกเท่าที่เป็นไปได้


You must be logged in to post a comment Login