วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

ใครว่า! การเล่นไม่สำคัญ

On January 3, 2020

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช 

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ชาตรี วิฑูรชาติ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์  www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  3-10 มกราคม 2563)

คุณแม่หลายคนคงกังวลที่ลูกน้อยเอาแต่เล่น ไม่สนใจการอ่านเขียน แต่จริงๆแล้วการเล่นเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาของเด็กทุกๆด้าน ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้จากสิ่งต่างๆรอบตัว พัฒนาความแข็งแรง ความคล่องแคล่วว่องไว ส่งเสริมจินตนาการ อีกทั้งยังช่วยพัฒนาทักษะการเข้าสังคม การปรับตัว และการสื่อสารกับผู้อื่นด้วย

สอนอย่างไรให้รู้จักเล่น

ธรรมชาติของเด็กเล็กขวบปีแรกจะเล่นคนเดียวกับตนเอง จนกว่าอายุ 2-3 ปี จึงจะเริ่มสนใจการเล่นกับผู้อื่นมากขึ้น เด็กโตเรียนรู้การทำกิจกรรมและเข้าสังคมร่วมกับผู้อื่นโดยผ่านการเล่น เด็กจะเรียนรู้การให้ การเป็นผู้นำและผู้ตาม เรียนรู้ความเป็นมิตร และการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองจากการที่เล่นกับคนอื่น

เด็กที่เป็นลูกคนเดียวอาจพอใจที่จะเล่นกับผู้ใหญ่ และไม่ยอมสัมพันธ์กับเด็กอื่น เนื่องจากพอใจกับการที่ผู้ใหญ่มักจะยอมตาม ให้คำชม ความเข้าใจ และการยอมรับ จึงทำให้เด็กไม่สนใจเล่นกับเด็กอื่น ผู้ใหญ่จึงควรพยายามส่งเสริมเด็กให้เรียนรู้วิธีการเล่นกับผู้อื่น เพื่อที่เขาจะได้รู้จักใช้ชีวิตเหมือนเด็กคนอื่นๆ โดยเริ่มต้นจากญาติพี่น้องหรือคนคุ้นเคย หาของเล่นที่เหมาะสมและสามารถทำให้เด็กสนุกสนาน โดยเป็นของเล่นหรือการละเล่นที่ต้องเล่นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป จากจุดนี้จะเป็นแรงเสริมกระตุ้นให้เด็กอยากเล่นต่อจนขยายไปสู่การเล่นเป็นกลุ่มมากขึ้น

เลือกของเล่นอย่างไร

การเลือกของเล่นให้เด็กเป็นสิ่งสำคัญ ควรคำนึงถึงระดับอายุและความชอบของเด็ก เช่น ช่วงอายุ 3-6 ปี เป็นช่วงที่พัฒนาความแข็งแรงและคล่องแคล่วของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก และพัฒนาจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ การเล่นที่เหมาะสมควรเป็นการเล่นในสนาม วิ่ง กระโดด ขี่จักรยาน หรือการเล่นที่ใช้จินตนาการ เช่น เล่นสมมุติกับตุ๊กตา เล่นบทบาทสมมุติ (ครู-นักเรียน, หมอ-คนไข้) เล่นขายของ หรือฟังนิทาน จะช่วยพัฒนาด้านอารมณ์ สังคม และสติปัญญา

ของเล่นที่ดีประกอบด้วยลักษณะต่อไปนี้

1.มีความปลอดภัย ทำจากวัสดุไม่เป็นพิษ ไม่แหลมคม ไม่เป็นวัสดุไวไฟ ไม่มีไฟช็อต ไม่เล็กเกินไปจนกลืนเข้าคอหรือหยิบใส่จมูก

