วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

สัญญาณสัจธรรม

On May 28, 2020

คอลัมน์ : สันติธรรม

ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 29 พ.ค.-5 มิ.ย. 2563)

งานวรรณกรรมทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ร้อยแก้วและร้อยกรอง

ร้อยแก้วเป็นความเรียงอิสระที่ประกอบด้วยประโยคอันสละสลวยและสื่อความหมายให้คนอ่านรู้ว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร

ส่วนร้อยกรองเป็นคำประพันธ์ที่มีบทบังคับเฉพาะ เช่น จำนวนคำ สัมผัสนอกและสัมผัสใน บทบังคับนี้มีความแตกต่างกันไปตามลักษณะของร้อยกรองและวรรณกรรมของแต่ละประเทศ

ถ้ามองคัมภีร์กุรอานจากทรรศนะของวรรณกรรม เนื้อหาของคัมภีร์กุรอานก็มีลักษณะที่เป็นทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองผสมกันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

แต่ถึงกระนั้นคัมภีร์กุรอานยังมีความแตกต่างไปจากวรรณกรรมทั่วโลก ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดคือ งานวรรณกรรมทั่วไปเป็นผลงานที่มนุษย์ประพันธ์ขึ้นมาโดยระบุชื่อผู้แต่งไว้ แต่คัมภีร์กุรอานไม่มีมนุษย์คนใดอ้างว่าเป็นผู้ประพันธ์ขึ้นมา ในคัมภีร์กุรอานเองระบุว่าถ้อยคำในคัมภีร์กุรอานเป็นวจนะของพระเจ้าล้วนๆโดยไม่มีนักประพันธ์คนใดมีส่วนร่วม

และเพื่อมิให้มนุษย์มีข้อสงสัยหรือข้อครหาว่ากุรอานเป็นกวีนิพนธ์ของสุดยอดอัจฉริยะทางวรรณกรรม พระเจ้าได้เลือกนบีมุฮัมมัดผู้ไม่รู้หนังสือในหมู่ชาวอาหรับเป็นผู้รับวจนะของพระองค์ไปอ่านให้มนุษย์ฟัง มิเพียงเท่านั้น ในคัมภีร์กุรอานพระเจ้ายังท้ามนุษย์ด้วยว่าถ้าแน่จริงให้สร้างวรรณกรรมที่เหมือนกับคัมภีร์กุรอานขึ้นมาสักบทหนึ่ง คำท้านี้มีมา 1,500 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีมนุษย์คนใดสามารถรับคำท้าได้

วรรณกรรมร้อยแก้วประกอบไปด้วยข้อความที่เรียกว่า “ประโยค” หลายๆประโยครวมกัน ส่วนร้อยกรองประกอบด้วยข้อความที่เรียกว่า “วรรค” ซึ่งมีฉันทลักษณ์ต่างกันไปตามประเภทของร้อยกรอง

แต่ในคัมภีร์กุรอาน ถ้อยคำที่อยู่ในรูปร้อยแก้วและร้อยกรองจำนวน 6,236 ตอน มิได้ถูกเรียกว่าประโยคหรือวรรค แต่ถูกเรียกเป็นภาษาอาหรับว่า “อายะฮ์” (พหูพจน์ “อายาต”) ซึ่งมีความหมายว่า “สัญญาณ, หลักฐาน และสิ่งมหัศจรรย์”

quran (1)

ชาวอาหรับในสมัยนบีมุฮัมมัดเป็นคนที่ทะนงในภาษาของตนจนถึงกับดูถูกคนที่พูดภาษาอาหรับไม่ได้ว่าเหมือนคนไม่มีลิ้น คนอาหรับที่เป็นกวีหรือคนเจ้าบทเจ้ากลอนในเวลานั้นรู้ดีว่าอายะฮ์กุรอานที่นบีมุฮัมมัดอ่านให้ฟังเป็นวรรณกรรมชั้นสูงที่พวกตนไม่เคยได้ยินมาก่อน ส่วนพวกพ่อมดหมอผีต่างพูดว่าอายะฮ์กุรอานมิใช่คาถาอาคมที่พวกตนใช้ในการทำไสยศาสตร์ นบีมุฮัมมัดจึงบอกคนเหล่านี้ว่าสิ่งที่ท่านอ่านให้พวกเขาฟังคืออายะฮ์กุรอานจากพระเจ้า

ดังนั้น ใครที่ปฏิเสธหรือไม่ยอมรับอายะฮ์กุรอานที่ท่านอ่านให้ฟังก็หมายถึงคนนั้นปฏิเสธพระเจ้า

ส่วนพวกลูกหลานอิสราเอลไม่ยอมรับนบีมุฮัมมัดและอายะฮ์กุรอานที่ท่านนำมาก็เพราะคนกลุ่มนี้ทะนงในบรรพบุรุษของพวกตนหลายคนที่เป็นนบีและพวกตนเป็นผู้รู้คัมภีร์ที่มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว พวกลูกหลานอิสราเอลจึงดูถูกนบีมุฮัมมัดที่เป็นชาวอาหรับและไม่รู้หนังสือ

ด้วยเหตุนี้พระเจ้าจึงได้ประทานอายะฮ์กุรอานที่เกี่ยวกับเรื่องราวของนบีและกลุ่มชนก่อนๆซึ่งมีกล่าวอยู่ในคัมภีร์ของชาวยิว เช่น อาดัม โนอาห์ อับราฮัม โลท โมเสส ให้แก่นบีมุฮัมมัดในฐานะ “สิ่งมหัศจรรย์” เพื่อเป็น “หลักฐาน” ว่านบีมุฮัมมัดเป็นศาสนทูตของพระเจ้าจริง

ประวัติศาสตร์ในคัมภีร์กุรอานจึงถือเป็น “สัญญาณ” เตือนมนุษย์ถึงการมีอยู่ของพระเจ้า

เมื่อผู้คนไม่ยอมรับอายะฮ์กุรอานว่าเป็นสัจธรรม พระเจ้าจึงได้กล่าวไว้ในคัมภีร์กุรอานตอนหนึ่งว่า “เราจะให้เขาได้เห็นอายะฮ์ของเราในฟากฟ้าและในตัวของเขาจนกระทั่งมันเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าคัมภีร์กุรอานเป็นสัจธรรม” (กุรอาน 41:53)

นั่นหมายความว่า “อายะฮ์” ของพระเจ้ามิได้มีอยู่ในคัมภีร์กุรอานอย่างเดียว แต่ในจักรวาลและในตัวของมนุษย์เป็นเหมือนคัมภีร์ที่มี “อายะฮ์” ของพระเจ้าให้มนุษย์ศึกษาด้วย

ถ้าอ่านความหมายของอายะฮ์กุรอานข้างต้นอย่างใช้สติปัญญาแล้ว เราจะสรุปได้ว่าการโคจรของดาวนับล้านดวงอย่างมีระเบียบและเป็นระบบในจักรวาล และการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายของมนุษย์คือ “สิ่งมหัศจรรย์” ที่เป็น “หลักฐาน” และเป็น “สัญญาณ” ยืนยันว่าคัมภีร์กุรอานเป็นสัจธรรมที่ยืนยันว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวที่เป็นผู้ทรงสร้างและผู้ทรงควบคุมทุกสรรพสิ่ง


You must be logged in to post a comment Login