วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

เนียน..ไร้ที่ติ / โดย ทีมข่าวการเมือง

On September 19, 2016

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

วันที่ 12 กันยายน 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ยกเลิกใช้ศาลทหารสำหรับความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557, 38/2557 และ 50/2557 ให้ไปอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม แต่ยังให้เจ้าพนักงานมีอำนาจในการจับกุม ตรวจค้น และควบคุมตัวเหมือนเดิม

ส่วนคดีที่ยังค้างอยู่ที่ศาลทหาร ไม่ว่าจะเป็นคดีที่เกิดขึ้นก่อนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับนี้ และคดีที่เป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร ก็ให้อยู่ในการพิจารณาคดีของศาลทหารเหมือนเดิม

ความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 เช่น ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 112

ความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 ถึงมาตรา 118 ยกเว้นการกระทำผิดซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงและความผิดตามประกาศหรือคำสั่ง คสช.

คำสั่งดังกล่าวอ้างว่า สถานการณ์บ้านเมืองในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาสงบเรียบร้อยเป็นลําดับ ประชาชนมีเจตนารมณ์และให้ความร่วมมือที่ดีในการนําประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การปฏิรูปประเทศตามขั้นตอน และสร้างความสามัคคีปรองดองที่ถูกต้อง เป็นธรรม ดังเห็นได้จากกระบวนการลงประชามติที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และร่างรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากประชาชนด้วยมติท่วมท้น จึงสมควรผ่อนคลายมาตรการต่างๆลงอีก เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้ใช้สิทธิปฏิบัติหน้าที่ของตน และได้รับความคุ้มครองตามกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งกําลังจะประกาศใช้ในเร็ววัน ตลอดจนตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ได้มาจากการกดดันของนานาชาติ แต่ได้พูดกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก่อนจะไปประชุมที่จีนและลาวแล้ว

“กฎหมายที่เราออกมาวันนี้เขารับทราบหมด เขาก็ยินดี เพราะไม่เคยออกได้ สิ่งนี้คือความเป็นสากล กติกาการค้าการลงทุนต่างๆ ติดอยู่อย่างเดียวคือผมไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ผมก็ยอมรับในตัวผมเองอยู่แล้ว แต่ผมถามว่าแล้วทำเพื่อใคร ผมก็ทำเพื่อคนไทย และเพื่อประเทศของท่านทุกประเทศด้วย เพราะต้องมาค้าขายลงทุนกัน ถ้าไม่ทำวันนี้จะทำวันไหน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประวิตรระบุว่า หากเกิดความวุ่นวายขึ้นก็สามารถออกประกาศให้มีผลบังคับใช้ใหม่ได้ และ คสช. ยังมีมาตรา 44 แก้ไขความขัดแย้งอยู่

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ยอมรับว่า คำสั่ง คสช. เป็นการผ่อนบรรยากาศภายในประเทศให้เป็นสากลมากขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือที่จะทำให้เห็นว่าประเทศไทยได้ให้ความร่วมมือในทุกๆภาคส่วนและนานาประเทศ แต่หัวหน้า คสช. ก็สามารถพิจารณานำกลับมาใช้ใหม่ได้หากมีเหตุการณ์ที่ส่อว่าจะไม่เรียบร้อย

ประเทศเป็นของเล่นทหาร?

นายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวผ่านเฟซบุ๊คกรณี พล.อ.ประวิตรที่ระบุว่าหากสถานการณ์บ้านเมืองไม่สงบก็สามารถนำศาลทหารมาใช้ใหม่ได้ว่า “ประเทศนี้เป็นของเล่นของทหารหรือครับ” ทั้งยังกล่าวถึงคดีที่ขึ้นศาลทหารกลับไปขึ้นศาลพลเรือนว่า ไม่มีผลกับคดีเดิมที่เคยอยู่ในศาลทหารเลย ส่วนคดีที่ยังไม่อยู่ในศาลทหาร แต่การกระทำความผิดเกิดขึ้นช่วงคำสั่งที่ 37-38 บังคับใช้ หากถูกจับก็ต้องไปขึ้นศาลทหารเช่นเดิม โดยคนที่ไม่ต้องไปขึ้นศาลทหารคือผู้ที่กระทำความผิดนับแต่วันที่ 12 กันยายนเป็นต้นไป ดังนั้น ที่หลายคนบอกว่าสถานการณ์คลี่คลาย คสช. เริ่มผ่อนคลายนั้น จึงไม่เป็นความจริง ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ทหารใช้อำนาจตามคำสั่ง คสช. จับกุมคนก็ยังไม่ถูกยกเลิก จึงไม่ควรดีใจว่าคำสั่งดังกล่าวจะทำให้ทุกคนดีขึ้น และหากมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้นก็จะมีทหารไปหาอีกเช่นเดิม

