วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

กสศ.จับมือ10 ภาคี สู้วิกฤตความเหลื่อมล้ำ ป้องกันเด็กหลุดจากการศึกษา

On June 26, 2020

ที่ชุมชนโค้งรถไฟยมราช กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดโครงการ “กู้วิกฤตส่งเด็กกลุ่มเปราะบางกลับโรงเรียน” ชวนเด็กด้อยโอกาสร่วมฐานกิจกรรมเตรียมความพร้อมทั้งด้านการเรียนรู้ การป้องกันสุขภาพจากโรคโควิด-19 ในช่วงเปิดเทอม และสนับสนุนชุดอุปกรณ์การเรียนให้เด็กกลุ่มเปราะบางในชุมชนพื้นที่กรุงเทพฯที่เสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษา เช่น เด็กยากจนในชุมชนแออัด ริมทางรถไฟ ใต้ทางด่วน เด็กที่ทำงานบนท้องถนน และเด็กๆกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในการดูแลของมูลนิธิต่างๆ

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์  จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ช่วงก่อนเปิดเทอม กสศ.ร่วมมือกับ เครือข่ายองค์กรภาคเอกชนที่ทำงานกับกลุ่มเด็กบนท้องถนนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการสำรวจข้อมูลเด็กกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษา เช่น เด็กยากจนในชุมชนแออัด ริมทางรถไฟ ใต้ทางด่วน เด็กที่ทำงานบนท้องถนน ไซต์คนงานก่อสร้าง แรงงานนอกระบบที่อพยพมาจากต่างจังหวัด ซึ่งกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีจำนวนเด็กและเยาวชนเปราะบางมากที่สุดของประเทศ เด็กกลุ่มนี้บางส่วนแม้จะยังอยู่ในระบบการศึกษาแต่ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคมและครอบครัว เป็นตัวเร่งให้หลุดออกนอกระบบ ยิ่งในช่วงโควิด-19 หลายครอบครัวได้รับผลกระทบ ไม่มีรายได้ ตกงาน

4

“การสำรวจทำให้เราพบเด็กกลุ่มเสี่ยงและเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาในช่วงเปิดเทอม เราพบว่าครัวเรือนฐานะยากจน ต้องมีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาแต่ละปีสูงสุดช่วงเดือนเปิดเทอม ระดับประถมศึกษา1,796 บาท มัธยมต้น 3,001 บาท มัธยมศึกษาตอนปลาย3,738 บาท ในขณะที่มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 2,020 บาทต่อเดือน เท่ากับว่าต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมเกือบทั้งหมด หรือมากกว่ารายได้ทั้งเดือนในกรณีที่บุตรหลานศึกษาอยู่ชั้นมัธยม” ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าว

ที่ปรึกษากสศ. กล่าวว่า ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา กสศ.โดยโครงการพัฒนาระบบการช่วยเหลือและส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับกลุ่มเด็กบนท้องถนน (Children in Street) ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้ทำการสำรวจเชิงคุณภาพโดยใช้แบบบันทึกข้อมูลเด็กเป็นรายบุคคลเพื่อสำรวจความต้องการช่วยเหลือด้านการศึกษาจากผลกระทบโควิด-19 พบว่า เด็กเร่ร่อนที่ใช้ชีวิตบนท้องถนน หรือที่สาธารณะมีจำนวนน้อยกว่าอดีตมาก ที่พบเด่นชัดได้แก่ พื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง มิติของเด็กเร่ร่อนเปลี่ยนไป ไม่เห็นตามถนน ตามตลาด หรือตามที่ต่างๆ แต่จะไปอยู่ในชุมชน รวมถึงแต่งกายดีไม่มอมแมม แต่มีความผูกพันกับถนนที่แน่นแฟ้น ในความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจมากขึ้นคือการใช้ถนนทำมาหากิน

5

ศาตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าเด็กกลุ่มนี้บางส่วนมักรวมตัวในร้านเกมส์ หรือเช่าห้องพักอยู่ร่วมกัน ส่วนสาเหตุที่เด็กออกมาเร่ร่อนจะเป็นเรื่องปัญหาความยากจน ครอบครัวแตกแยก ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้เป็นตัวเร่งให้เด็กหลุดออกนอกระบบ บวกกับสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงในชุมชน อาทิ ยาเสพติด การถูกล่วงละเมิดทางเพศ อาชญากรรม ติดเพื่อน ติดเกมส์ อย่างไรก็ตาม เด็กกลุ่มนี้ยังต้องการความช่วยเหลือ เช่นทุนการศึกษาเพื่อเป็นค่าเดินทางไปโรงเรียน ค่าอาหาร ค่าหนังสืออุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน รองเท้าและกระเป๋านักเรียน

“นี่คือเหตุผลสำคัญว่าทำไมกสศ.ต้องทำงานกับเด็กกลุ่มเปราะบาง เราพยายามรักษาเด็กกลุ่มนี้ให้อยู่ในระบบการศึกษาให้มากที่สุด รวมถึงสร้างทักษะส่งเสริมการประกอบอาชีพ สร้างทักษะการใช้ชีวิต เพื่อลดจำนวนเด็กที่ต้องทำอาชีพบนท้องถนนที่มีความเสี่ยงและเป็นอาชีพที่อันตราย เบื้องต้นในพื้นที่กทม.จะสามารถช่วยได้ไม่ต่ำกว่า1,000 คน” ที่ปรึกษา กสศ. กล่าว

