วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567

ปชป.ไม่ใช่พรรคทหาร! / โดย กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข

On September 19, 2016

คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : กิตติพิชญ์ ยิ่งวรการสุข

สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน

พล.อ.ประยุทธ์ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนมากขึ้น ฐานกำลังก็แน่นขึ้นจากที่ได้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท เป็นผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ ส่วนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญก็ผ่านประชามติ ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์มีพลังเพิ่มขึ้นในการขับเคลื่อนประเทศ เท่าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เขาก็พยายามขับเคลื่อนอยู่หลายเรื่อง เช่น ระบบรางในกรุงเทพฯ และเชื่อมกับภูมิภาคต่างๆ

ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์มีความตั้งใจ แต่การปราบทุจริตยังไกลอยู่ ควรชัดเจนกว่านี้ เรื่องกระบวนการยุติธรรมยังไปได้ดี เอารัฐมนตรีเข้าคุกบ้างแล้ว ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์เองก็ตั้งใจ พักข้าราชการ พักคนนั้นพักคนนี้ไปเยอะ แต่ต้องเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น ต้องกวาดให้เกลี้ยง ถ้าทำได้จะส่งผลดี เพราะขณะนี้ประชาชนเบื่อการทุจริตคอร์รัปชัน

ส่วนเรื่องการสร้างความปรองดองนั้น ผมคิดว่าขณะนี้ไม่ถือว่าล้มเหลว การปรองดองไม่ใช่ทำผิดให้ถูก ปรองดองคือผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก แล้วยอมรับกติกาซึ่งกันและกัน ผมขอย้ำว่าความขัดแย้งในบ้านเมืองเรายังมีอยู่ เพราะยังมีกระบวนการสั่งจากทางไกลให้ปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ผลงานรัฐบาลด้านอื่นๆ ผมคิดว่ามีจุดอ่อนเรื่องเศรษฐกิจ เพราะทุกอาชีพได้รับความเดือดร้อนหมด สถานการณ์เศรษฐกิจยังย่ำแย่ ถามว่าทีมเศรษฐกิจภายใต้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อาจเพราะถูกนานาชาติปฏิเสธความชอบธรรมที่มาของรัฐบาล เพราะต่างชาติไม่รู้ปัญหาของประเทศไทยและกระบวนการทำร้ายประเทศไทย ดังนั้น ปัญหาเศรษฐกิจจะเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลชุดนี้จนกว่าจะมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

ถ้าเราได้รัฐบาลประชาธิปไตยก็จะดีขึ้น เพราะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และเชื่อว่ารัฐบาลจะได้รับการยอมรับจากนานาชาติมากขึ้น นายกรัฐมนตรีคงเป็นคนเดิมคือ พล.อ.ประยุทธ์ แต่จะมาโดยวิถีทางประชาธิปไตย สำหรับประเด็นความมั่นคงก็โอเค ความสงบเรียบร้อยถือเป็นที่ยอมรับ ถ้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ดีได้ ความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ก็จะดี

ภาพรวมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องยอมรับว่าไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ 100% แต่เมื่อพี่น้องประชาชนให้ความเห็นชอบ 60% ก็ต้องบังคับใช้ต่อไป ส่วนตัวผมก็สนับสนุน เพราะเหมาะกับสภาพการณ์ปัจจุบันในระยะหนึ่ง แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีหลายจุดที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม เช่น ให้สมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว. ที่มาจากการสรรหาเลือกนายกรัฐมนตรี

การที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของ ส.ว. เหมือนพรรค ส.ว. ผมคิดว่า ส.ว. เป็นตัวหนึ่งที่ชี้ทิศทางว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะ ส.ว. มี 250 เสียง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถือว่าเป็นเสียงที่มากและจะมีบทบาทในการเมืองสมัยหน้ามาก การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ส. มี 500 เสียง จึงต้องยอมรับว่าเสียงของ ส.ว. ที่เป็นกลุ่มก้อนจะมีพลังทางการเมืองมาก

พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯคนนอก

รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. เป็นนายกรัฐมนตรีได้ จึงต้องดูผลการเลือกตั้ง ส.ส. และการแต่งตั้ง ส.ว. ถ้า พล.อ.ประยุทธ์จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกจะทำงานลำบากหรือไม่ก็ต้องดูผลการเลือกตั้ง ส.ส. ว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนเท่าไร ถ้าเสียงห่างจากฝ่ายค้านมากก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร ถ้าเสียงก้ำกึ่งก็เหนื่อยหน่อย เพราะต้องมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีกระทู้ มีการตรวจสอบมากกว่าปัจจุบัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องตอบและต้องเตรียมตัว ถ้ามีทุจริตก็ลำบาก คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีจึงต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งในสภาสนับสนุน

ผมขอย้ำว่าไม่จำเป็นต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ใครก็ได้ที่มีเสียงเกิน 400 ก็เป็นนายกรัฐมนตรีได้ หาก พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกจะมีกระแสต่อต้านทั้งภายในและนอกประเทศนั้น เพราะความขัดแย้งในสังคมไทยยังมีอยู่ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีกระแสต่อต้าน

พรรคประชาธิปัตย์กับเลือกตั้งปี 2560

ถ้าเราได้เสียงข้างมาก เราก็เสนอตัวเป็นรัฐบาล ถ้าได้เสียงข้างน้อยก็พร้อมจะเป็นฝ่ายค้าน ขอยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นได้ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ส่วนการเลือกตั้งนั้น โดยธรรมเนียมปฏิบัติชื่อของหัวหน้าพรรคควรได้รับการเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว แต่ขณะนี้ยังประชุมพรรคไม่ได้เพราะมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลยไม่สามารถตอบได้ว่าพรรคจะเสนอชื่อใครบ้าง

ส่วนที่วิเคราะห์ว่าหลังการเลือกตั้งปี 2560 พรรคการเมืองต่างๆรวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์จะจับมือกันตั้งรัฐบาล ยกเว้นพรรคเพื่อไทยที่จะถูกโดดเดี่ยวให้เป็นฝ่ายค้านนั้น ผมคิดว่าตอนนี้มีข่าวลือร้อยแปด ต้องดูผลการเลือกตั้งก่อนแล้วค่อยมาคุยกัน ข่าวลือมันมีตลอดอย่าไปสนใจ ถามว่าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสถูกโดดเดี่ยวทางการเมืองเป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวหรือไม่ ผมคิดว่านั่นเป็นจินตนาการ

ผมขอย้ำว่าเราต้องดูผลหลังวันเลือกตั้งว่าจะออกมาอย่างไรจึงจะประเมินได้ว่าทิศทางการเมืองเป็นอย่างไร ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็อยู่ที่พี่น้องประชาชนจะให้โอกาสแค่ไหน เพียงใด

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จะเป็นคนนำทัพพรรคเพื่อไทยสู้ศึกการเลือกตั้งที่จะมาถึงนั้น ผมยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่หนักใจ การเลือกตั้งทุกครั้งเราสู้ตลอด ไม่มีอะไรหนักใจ สู้ทุกเวทีอยู่แล้ว

ประชาธิปัตย์อยู่ข้างฝ่ายทหาร

นายอภิสิทธิ์ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วจะอยู่ฝ่ายทหารได้อย่างไร ไม่ใช่ นายอภิสิทธิ์เวลาพูดเรื่องนี้พูดในนามหัวหน้าพรรค พูดตามอุดมการณ์ของพรรค 60-70 ปี แล้วจะบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคทหาร ไม่ใช่ เพียงแต่มวลสมาชิกบางท่านเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมาะกับสภาพการณ์ของประเทศไทยในตอนนี้ ไม่ได้แปลว่าโปรทหาร มันคนละนัยกัน ส่วนที่คนยังมองพรรคประชาธิปัตย์อิงกับทหารก็ต้องไปถามคนมอง ผมตอบแทนไม่ได้ แต่ข้อเท็จจริงอย่างที่ว่าคือ คนส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้มีความเหมาะสมที่จะขับเคลื่อนประเทศไทย และเห็นด้วยที่จะให้ ส.ว. มาสนับสนุนในช่วง 5 ปีแรกเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งเป็นไปตามบทเฉพาะกาล