นายอานนท์ย้ำว่า ทุกวันนี้ยังมีคดีที่ต้องขึ้นศาลทหารอีกหลายคดี สิ่งที่ถูกต้องคือต้องโอนคดีที่พิจารณาโดยศาลทหารทุกคดีตอนนี้ไปยังศาลพลเรือน ส่วนคดีที่ตัดสินไปแล้วก็ให้มีการชำระใหม่โดยศาลที่มีความชอบธรรมคือศาลพลเรือน ซึ่งคำสั่งล่าสุดไม่ได้เขียนเช่นนั้น

ลดแรงกดดันจากนานาชาติ

อย่างไรก็ตาม แม้คำสั่งของ คสช. ครั้งนี้คาดหวังว่าจะทำให้นานาชาติลดแรงกดดันปัญหาสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนในไทยระดับหนึ่ง แต่ก็เชื่อว่าจะยังคงระดับจับตามองต่อไปตราบที่ยังอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารและยังไม่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ซึ่งย้อนกลับครั้งการประชุมสหประชาชาติที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการนำเสนอรายงานการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย (Universal Periodic Review of Thailand’s Human Rights Situation หรือ UPR) นั้น 22 ประเทศในที่ประชุมได้แสดงความวิตกกังวลอย่างมากเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนในไทยว่าเสื่อมทรามลงจนถึงระดับน่าวิตกนับแต่รัฐประหาร ทั้งได้จัดทำข้อเสนอแนะต่างๆต่อรัฐบาลไทยในประเด็นสิทธิมนุษยชน

ล่าสุดนายบัน คี-มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ย้ำเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนกับ พล.อ.ประยุทธ์ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ด้านนายโลรอง มิลลัน รักษาการผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCR) ก็ได้ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีที่รัฐบาลไทยยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารว่า เป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศไทย และช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้กับหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล และปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่ UNOHCR ขอเรียกร้องให้คำสั่งดังกล่าวมีผลครอบคลุมย้อนหลังถึงพลเรือนทุกคนที่ถูกดำเนินคดีให้มาขึ้นศาลพลเรือนปรกติ ทั้งเรียกร้องให้ระงับคำสั่งใดๆที่จะเพิ่มอำนาจให้ทหารมีเช่นเดียวกับตำรวจ ยกเลิกการดำเนินคดีทุกกรณีต่อบุคคลที่ถูกจับกุมและตั้งข้อหาจากการใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออก การแสดงความเห็น รวมถึงการชุมนุม

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเผยแพร่ผลการทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยตามกลไก UPR กล่าวว่า เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาไทยได้รับข้อเสนอจากประเทศสมาชิกสหประชาชาติรวม 249 ข้อ ซึ่งไทยตอบรับทันที 181 ข้อ และนำกลับมาพิจารณาเพิ่มเติม 68 ข้อ เฉพาะคำสั่งมาตรา 44 และการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารมีกว่า 10 ประเทศที่พูดถึง ซึ่งกระบวนการของสหประชาชาติต้องใช้ข้อความที่เขาให้เรามาอย่างเคร่งครัด หมายความว่าเขาพูดว่ายกเลิกก็ต้องยกเลิก ถ้าเราเห็นว่ายกเลิกไม่ได้ เรายังคงมีค้างอยู่ เราก็รับข้อเสนอนั้นไม่ได้และจะไม่มีการเจรจาอีก

ด้าน น.ส.พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเอเชียตะวันออกฟอรั่มเอเชีย (FORUM ASIA) เชื่อว่า แรงจูงใจสำคัญในการออกคำสั่งของ คสช. เพราะต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในเวทีโลก เนื่องจากวันที่ 23 กันยายนนี้ ไทยจะต้องรายงานความคืบหน้าเรื่องสิทธิมนุษยชนในเวที UPR กับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่เป็นการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ ซึ่งประเทศไทยจะต้องตอบเรื่องข้อเสนอแนะที่ค้างอยู่ 68 ข้อ โดยส่วนใหญ่ให้ยกเลิกการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร ให้ยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งตัวแทนรัฐบาลไทยได้รับว่าจะพัฒนาสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออก โดยประเทศที่ให้ไทยยกเลิกการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ กรีซ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรีย เบลเยียม แคนาดา คอสตาริกา เช็ก เยอรมนี และลักเซมเบิร์ก