2

นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบสนับสนุนดูแลเด็กนอกระบบการศึกษาและเด็กบนท้องถนนในกรุงเทพมหานคร และศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า สถานการณ์เด็กหลุดนอกระบบหรือเด็กใช้ชีวิตบนท้องถนน มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจากผลเรื่องเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน แต่สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นสำคัญคือปัจจัยในครอบครัวที่มาจากความรุนแรง ความตึงเครียด จะเป็นแรงผลักทำให้เด็กต้องออกไปใช้ชีวิตบนถนนมากขึ้น และหลังจากโควิด-19 สถานการณ์จะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เห็นได้ชัดเจนจากการลงพื้นที่ในกทม.ช่วง1-2 เดือนที่ผ่านมา พบว่าครอบครัวของเด็กเหล่านี้มีรายได้ลดลง บางครอบครัวไม่มีรายได้ ส่วนใหญ่เช่าห้องราคาถูก นอนพักอาศัยใต้ทางด่วน ชุมชนแออัด เป็นลูกแรงงานต่างจังหวัดอยู่ตามไซส์ก่อสร้าง แรงงานนอกระบบ ทำงานรายได้ต่ำ ทั้งหมดยิ่งตอกย้ำว่าเด็กมีความเสี่ยงหลุดนอกระบบมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีเรื่องต้นทุนอื่นๆที่สูงเช่นกัน และสภาพเด็กเมื่ออยู่ในวัยแรงงานก็ต้องเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ดังนั้นแนวทางการช่วยเหลือไม่ใช่การเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเพิ่มช่องทางอาชีพและการเรียนที่ยืดหยุ่น self esteem ทักษะชีวิต เพราะความสำคัญของการศึกษาต่ออนาคตจะสร้างความมั่นคงได้มากขึ้น

6

นายอนรรฆ กล่าวว่า หลังจากนี้จะทำงานร่วมกับชุมชม NGO ต่างๆ รวมแล้วมากกว่า 10 องค์กรในพื้นที่กทม. เพื่อช่วยเหลือเด็กกลุ่มเปราะบางมากกว่า 1,000 คน ภายใต้แนวทางการทำฐานชุมชนและภาคประชาสังคมให้เข้มแข็ง เพราะครอบครัวส่วนใหญ่มีปัญหา จึงต้องเข้าไปดูแล และต้องทำตัวเป็นบ้านให้เด็กๆ สำคัญกว่านั้นเด็กหลายคนมีผลการเรียนดี แต่ครอบครัวมีปัญหาอุปสรรคจึงไม่สามารถไปต่อได้ ดังนั้นไม่ใช่คนจนทุกคนจะต้อง Drop out

3

ขณะที่ นางสาวทองพูล บัวศรี หรือ ครูจิ๋ว ผู้จัดการโครงการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวว่า ชุมชนโค้งรถไฟยมราชมีเด็กรวมทั้งสิ้น 200 กว่าคน แต่มีเด็กกลุ่มเปราะบาง ที่มีครอบครัว มีที่พัก แต่ด้อยโอกาส ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่หรือมีฐานะยากจน ที่อยู่ในการดูแลของครูจิ๋วจำนวน 67คน เด็กกลุ่มนี้ มีอาชีพเป็นเด็กเร่ร่อน ขอทานชั่วคราว ที่ต้องออกไปขอเงิน ขายพวงมาลัย ดอกจำปีตามถนนในวันหยุด เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว เมื่อเกิดโควิด-19 เด็กออกไปทำงานไม่ได้ รายได้ขาด ก็ทำให้เด็กที่พื้นฐานลำบากอยู่แล้วได้รับผลกระทบหลายด้าน ทั้งปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาความเสี่ยงที่เด็กจะหลุดออกนอกระบบการศึกษาช่วงใกล้เปิดเทอม เพราะไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์การเรียน ซื้อเสื้อผ้า บางครอบครัวก็ไม่อยากให้เด็กได้เรียน เพราะอยากให้ทำงานชดเชยช่วงที่ขาดรายได้

7

“เด็กกลุ่มเปราะบางทั้ง67คน ทุกคนเป็นเด็กที่ครอบครัวไม่พร้อม บางคนอยู่กับตายาย อยู่กับญาติ อยู่กับพ่อแม่ แต่ก็ยากจน พ่อแม่ทำอาชีพรับจ้างทั่วไป รายได้ไม่แน่นอน ไม่มีสวัสดิการ เงินที่หาได้พอแค่มีกินไปวันๆ ดังนั้นค่าเช่าบ้าน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าใช้จ่ายเวลาไปโรงเรียน จึงกลายเป็นภาระที่เด็กต้องรับผิดชอบ หลังสถานการณ์โควิด ครูต้องพยายามช่วยทุกทาง เพื่อไม่ให้เด็กต้องหลุดออกนอกระบบการศึกษา ต้องสื่อสารกับผู้ปกครองให้เห็นความสำคัญของการศึกษา อุปกรณ์การเรียน  อะไรที่ขาดจะช่วยหาให้เราไม่อยากให้เด็กต้องหยุดเรื่องการศึกษา จึงพยายามสร้างโอกาสให้เด็กได้ทำงานด้วยเรียนด้วย อยากให้ช่วยประคับประคองให้เด็กได้รับโอกาสเท่าๆ กัน อย่างน้อยให้เด็กกลุ่มเปราะบางมีโอกาสได้รับการศึกษาจนจบ ม.3 ตามพื้นฐาน นั้นคือสิ่งที่ครูปรารถนา” ครูจิ๋ว กล่าว


You must be logged in to post a comment Login