วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567

ม.มหิดล จัดทำคู่มือผู้สูงอายุรู้เท่าทันสื่อ เตรียมใช้ในหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุทั่วประเทศ

On April 4, 2020

วันผู้สูงอายุ ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็นวันเดียวกับวันมหาสงกรานต์  แต่ในปี 2563 มีเหตุต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19

ปัจจุบันพบว่าโลกของผู้สูงอายุเปลี่ยนแปลงไปตามโลกยุคดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคมอยู่ตลอดเวลา โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่เข้าสู่โลกออนไลน์เพื่อเติมเต็มชีวิตที่ขาดหายไป

ผู้สูงอายุในประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียโดยรู้ไม่เท่าทัน โดยสื่อที่ผู้สูงอายุใช้งานมากที่สุด ได้แก่ Line และ Facebook ส่วนใหญ่พบว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่แชร์ข่าวปลอม (Fake News) มากที่สุด เนื่องจากในบางรายสูญเสียความสามารถในการวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณตามวัยที่มากขึ้น จึงตกเป็นเหยื่อข่าวลวงได้โดยง่าย

ซึ่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉินได้กำหนดห้ามการนำเสนอ Fake News เกี่ยวกับ “สถานการณ์ Covid-19″ ที่เป็นเท็จ หรือบิดเบือน ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชน โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

2

รศ.ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้วิจัยหลักของโครงการ “สูงวัยไม่เสพสื่ออย่างสุ่มเสี่ยง” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แนะคาถา “หยุด คิด ถาม ทำ” มาใช้เป็นเครื่องมือในการรู้เท่าทันสื่อสำหรับผู้สูงวัย ดังนี้

1. “หยุด” คือ การยับยั้งชั่งใจอย่าด่วนเชื่อในข้อมูลที่ได้รับมา

2. “คิด” คือ การคิดถึงความจำเป็น ข้อดี ข้อเสีย ตลอดจนผลกระทบที่ตามมา

3. “ถาม” คือ การหาข้อมูลเพิ่มเติมจากการถามเพื่อน ผู้รู้ หรือจากสื่ออื่นๆ อย่าเชื่อข้อมูลมาจากสื่อเพียงแหล่งเดียว

4. “ทำ” คือ เมื่อคิดทบทวนและถามหาข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว จึงตัดสินใจว่าจะแชร์ต่อหรือไม่

นอกจากนี้ รศ.ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ ยังได้มีส่วนในการจัดทำคู่มือการจัดการเรียนรู้ประกอบหลักสูตรผู้สูงอายุรู้เท่าทันสื่อ เพื่อใช้ในโรงเรียนผู้สูงอายุของกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 43 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมในการเป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพอีกด้วย

“จริงๆ คาถา “หยุด คิด ถาม ทำ” สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ในยามที่เราได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤต Covid-19 คือ “หยุด” ก่อนจะซื้อ แล้ว “คิด” ว่าดีหรือไม่ จากนั้นจึง “ถาม” เพื่อหาข้อมูล แล้วค่อยตัดสินใจ “ทำ” ว่าจะซื้อสิ่งนั้นหรือไม่ โดยเราหวังให้ผู้สูงอายุที่ผ่านโครงการฯ ได้นำแนวคิดดังกล่าวไปสื่อสารต่อคนในครอบครัว และชุมชน เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง หรือตกเป็นเหยื่อของข้อมูลปลอมต่อไป” รศ.ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ กล่าวในทิ้งท้าย

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม  นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)  งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป  สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร.0-2849-6210


You must be logged in to post a comment Login