ขอยืนยันว่าความจริงแล้วพรรคประชาธิปัตย์ต่อต้านเผด็จการมาโดยตลอด คุณดูพฤติกรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ ตรงนี้ไม่ได้เชียร์ พฤติกรรมเขาไม่เคยฆ่าคน แต่รัฐบาลประชาธิปไตยบางคนสั่งยิงคนกลางเมือง เผาบ้านเผาเมือง โกงเงินครึ่งหนึ่งของงบประมาณประเทศแล้วยังกล้าอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย นี่คือความจริงที่ทำความเสียหายให้กับประเทศไทย ไม่ได้แปลว่าเราเห็นชอบกับเผด็จการ คนละความหมาย

ถ้าทหารเชิญจะร่วมรัฐบาลมั้ย

ผมไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค แล้วเรื่องนี้จะเกิดขึ้นหลังวันเลือกตั้ง ใครจะร่วมกับใคร หรือพรรคประชาธิปัตย์ได้ 500 เสียงก็ไม่ต้องไปร่วมกับใคร เป็นรัฐบาลพรรคเดียวเลย ดังนั้น ต้องดูผลการเลือกตั้ง อย่าไปคิด อย่าไปคาดการณ์ล่วงหน้าหรือมโนเอาเอง ถามว่าพรรคประชาธิปัตย์มีเอกภาพภายในพรรคแค่ไหน ผมคิดว่าพรรคการเมืองไม่ใช่กองทัพ ซ้ายหัน ขวาหัน ถอยหลัง กลับหลังหัน ไม่ใช่ มันต้องมีความเห็นต่าง ต้องพูดกัน เถียงกันในความเห็นแต่ละคนแล้วหาข้อสรุป ไม่ใช่ทหารที่จะสั่งซ้ายหันขวาหันได้ ไม่ใช่

อนาคตพรรคประชาธิปัตย์

ผมขอยืนยันว่าในอนาคตพรรคประชาธิปัตย์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์จะยังทำหน้าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จนถึงปี 2561 และอาจจะเป็นหัวหน้าพรรคต่ออีก ถ้ามวลสมาชิกเลือกท่านก็ต่อได้อีก ส่วนที่มีกระแสข่าวสมาชิกพรรคบางส่วนพยายามผลักดัน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ หรือ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่นั้น ผมคิดว่าข่าวลือมีเยอะ ข่าวจริงคือนายอภิสิทธิ์จะอยู่ถึงปี 2561 จากนั้นถ้ามวลสมาชิกยังเห็นด้วย ท่านก็อยู่ต่อ

ถามว่า 2 คนนี้มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ ผมคิดว่าคนเก่งๆในเมืองไทยมีอีกเยอะ แล้วแต่ว่าใครจะเสนอตัวมั้ย มีโอกาส จังหวะ ความยอมรับหรือไม่ นายอภิสิทธิ์มาโดยถูกต้อง ขึ้นมาโดยระบบที่ถูกต้อง มวลสมาชิกพรรคเลือก ท่านก็ทำหน้าที่หัวหน้าพรรค

ส่วนที่นักวิชาการวิพากษ์วิจารณ์ว่าโอกาสที่นายอภิสิทธิ์จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งคงยากนั้น ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับจำนวนเสียง ถ้าได้ 400 เสียงก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว อยู่ที่เสียงหลังวันเลือกตั้ง 4 โมงเย็นถึงจะบอกได้ว่าจะเป็นอย่างไร ที่นักวิชาการระบุว่านายอภิสิทธิ์ผ่านจุดสูงสุดทางการเมืองมาแล้วคงยากที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ผมคิดว่าในทางการเมืองอย่าเดา ต้องดูข้อเท็จจริงที่เป็นจริงและจับต้องได้ ขณะนี้ข่าวลือข่าวเดามันเยอะ ดังนั้น ขอให้นักวิชาการอย่าเดา ผมขอบอกว่าหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคถ้าได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอก็มีสิทธิที่จะเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีได้