2 ปี คดีศาลทหาร 1,546 คดี

ข้อมูลจากกรมพระธรรมนูญระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึง 31 พฤษภาคม 2559 มีคดีของพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารจำนวน 1,546 คดี คิดเป็นจำนวนผู้ต้องหาและจำเลยรวม 1,811 คน เป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี 517 คดี และคดีที่ศาลพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้ว 1,029 คดี แบ่งเป็น คดีฝ่าฝืนคำสั่งหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติจำนวน 44 คดี คดีมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา (หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ) จำนวน 63 คดี คดีมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา (ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องฯ) จำนวน 5 คดี คดีตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ. 2490 จำนวน 1,434 คดี

เมื่อเทียบกับสถิติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับข้อมูลสถิติคดีช่วงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557-30 กันยายน 2558 ในครั้งแรกมีพลเรือนซึ่งถูกดำเนินคดีมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญาในศาลมณฑลทหารบก 2 ราย ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลล่าสุดที่ได้รับว่าไม่มีคดีมาตรา 116 ในศาลมณฑลทหารบกเลย

นอกจากนี้สถิติคดีมาตรา 116 ในศาลทหารกรุงเทพ 5 คดี ยังน้อยกว่าความเป็นจริง ซึ่งศูนย์ทนายความฯทราบว่ามีคดีอย่างน้อย 6 คดีคือ คดีนายจาตุรนต์ ฉายแสง คดีนายสมบัติ บุญงามอนงค์ คดีพลเมืองรุกเดินของนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ คดีมอบดอกไม้ให้นายพันธ์ศักดิ์ของลุงปรีชา คดีของรินดา พรศิริพิทักษ์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊คหมิ่นประมาท พล.อ.ประยุทธ์โอนหมื่นล้าน และยังมีอีกหลายคดีที่อยู่ในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาของอัยการทหาร เช่น คดี 14 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ คดี 8 แอดมินเพจเรารักประยุทธ์ เป็นต้น

ต้องยกเลิกคดีสิทธิเสรีภาพทั้งหมด

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้กล่าวถึงการดำเนินคดีของศาลทหารในกรุงเทพฯและตามภูมิภาคต่างๆว่า มีวิธีพิจารณาคดีและเงื่อนไขการอำนวยความยุติธรรมต่างกับศาลพลเรือน ปรกติศาลทหารมีคดีที่ต้องพิจารณาไม่มาก ทั้งตุลาการและเจ้าหน้าที่ไม่เคยมีประสบการณ์แบกรับคดีที่มีปริมาณเยอะ และคดีที่มีความซับซ้อนทางพยานหลักฐานและการตีความกฎหมาย

เพราะฉะนั้นข้ออ้างออกประกาศภายใต้มาตรา 44 ที่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองรอบ 2 ปี สงบเรียบร้อยเป็นลําดับ ประชาชนให้ความร่วมมือเพื่อนําประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ยิ่งเฉพาะบรรยากาศประชามติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ร่างรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากประชาชนด้วยมติท่วมท้น จึงสมควรผ่อนคลายมาตรการต่างๆลง เป็นข้ออ้างที่ดูไม่เกี่ยวนักกับการเอาพลเรือนจำนวนหนึ่งไปแขวนอยู่กับกระบวนการยุติธรรมภายใต้ศาลทหารเมื่อ 2 ปีล่วงมานี้ และดูจะทำให้สังคมไทยเริ่มชินชากับการบังคับใช้มาตรา 44 แบบครอบจักรวาลไปในทุกขณะ

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ซึ่งเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับคดีสิทธิและเสรีภาพของ iLaw โดยเฉพาะมาตรา 112 ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา คสช. ไม่สนใจข้อเรียกร้องยกเลิกการดำเนินคดีในศาลทหารจากหลายหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศเลย แต่ในคำสั่งล่าสุดระบุเหตุผลว่าเพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิเสรีภาพ แสดงว่า คสช. ยอมรับว่าการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารขัดกับหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ คสช. บอกว่าศาลทหารไม่ต่างจากศาลยุติธรรมและเคารพหลักสิทธิเสรีภาพจึงเป็นเพียงคำโกหก ขณะนี้มีคดีทางการเมืองจำนวนมากที่ไม่ควรเป็นคดีตั้งแต่แรก โดยเฉพาะการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสงบ จึงต้องยกเลิกคดีทั้งหมด ไม่ใช่โอนคดีไปยังศาลยุติธรรม

นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) เรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งที่ 3/2558 และ 13/2559 เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏจะเห็นได้ว่า ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ทหารจะเป็นผู้นำตำรวจหรือเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนของหน่วยงานเข้าจู่โจมบ้านเรือนประชาชนเพื่อตรวจค้นจับกุมโดยไม่มีหมายของศาล แล้วยังนำตัวไปคุมขังในสถานที่ที่มักจะเป็นค่ายทหาร โดยเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวผู้ถูกตรวจค้นจับกุมไปสอบสวนในสถานที่ปิด ทางเจ้าหน้าที่ใช้คำว่าเชิญตัวไปซักถาม แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีใครรับทราบนอกจากตัวเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้ถูกสอบสวน แล้วนำข้อมูลที่ได้มาเรียบเรียงเป็นข้อเท็จจริงตามที่ต้องการ หรือมีมูลพอในการตั้งข้อหา จะพบว่าบางรายมีข้อเท็จจริงพาดพิงเกี่ยวข้องเล็กน้อย โดยการกระทำของผู้ถูกคุมตัวไม่ครบองค์ประกอบความผิดทางอาญา แต่ถูกตั้งข้อหาหนักอย่างไม่สมเหตุผล

นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ แถลงการณ์ให้ พล.อ.ประยุทธ์แสดงความจริงใจในการหยุดดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหารด้วยการยุติคดีต่างๆเสีย หรือโอนไปให้ศาลปรกติดำเนินการต่อทั้งหมด ซึ่งจะเป็นก้าวที่มีความหมายสำคัญในแสดงถึงการเคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และคืนสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยพลเรือน

เลิกโกหกคนไทยและชาวโลก

“ใบตองแห้ง” คอลัมนิสต์ชื่อดัง ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค Atukkit Sawangsuk ว่า มาตรา 44 ยกเลิกศาลทหารในทางหลักกฎหมายจะฮาโปกมาก เพราะไม่ยกเลิกอำนาจเอาตัวไปกัก 7 วันตามประกาศ คสช. ลองนึกภาพแอดมินเพจเรารักประยุทธ์โดนทหารบุกบ้าน ปีนรั้ว เอาตัวไปกักในค่าย 7 วัน ตรวจคอมพ์ ตั้งข้อหาความผิดฐานล้อเลียนทั่นพู่นำ=ความผิดความมั่นคงมาตรา 116 บางคนแถม 112 แต่พอครบ 7 วันแล้วเอาไปส่งตำรวจ ขอหมายศาลแล้วส่งอัยการฟ้องศาลยุติธรรม

“ขรรมว่ะ มันไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้น แต่เอาศาลยุติธรรมมาใช้ตอนปลายเพื่อให้ดูว่าชอบธรรม (ถ้าทนายโต้แย้งว่าการจับกุมไม่เป็นไปตามกระบวนการก็ไม่ได้อีก ศาลจะบอกว่าศาลต้องยึดตามประกาศ คสช.)” ใบตองแห้งทิ้งท้ายความเห็น

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค (13 กันยายน 2559) ว่า “เลิกโกหกคนไทยและชาวโลก” โดยระบุว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ยกเลิกเอาพลเรือนไปขึ้นศาลทหาร โดยอ้างว่าต้องการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความคุ้มครองตามกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าเป็นการหลอกลวงคนไทยและชาวโลก เพราะคุ้มครองเฉพาะความผิดที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่คำสั่งนี้มีผลบังคับ

ส่วนคดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ทุกคดียังคงต้องขึ้นศาลทหารต่อไป จึงเป็นเพียงการแก้ผ้าเอาหน้ารอดของ คสช. เนื่องจากประเทศไทยจะต้องเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 13-30 กันยายนนี้ หาก คสช. มีความจริงใจตามที่อวดอ้างไว้ในคำสั่งดังกล่าวจริงก็ควรจะยกเลิกบรรดาประกาศหรือคำสั่งที่ขัดต่อหลักนิติธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้แก่ ประกาศหรือคำสั่งที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร การให้ทหารมีอำนาจจับค้นและควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ต้องมีหมายตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 รวมถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวในทางเป็นผลร้ายกับประชาชน เนื่องจากประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ รวมถึงมีกฎหมายและศาลยุติธรรมที่สามารถคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีประกาศหรือคำสั่ง คสช. หรือเอาพลเรือนไปขึ้นศาลทหารอีก

เลิกหลอกลวงคนไทยและชาวโลกเสียที เพราะไม่มีใครเชื่อพวกคุณ ดังจะเห็นจากแถลงการณ์ของ Human Rights Watch ที่ว่า “No one should be fooled by the Thai junta’s sleight of hand just before the Human Rights Council begins meeting in Geneva.”

