วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567

การนอนไม่หลับ

On August 7, 2020

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : รศ. นพ.สนทรรศ  บุษราทิจ

ภาควิชาจิตเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

การนอนเป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิต เพราะการนอนนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต หากเรานอนหลับพักผ่อนได้ดี ร่างกายจะมีความสดชื่นแจ่มใส ไม่หงุดหงิดง่าย ในทางกลับกัน หากเกิดปัญหาในการนอน เช่น นอนไม่หลับ นอนกรน หรือนอนหลับไม่สนิท ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอื่นๆตามมา

ความวิตกกังวลหรือความเครียดจากปัญหาเรื่องงาน สุขภาพ หรือครอบครัว อาจก่อให้เกิดอาการนอนไม่หลับได้ แต่อาการนอนไม่หลับนี้จะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นๆ เมื่อหมดเรื่องกังวลหรือปัญหาต่างๆคลี่คลายไปแล้ว อาการนอนไม่หลับก็จะหายไปและกลับมานอนหลับได้ดีตามเดิม อย่างไรก็ตาม อาจมีกลุ่มคนบางส่วนที่ยังคงมีอาการนอนไม่หลับอยู่แม้ว่าเรื่องกังวลต่างๆจะหมดไปแล้ว นั่นเป็นเพราะความกังวลต่างๆเหล่านั้นถูกเปลี่ยนมาเป็นความกังวลว่าจะนอนไม่หลับแทน

การดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนเป็นส่วนผสม เช่น การดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง หรือน้ำอัดลมที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน เพราะกาเฟอีนในชาและกาแฟจะไปกระตุ้นสมองทำให้ไม่รู้สึกง่วง

การออกกำลังกายก่อนนอน การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพกายและใจ แต่หากไม่เหมาะสม ไม่ถูกเวลาก็อาจเกิดผลเสียตามมาได้ ดังเช่นความเชื่อที่ว่าหากออกกำลังกายใกล้เวลานอนจะช่วยให้นอนหลับได้เร็วและนอนหลับสนิท แต่ในความเป็นจริงนั้น ขณะที่ออกกำลังกายร่างกายจะหลั่งสารอะดรีนาลีน ซึ่งสารนี้จะกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว ดังนั้น หากเราออกกำลังกายใกล้เวลานอนเกินไปก็จะทำให้นอนหลับยากหรือหลับไม่สนิท เพราะสารอะดรีนาลีนในร่างกายยังคงอยู่ในระดับสูง

ห้องนอนควรมีไว้เพื่อนอนเท่านั้น การทำกิจกรรมอื่นในห้องนอนเป็นระยะเวลานาน เช่น นั่งเล่น ดูโทรทัศน์ ทำงาน หรือแม้แต่นอนเล่น พฤติกรรมเหล่านี้จะส่งผลให้สมองเกิดการเรียนรู้ว่าห้องนอนไม่ได้มีไว้สำหรับนอน เมื่อถึงเวลานอนจริงๆจึงทำให้นอนหลับยากหรือหลับไม่สนิท ปัญหาการนอนไม่หลับที่เกิดจากการใช้เวลาในห้องนอนมากเกินไปนี้จะสังเกตได้จากอาการง่วงนอนตามปกติเมื่อถึงเวลานอน แต่เมื่อล้มตัวลงนอนกลับหายง่วงและนอนไม่หลับ ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพอื่นๆตามมา หากต้องการทำกิจกรรมอื่นๆควรทำในพื้นที่ที่กำหนดไว้เป็นสัดส่วน ซึ่งไม่ใช่ห้องนอน

นอกจากนี้ยังมีอาการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อการนอน เช่น โรคเบาหวาน และโรคต่อมลูกหมากโต ซึ่งทำให้ปัสสาวะบ่อย เป็นสาเหตุให้นอนหลับได้อย่างไม่ต่อเนื่อง หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าก็อาจมีอาการนอนไม่หลับร่วมด้วยได้เช่นกัน

การรักษาอาการนอนไม่หลับ

การรักษาอาการนอนไม่หลับสามารถทำได้ 2 วิธีคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการนอน และการใช้ยาเพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับ

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการนอน ในทางการแพทย์นั้นมักจะแนะนำให้ผู้ที่นอนไม่หลับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนก่อน ได้แก่ ลดชั่วโมงการนอนให้น้อยลง เช่น จากเดิมเข้านอนเวลาสามทุ่ม ลุกจากเตียงหกโมงเช้าเป็นประจำ ก็ปรับเวลาเข้านอนเป็นเที่ยงคืนและลุกขึ้นจากเตียงเวลาหกโมงเช้า เพื่อให้ใช้เวลานอนที่อยู่บนเตียงลดลง

อย่างไรก็ตาม ในการลดชั่วโมงการนอนให้น้อยลงนั้นมีข้อควรระวังคือ หากผู้ที่ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นผู้สูงวัย หรือเป็นผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัวบางประเภท อาจเกิดอาการอ่อนเพลียค่อนข้างมากในระยะแรก ดังนั้น จึงไม่ควรลดชั่วโมงการนอนให้เหลือน้อยเกินไป การรักษาด้วยวิธีการนี้จะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อให้ร่างกายเกิดการเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในหลายๆครั้งอาจใช้เวลานานเป็นสัปดาห์จึงจะพบว่าอาการนอนไม่หลับนั้นค่อยๆดีขึ้น หากไม่ได้ผลจึงจะใช้ยาเพื่อบำบัดรักษาต่อไป

การรักษาด้วยยา เมื่อผู้ที่นอนไม่หลับและได้พยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการนอนให้เหมาะสมแล้วแต่อาการนอนไม่หลับยังไม่หาย ควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยและรักษาให้เหมาะสม ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา แพทย์มักจะให้รับประทานยาในระยะเวลาสั้นๆภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิด ยกเว้นบางกรณีที่อาจจำเป็นต้องรับประทานยาในระยะยาว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ตามแต่อาการ


You must be logged in to post a comment Login