วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ทำไมทำเด็กหลอดแก้วแล้วยังไม่ท้อง

On March 5, 2021

คอลัมน์ : เปิดโลกสุขภาพ

ผู้เขียน : นพ.ชาญชัย ไชยเลิศ

โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 5-12 มี.ค. 64 )

ปัจจุบันปัญหาเรื่องการมีบุตรยากนั้นอาจพบมากขึ้น เนื่องด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น แต่งงานเมื่ออายุมากขึ้น รอให้พร้อมก่อนที่จะปล่อยให้มีบุตร ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้นโอกาสที่จะมีบุตรก็ยากขึ้นเป็นลำดับ ร่วมกับโอกาสที่จะมีความผิดปกติของโครโมโซมในตัวอ่อนก็มากขึ้นตาม

คู่สมรสกลุ่มที่มีบุตรยากมักจะหาแนวทางเพื่อทำให้ตัวเองมีบุตรเร็วขึ้น เช่น ทำเด็กหลอดแก้วกรณีที่มีข้อบ่งชี้ อย่างไรก็ตาม หลายคู่อาจจะสมหวัง แต่ก็มีบางคู่ที่ยังไม่สมหวัง ยังไม่ท้องทั้งๆที่ทำเด็กหลอดแก้วแล้วก็ตาม ซึ่งก็จะมีคำถามคาใจในคู่สมรสกลุ่มนี้ตามมาว่าทำไมไม่ท้อง? ซึ่งถือว่าเป็นคำถามคาใจยอดฮิตของคู่สามีภรรยากลุ่มนี้

เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่อาจจะส่งผลให้ขั้นตอนในการทำเด็กหลอดแก้วมีความล้มเหลวในครั้งแรก จนทำให้ต้องทำเด็กหลอดแก้วครั้งที่สอง หรือล้มเลิกการที่จะมีบุตรไป ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อความสำเร็จนั้นแบ่งออกเป็นส่วนใหญ่ๆ 3 ส่วนคือ ตัวคู่สมรสฝ่ายหญิง, ฝ่ายชาย และห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน

ปัจจัยที่เกี่ยวกับคู่สมรสฝ่ายหญิง

  • อายุของฝ่ายหญิงที่เข้ารับการรักษาค่อนข้างมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะอายุของฝ่ายหญิงจะส่งผลต่อทั้งจำนวนและคุณภาพของไข่ โดยจำนวนและคุณภาพจะยิ่งลดน้อยลงถ้าอายุมากขึ้น รวมถึงโอกาสที่โครโมโซมผิดปกติก็จะเพิ่มขึ้นตาม จากการศึกษาพบว่าโอกาสที่โครโมโซมปกติในฝ่ายหญิงอายุน้อยกว่า 30 ปีสูงถึงร้อยละ 66 แต่เมื่ออายุมากกว่า 43 ปีโอกาสปกติมีเพียงร้อยละ 12 ปัจจุบันได้มีการพยายามศึกษาหาแนวทางเพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ในฝ่ายหญิงให้มากขึ้น โดยพยายามเพิ่มจำนวนไข่ที่เก็บแต่ละรอบให้มากขึ้น
  • คุณภาพของมดลูกและโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง ในการฝังตัวของตัวอ่อนในโพรงมดลูกนั้น เยื่อบุโพรงมดลูกมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการฝังตัว ซึ่งแม้ว่าเรามีตัวอ่อนที่มีคุณภาพค่อนข้างดีเยี่ยม แต่เยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะสม การตั้งครรภ์ก็ไม่สามารถเกิดขึ้น
  • ปัญหาโรคต่อมไร้ท่อในฝ่ายหญิง โรคประจำตัวบางโรค เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ ฮอร์โมนโปรแลคตินสูง โรคเบาหวาน หรือความอ้วน อาจส่งผลต่อความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้วได้ ดังนั้น กรณีมีโรคประจำตัวต้องแจ้งแพทย์ผู้ทำการรักษา หรือในกรณีที่น้ำหนักมากกว่าปกติ การลดน้ำหนักรวมถึงการออกกำลังกายสามารถเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้
  • ปัญหาโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเองในฝ่ายหญิง (Auto-immune disease) โรคกลุ่มนี้มักจะส่งผลต่อต้านการฝังตัวของตัวอ่อน โดยกลไกจะเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดในเส้นเลือดในโพรงมดลูกและเส้นเลือดที่มาเลี้ยงมดลูก โรคกลุ่มนี้มักจะพบในผู้ป่วยที่แท้งซ้ำซาก ซึ่งในกรณีนี้อาจต้องตรวจเลือดหาสาเหตุโรคกลุ่มนี้ก่อนการรักษา

ปัจจัยที่เกี่ยวกับคู่สมรสฝ่ายชาย

  • ·                 การแตกหักของสารพันธุกรรมในส่วนหัวของอสุจิ (DNA fragmentation)
    ตัวอสุจิที่มีการแตกหักของสารพันธุกรรม (DNA fragmentation) เราจะพบว่าตัวอสุจิเหล่านี้เมื่อมีการปฏิสนธิกับไข่ (Oocyte) มักจะส่งผลต่อคุณภาพของตัวอ่อน เช่น การพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต่ำกว่าปกติ (low blastocyst development rate), อัตราการตั้งครรภ์ต่ำและโอกาสแท้งสูง ดังนั้น เราจึงพยายามคัดแยกตัวอสุจิที่มีการแตกหักของสารพันธุกรรมออกไปเพื่อที่จะได้ตัวอสุจิที่สมบูรณ์
  • ตัวอ่อนที่ได้จะมีคุณภาพดีหรือไม่นั้นอาจเกิดมาจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากในห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน ซึ่งขั้นตอนการตรวจสอบและเตรียมไข่หรือการผสมตัวอ่อนถ้าใช้เวลาที่ค่อนข้างนานมักจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาและคุณภาพตัวอ่อนได้ ทำให้ตัวอ่อนพัฒนาการช้าหรือพัฒนาการไม่สมบูรณ์ได้ ทำให้อัตราการตั้งครรภ์ลดลงได้ โดยห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนของศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา นั้น เราได้มีการควบคุมอากาศและอุณหภูมิได้มาตรฐานในทุกขั้นตอนเสมือนไข่และตัวอ่อนอยู่ในร่างกาย ซึ่งทำให้ตัวอ่อนที่เราได้มีคุณภาพค่อนข้างดี ส่งผลต่ออัตราการตั้งครรภ์ที่สูงขึ้นได้

นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังสามารถเกิดจากสาเหตุอื่นๆได้อีก เช่น กระบวนการระหว่างย้ายตัวอ่อนเข้าไปในโพรงมดลูก ซึ่งในฝ่ายหญิงบางคนอาจทำการย้ายค่อนข้างยาก เช่น มีปากมดลูกตีบหรืองอ ทำให้การใส่สายย้ายตัวอ่อนค่อนข้างยาก และบางคนอาจใช้เครื่องมือช่วยดึงปากมดลูก ทำให้ส่งผลต่ออัตราการตั้งครรภ์ได้


You must be logged in to post a comment Login