ข้อเสนอให้มหาดไทยจัดเลือกตั้ง

ผมไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. ที่ให้กระทรวงมหาดไทยมาจัดการเลือกตั้งแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะถ้ากระทรวงมหาดไทยมาจัดการเลือกตั้งจะทำให้เกิดความคลางแคลงใจในเรื่องความเป็นกลาง ควรให้ กกต. ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการเลือกตั้งต่อไป แต่จะเชิญครู กำนัน ผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทยก็เชิญกันอยู่แล้ว ที่สำคัญคือเจ้าภาพคือใคร อยู่ที่เจ้าภาพคือใคร ถ้าเจ้าภาพคือ กกต. ประชาชนจะได้มั่นใจขึ้นว่ายังพอเป็นหลักได้ แต่ถ้าให้กระทรวงมหาดไทยลงมือเองทั้งหมด คนก็อาจจะไม่เชื่อ

ถ้าคนเชื่อถือว่า กกต. เป็นกลาง การร้องเรียนปัญหาทุจริตการเลือกตั้งต่างๆก็จะเบาขึ้น แต่ถ้าคนไม่เชื่อก็จะร้องเรียนกันทุกเรื่อง ทำให้การทำงานลำบาก การวินิจฉัยใบเขียวใบอะไรก็จะลำบากขึ้น ผมจึงสนับสนุนให้ กกต. เป็นผู้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งมากกว่าที่จะให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ แต่ทั้งนี้ในส่วนของ กกต. เองต้องปรับองคาพยพในการสืบสวนสอบสวนในบางจังหวัด รวมทั้ง กกต.จังหวัดต้องไม่มีอำนาจวินิจฉัย มีหน้าที่รวบรวมเรื่องราวและสรุปเรื่องให้ กกต.กลางวินิจฉัยเท่านั้น นอกจากนี้ กกต. จะต้องปรับกระบวนการทำงานใหม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ส่วนข้อเสนอที่ให้ คสช. ดูแลเรื่องความสงบในช่วงการเลือกตั้งนั้น ผมคิดว่า คสช. มีหน้าที่ดูแลตรงนี้อยู่แล้ว

ส่วนร่างกฎหมายพรรคการเมืองของ กกต. ที่มีข้อกังวลเรื่องการตัดสินยุบพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารให้พ้นหน้าที่ ตรงนี้ควรเป็นอำนาจและหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคได้ชี้แจงในที่สาธารณะ ไม่สมควรให้อำนาจ กกต. เพราะเรื่องเกี่ยวกับกรรมการบริหาร ต้องเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่สามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้

เรื่องนโยบายพรรคที่ต้องแจ้ง กกต. ก่อนนั้น ก็เห็นว่าจำเป็นต้องแจ้ง หากนโยบายใดที่ไม่ชอบหรือขัดต่อกฎหมาย กกต. สามารถตรวจสอบและสั่งการได้อยู่แล้ว

หลักการตั้งยาก อยู่ยาก และยุบยากนั้น ผมเห็นว่าพรรคการเมืองต้องตั้งง่าย เพื่อให้คนทุกฐานะที่มีอุดมการณ์สามารถเข้าร่วมกันเป็นพรรคการเมืองได้ ถ้าตั้งยากต้องใช้เงินมาก คนยากจนก็ไม่สามารถตั้งพรรคการเมืองได้ ผมไม่เห็นด้วยในการให้อำนาจ กกต. มากเกินไป ดังนั้น กรธ. ต้องทบทวน ขออย่ายกอำนาจการวินิจฉัยสุดท้ายเรื่องยุบพรรค เรื่องการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคให้กับ กกต. โดยเด็ดขาด


You must be logged in to post a comment Login