วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

สถาปนิกสยามฯจัดเวิร์คช็อปเพื่อป้อมมหากาฬ

On September 23, 2016

สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยกรรมาธิการสถาปนิกเพื่อสังคมและเมือง (ASA-CAN) และกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรม (ผ่านกิจกรรม Vernadoc) ร่วมกับ สถาบันอาศรมศิลป์, ตัวแทนจาก Mahakan Model, กลุ่มสถาปนิกและนักวางผังจิตอาสาภาคีนักวิชาการอื่นๆ อีกหลายสถาบันและสาขาวิชาชีพ จัดกิจกรรมเวิร์คช็อป ในหัวข้อ “Co-Create Design Workshop: Mahakan Living Museum | ออกแบบ สร้างป้อมฯ สร้างเมือง” เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาชุมชนประวัติศาสตร์ป้อมมหากาฬแบบมีส่วนร่วม ณ ชุมชนป้อมมหากาฬ เมื่อไม่นานมานี้
บรรยากาศการเปิดประตูบ้านของชุมชนป้อมมหากาฬเต็มไปด้วยความคึกคักและอบอุ่น ได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก ซึ่งมี นพ. พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  สมสุข บุญญะบัญชา  ประธานมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย  ธีรพล นิยม ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ สถาปัตยกรรม) พ.ศ.2556)   อัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ    สุดารา สุจฉายา นักวิชาการประวัติศาสตร์ ชมรมสยามทัศน์    อรศรี ศิลปี ประชาคมบางลำพู  ประพันธ์ นภาวงศ์ดี ภูมิสถาปนิก รวมถึงนักออกแบบ สถาปนิก ภูมิสถาปนิก นักผังเมือง นักโบราณคดี นักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ ฯลฯ ได้มาร่วมคิด ระดมสมอง แสดงความคิดเห็น และร่วมลงมือปฏิบัติการ ผ่านเวิร์กช็อป “Co-Create Design Workshop: Mahakan Living Museum | ออกแบบ สร้างป้อมฯ สร้างเมือง”  โดยมีวัตถุประสงค์ คือ การร่วมกันคิดเเละออกเเบบการจัดทำแผนเเม่บทในการพัฒนาชุมชนป้อมมหากาฬเเบบมีส่วนร่วม ทั้งนี้ยังได้เป็นการเเลกเปลี่ยนประสบการณ์เเละความเห็นของเเต่ละภาคี โดยกลุ่มผู้ดำเนินการจากหลากหลายวิชาชีพ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางและผู้ช่วยในการถ่ายทอดสิ่งที่คนในชุมชนอยากเล่าออกมาให้ผลลัพธ์เกิดประโยชน์ในแบบรูปธรรม เพื่อเป็นทางเลือกในการวางแผนพัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่ต่อไป ซึ่งในระยะเวลาของการทำกิจกรรมใน 2 วันนี้ได้กำหนดธีมคือ “ตรอก | บ้าน | ป้อม : เพลินมหากาฬ – เดิม ชม คุย ลุย กิน” ที่สื่อถึงการเพลิดเพลินกับการทำกิจกรรมภายในชุมชน อาทิเช่น เดินชมการเเสดง นิทรรศการ การพูดคุยกับคนในชุมชน ชิมอาหารอร่อย  ซึ่งกิจกรรมต่างๆ จะเชื่อมโยงกับการเเบ่งกลุ่มทำงานในกลุ่มย่อย ในเเต่ละกลุ่มมีการเเบ่งเเผนงานการดำเนินการในช่วงเวลา 3 ระยะ ได้แก่ สั้น-กลาง-ยาว โดยกลุ่มย่อยต่างๆ ได้เเบ่งตามประเด็น 6 ประเด็น
•    พิพิธภัณฑ์มีชีวิต  ระดมสมองร่วมกันระหว่างชาวชุมชน เครือข่ายชาวบ้าน และนักวิชาชีพต่างๆ เพื่อออกแบบเส้นทางเดินเยี่ยมชมบ้านโบราณ ที่มีเรื่องเล่าและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ นำเสนอแนวทางการปรับปรุงทางกายภาพเพื่อรองรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยชาวบ้านได้ลงแขกและลงมือปรับปรุงพื้นที่จริงในส่วนของเส้นทางการเดินหลัก มีการทำความสะอาด ประดับธงเพื่อความสวยงามและนำทาง รวมถึงการลงมือขัดและเคลือบผิวบ้านไม้โบราณด้วยอุปกรณ์ง่ายๆ อย่างกระดาษทรายและเทียนไข ในส่วนของแผนระยะยาวมีการเสนอปรับปรุงและเชื่อมโยงพื้นที่ในชุมชนให้เป็นพื้นที่สีเขียวที่สวยงามให้สาธารณะเข้ามาใช้สอยได้อย่างร่มรื่นและปลอดภัย
•    พื้นที่สาธารณะ  เริ่มจากการทำความสะอาดและปรับปรุงภูมิทัศน์ให้ชุมชน เส้นทางเดินหรือเส้นทางจักรยานในอนาคต การทำสัญลักษณ์นำทาง เเละป้ายเเผนที่ ไปจนถึงการปรับปรุงพื้นที่บ้านให้สะดวกในการสัญจร  การทำห้องน้ำสาธารณะ เเละดำเนินการวางระบบสายไฟใหม่