เนียน..ไร้ที่ติ

อาจจะดูเหมือนว่าคําสั่ง คสช. ที่ให้ยุติการดําเนินคดีพลเรือนในศาลทหารถือเป็นความก้าวหน้าที่น่ายินดีระดับหนึ่ง แต่เมื่อมองลึกลงไปในรายละเอียดแล้ว หาก คสช. มีความจริงใจและต้องการเห็นความปรองดองและความสงบสุขอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงสร้างภาพลักษณ์อย่างที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ก็ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงการเลิกใช้อำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งเป็นมาตราที่มีอำนาจล้นเกินอำนาจทุกอย่าง อำนาจล้นเหลือจนเหนือแม้แต่อำนาจศาล

อีกประเด็นก็คือ การที่ยังคงให้อำนาจ “เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม” โดยให้ข้าราชการทหารซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรีขึ้นไป และ “ผู้ช่วยเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม” โดยให้ข้าราชการทหารซึ่งมียศต่ำกว่าชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรีลงมา รวมถึงทหารประจําการ ทหารกองประจําการ และอาสาสมัครทหารพราน ซึ่งหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. แต่งตั้งให้ปฏิบัติการตาม ยังคงมีอำนาจหน้าที่อยู่เช่นเดิม หมายความว่า การที่ คสช. ออกคำสั่งมาตรา 44 ผ่อนปรนยกเลิกพลเรือนขึ้นศาลทหารให้ไปเป็นศาลยุติธรรม แต่ยังคงให้อำนาจเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในการเข้าปราบปรามเช่นเดิมจึงเหมือนไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงนั่นเอง

แม้ คสช. จะให้เหตุผลว่าจะใช้เท่าที่จำเป็นเฉพาะในเรื่องของความมั่นคงจริงๆเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง คสช. หรือเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามที่ได้รับการสถาปนาอำนาจจากมาตรา 44 ก็ยัง “ตีความ” คำว่า “ความมั่นคง” ได้อย่างหลากหลายตามทัศนคติของตน และดูเหมือนว่าข้อครหาที่ว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหรือฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยมากกว่าหรือไม่นั้นก็จะยังมีอยู่หากยังใช้อำนาจที่ไม่ปรกติเช่นนี้ต่อไป เพราะตั้งแต่รัฐประหาร 2557 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีพลเรือนเกือบ 2,000 คน ที่ต้องต่อสู้ภายใต้กระบวนการและการพิจารณาคดีของศาลทหารที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมสากลและหลักสิทธิเสรีภาพ ที่สำคัญพลเรือนจำนวนมากถูกดำเนินคดีเพียงเพราะใช้สิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสันติ

คำสั่ง คสช. ยกเลิกพลเรือนขึ้นศาลทหารที่ดูเหมือน “(แนบ)เนียน..ไร้ที่ติ” เพียงใดก็ตาม แต่การหมกเม็ดอำนาจพิสดารก็ยังไม่อาจทำให้ภาพลักษณ์ของ คสช. เปลี่ยนแปลงในทางดีได้ในเวทีโลก เพราะตราบใดที่กระบวนการยุติธรรมยังอยู่ภายใต้รถถังและกระบอกปืน การเล่นปาหี่ด้วยถ้อยคำกฎหมาย หรือการยกเลิกกฎอัยการศึกที่ผ่านมา แต่กลับประกาศใช้มาตรา 44 ที่มีอำนาจล้นกว่าอำนาจใดๆมาแทนที่นั้น แม้สลิ่มไทยจะแกล้งตาบอดทำเป็นมองไม่เห็น แต่ชาวโลกประชาธิปไตยเขามองเห็นชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร

เพราะอสูรร้ายที่ร้อนรนรีบเร่งแปลงกายย่อมหลงลืมและเหลือร่องรอยแห่งอสูรโผล่ไว้ให้เห็นอยู่เสมอ!!??


You must be logged in to post a comment Login