วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

ศาสนากับชีวิต

On October 23, 2020

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 23 -30 ต.ค. 2563)

คนใช้รถยนต์ไม่ได้เป็นคนสร้างรถยนต์ ดังนั้น ก่อนจะใช้รถทุกคนต้องไปหัดขับรถและเรียนรู้วิธีการใช้รถเสียก่อน เมื่อได้รถมาแล้วก็ต้องปฏิบัติตามคู่มือการใช้รถ เพื่อให้รถอยู่ในสภาพดี มีอายุการใช้งานยาวนาน และคนขับปลอดภัย ถ้าคนสร้างรถยนต์กำหนดว่าต้องใช้น้ำมันประเภทใด เจ้าของผู้ใช้รถก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น

ชีวิตก็เช่นกัน มนุษย์ไม่ได้เป็นผู้สร้างชีวิตที่ประกอบไปด้วยร่างกายและวิญญาณ ดังนั้น ถ้าจะใช้ชีวิตให้อยู่ในสภาพดีมีความปลอดภัย มนุษย์จำเป็นต้องใช้ชีวิตตามที่ผู้สร้างชีวิตกำหนดไว้ ถ้าใครเชื่อว่าพระเจ้าสร้างชีวิตก็ไม่เป็นเรื่องยากสำหรับคนผู้นั้นในการหาคู่มือการใช้ชีวิต เพราะมันมีอยู่แล้วในรูปของคัมภีร์ที่ถูกบันทึกไว้เป็นตัวอักษรและคำแนะนำของ “นบี” ที่พระเจ้าส่งมาเป็นตัวแทนเพื่อทำหน้าที่เสมือนคนขายและครูสอนขับรถยนต์

แต่ไหนแต่ไรมาก่อนที่เด็กจะเติบโตออกไปสู้ชีวิตในโลกภายนอก พ่อแม่จะเป็นผู้สอนการใช้ชีวิตวัยเด็กให้แก่ลูกของตัวเอง เมื่อลูกโตขึ้นพ่อแม่ไม่มีเวลาหรือมีความรู้ไม่พอจึงส่งลูกไปรับการศึกษานอกบ้าน ซึ่งในสมัยก่อนก็คือวัดหรือมัสยิด

สิ่งที่พระในวัดและครูสอนศาสนาในมัสยิดสอนก็คือความรู้เรื่องศีลธรรม การปฏิบัติศาสนกิจ ควบคู่ไปกับการอ่านเขียนและวิชาการอื่นๆที่เป็นพื้นฐานความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เด็กคนไหนดื้อพ่อแม่สั่งให้พระและครูตีได้เต็มที่ เพราะพ่อแม่ทุกคนถือว่าครูเป็นพ่อแม่คนที่สองของลูกตัวเอง วัดและมัสยิดจึงทำหน้าที่อบรมบ่มนิสัยและเป็นสถานศึกษาไปพร้อมกัน

madrasah1

ความเข้มงวดจากความหวังดีต่อลูกศิษย์ของพระและครูสอนศาสนาในมัสยิดทำให้เด็กสมัยก่อนเคารพรัก เกรงใจ มีสัมมาคารวะ และให้เกียรติแก่ครูของตน

สังคมไทยทั่วไปจึงเป็นสังคม บ.ว.ร. (บ้าน วัด โรงเรียน) ส่วนในสังคมชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามจะเป็นสังคม บ.ร.ม. (บ้าน โรงเรียน มัสยิด)

เมื่อโลกเจริญและชุมชนใหญ่ขึ้น การศึกษาได้แยกตัวออกมาจากวัดและมัสยิด โดยมีโรงเรียนสามัญเกิดขึ้น และเพื่อพัฒนาเด็กให้เป็นทรัพยากรที่ตามทันความเจริญของโลก ผู้รับผิดชอบการศึกษาของชาติได้บรรจุวิชาการมากมายไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ได้กำหนดให้เด็กไทยที่ย่างเข้าวัย 7 ขวบ ต้องเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนที่มีวิชาศีลธรรมน้อยลงหรือแทบไม่มี

ประมาณ 1,500 ปีที่แล้ว นบีมุฮัมมัดได้วางข้อกำหนดไว้ว่าพ่อแม่มุสลิมทุกคนมีหน้าที่ต้องให้ลูกของตัวเองได้เรียนรู้คำสอนของศาสนาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ และเมื่อถึงวัย 10 ขวบ หากละหมาดได้แล้วแต่ไม่ยอมละหมาด พ่อแม่ได้รับอนุญาตให้บังคับ ถ้าลูกฝ่าฝืนพ่อแม่ก็ได้รับอนุญาตให้ลงโทษ

เมื่อเป็นเช่นนี้ บทบัญญัติของอิสลามจึงกำหนดให้เป็นหน้าที่ของสังคมหรือส่วนรวมที่จะต้องจัดให้มีสถานที่สำหรับละหมาด สถานที่สอนศาสนา และบุคลากรทำหน้าที่สอนละหมาดขึ้นในสังคม หากสังคมใดไม่ทำหน้าที่นี้ถือว่าสมาชิกทุกคนในสังคมต้องรับบาปร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ในชุมชนมุสลิมทุกแห่งจึงมีมัสยิดและโรงเรียนสอนศาสนาอยู่คู่กันแทบทุกที่

คนที่ใส่แว่นตาตะวันตกอาจมองว่าวัฒนธรรมอิสลามกระทำทารุณกรรมต่อเด็กหรือเป็นการกดขี่ทางศาสนา แต่เหตุผลที่อนุญาตให้ทำเช่นนั้นก็เพราะการละหมาดเป็นการให้อาหารแก่จิตวิญญาณซึ่งเป็นส่วนสำคัญของชีวิต เพื่อที่วิญญาณจะได้มีความแข็งแรง เหมือนกับที่ร่างกายต้องการอาหารวันละ 3 เวลาเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน

คัมภีร์กุรอานกล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการละหมาดคือการ “ช่วยยับยั้งคนละหมาดมิให้ทำสิ่งชั่วช้าลามก” เพราะคนละหมาดจะมีความสำนึกอยู่เสมอว่าพระเจ้าเฝ้ามองตัวเองอยู่จึงไม่กล้าทำบาป การละหมาดจึงเป็นมาตรการควบคุมตนเองมิให้ทำชั่ว การอนุญาตให้ลงโทษลูกของตัวเองหากไม่ละหมาดก็เพื่อให้เด็กมีภูมิคุ้มกันทางจิตวิญญาณ เพราะเมื่อวันหนึ่งพ่อแม่จากไป เด็กที่โตขึ้นและดำรงการละหมาดจะรู้จักควบคุมตัวเองมิให้ทำสิ่งชั่วช้าลามก

ปัจจุบันครอบครัวของคนรุ่นใหม่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรและสลัมลอยฟ้าที่ไม่มีศาสนสถาน เด็กต้องเรียนหนังสือในโรงเรียนที่มีแต่วิชาการ ศูนย์การค้าและสถานที่เล่นเกมเป็นสถานที่พักทางใจของเด็กหลังเลิกเรียน เด็กจึงเติบโตมาเป็นผู้ตอบสนองลัทธิบริโภคนิยมและไม่มีภูมิคุ้มกันทางจิตวิญญาณ


You must be logged in to post a comment Login