•    ที่อยู่อาศัย  มีการจัดฝึกอบรมเทคนิคการก่อสร้าง การให้ความรู้บ้านไม้โบราณ ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค เเละการจัดกระบวนการรักษาที่อยู่อาศัยทั้งบ้านไม้โบราณเเละที่พักอาศัยในเเต่ละหลัง

•    การจัดการเเละเศรษฐกิจสร้างสรรค์  เน้นการเก็บข้อมูลที่สามารถสร้างประโยชน์กับชุมชนได้ก็คือ ของดีในชุมชนในธีม “มหากาฬ มาหากิน” ที่ทำเเผนที่ร้านค้าต่างๆ ภายในชุมชน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชน สร้างรายได้ให้เเก่ชุมชนอีกด้วย เเละยังมีการจัดทำกองทุนโดยหักจากค่าอาหารที่ขายในชุมชนส่วนหนึ่งเพื่อเป็นทุนให้คนในชุมชนที่อยากจะจัดตั้งทำอาชีพต่อไป

•    เเผนพัฒนาย่านเมืองเก่า  การทำงานของกลุ่มนี้จะเน้นไปที่การมองถึงประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับผลกระทบของการพัฒนาเมืองที่ทำให้เกิดการไล่รื้อชุมชน ขาดวิถีชีวิตของผู้คน ขาดการสืบทอดทางวัฒนธรรม เเละคิดวิธีเเก้ปัญหา  คือ มีการจัดสร้างกระบวนการบริหารในชุมชน เช่น การจัดกระบวนการเรียนรู้ระหว่างชุมชน การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงเศรษฐกิจเเละวัฒนธรรม

•    เด็กเเละเยาวชน กลุ่มเยาวชนภายในชุมชนที่รวมมือกันสะท้อนมุมมองในเเบบฉบับของตัวเอง ผ่านการทำกิจกรรม “ถ่ายภาพ” เพื่อสื่อสารความเป็นชุมชนป้อมมหากาฬ รวมไปถึงยังมีการวางเเผนการจัดตั้งกองทุนสำหรับเด็กเพื่อใช้ประโยชน์ในการทำกิจกรรมภายในชุมชน เช่น จัดเก็บรายได้ของเยาวชนที่ได้มาจากการรำเพื่อต่อยอดต่อไป หรือมีการจัดอบรมมัคคุเทศก์น้อย เเละสะท้อนถึงความต้องการของเยาวชน  ที่อยากมีพื้นที่ทำกิจกรรมภายในชุมชนอีกด้วย
จากกลุ่มที่เเบ่งประเด็นออกมาใน Workshop ครั้งนี้ มุ่งหวังว่าจะสามารถนำไปประยุกต์ หรือเป็นต้นเเบบในการนำเสนอเเนวทางให้กับพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ในขอบเขตในการพัฒนาที่อยู่อาศัยในย่านเกาะรัตนโกสินทร์เเละชุมชนต่างๆ ต่อไป ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่น่าสนใจในชุมชนหลังกำเเพงเมืองบนเกาะรัตนโกสินทร์ เเละพร้อมที่จะมีผู้มีความสนใจมาช่วยกันทำให้ชุมชนป้อมมหากาฬเเห่งนี้เป็น Model ของการทำงานร่วมกัน เป็นเเม่เเบบของชุมชนที่เข้มเเข็งเพื่อทำให้เป็นพื้นที่ของชุมชนเก่าเเห่งนี้ ที่เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ สามารถเป็นพื้นที่สาธารณะร่วมกันได้ในเเบบ “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต” ต่อไป


You must be logged in to post a comment Login