2.ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้และใช้ความคิดตามวัย ช่วยเร้าความสนใจ เช่น มีสีสันสะดุดตา กระตุ้นการรับรู้ สามารถดึง ถอด ต่อเป็นรูปต่างๆตามความพอใจ ส่งเสริมให้เด็กใช้ความคิดจินตนาการ พัฒนากล้ามเนื้อ ประสาทตา และมือ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญสู่การเรียน การอ่าน เขียน ต่อไป

3.ประหยัด ของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการส่วนมากมีราคาไม่แพง เช่น ตุ๊กตาครอบครัว ลูกบอล ดินน้ำมัน กระดาษ ดินสอสี เป็นต้น หรือใช้เศษวัสดุรีไซเคิลทำเองได้ไม่ยาก

4.ประสิทธิภาพ ของเล่นที่ดีจะต้องเหมาะสมกับวัยของเด็ก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการพัฒนาเด็ก ได้แก่

• อายุ 0-12 เดือน ของเล่นที่ให้เด็กไขว่คว้า เช่น โมบาย กระดิ่ง ของเล่นที่กระตุ้นการมอง ของเล่นสำหรับการถือ บีบ เขย่า ของเล่นที่ใช้ดูด กัด อม (ต้องแน่ใจด้วยว่าใช้สีที่ไม่เป็นอันตรายและไม่เล็กจนติดคอได้)

• อายุ 1-2 ปี ของเล่นที่ใช้ตอกหรือใช้กด ห่วงกลมที่มีราวให้สามารถเลื่อนไปมาได้ สมุดภาพสัตว์ สิ่งของ เครื่องใช้ เพื่อให้เด็กรู้จัก สามารถเรียกชื่อได้ ตุ๊กตา ของเล่นนุ่มๆ รถลาก บอล แท่งไม้ใหญ่ๆสำหรับต่อ เป็นต้น

• อายุ 2-3 ปี กล่องที่มีช่องหลายช่องสำหรับใส่รูปทรงต่างๆ ก้อนไม้สีต่างๆสำหรับจับคู่สี ของเล่นที่ใช้สร้างบ้าน ดินสอเทียน ดินสอสีไว้ระบายสมุดภาพ กระบะทราย ฟุตบอล

• อายุ 3-4 ปี ภาพจิ๊กซอว์ง่ายๆ 6 ชิ้นขึ้นไป แท่งรูปทรงต่างๆที่ยากขึ้นสำหรับให้เด็กหยิบใส่ให้ตรงช่อง รูปภาพสัตว์ สิ่งของง่ายๆ ให้เด็กจับคู่ แป้งโด LECO ตุ๊กตา กรรไกร (พลาสติก) จักรยาน 3 ล้อ

พึงระลึกไว้ว่าเด็กส่วนใหญ่จะไม่สนใจของเล่นที่ยากเกินวัย ฉะนั้นการเลือกของเล่นจึงควรเริ่มต้นจากของเล่นที่ง่ายๆ ค่อยๆเปลี่ยนเป็นยากขึ้น จะไม่ทำให้เด็กรู้สึกขาดความมั่นใจ พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะซื้อของเล่นที่ยากเกินไปไม่ตรงกับพัฒนาการของเด็ก เช่น ซื้อรถบังคับรีโมทให้เด็ก 3 ขวบ เด็กจะบังคับไม่เป็น และของเสียหายเร็ว หรือจิ๊กซอว์ที่จำนวนชิ้นมากเกินไปสำหรับอายุ ทำให้เด็กรู้สึกล้มเหลวเมื่อทำไม่ได้

การเล่นพัฒนาเด็กได้จริงหรือ

ในขณะที่เด็กเล่นจะเกิดการประสานงานระหว่างระบบความคิดจินตนาการ ระบบกล้ามเนื้อ และระบบประสาทสัมผัส เช่น การเอาแท่งไม้มาต่อให้เป็นรูปตึก เด็กจะต้องคิดว่าจะเลือกแท่งไม้ชนิดใด จะสร้างรูปแบบอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะควบคุมให้มือเคลื่อนไหวได้เบาที่สุด ควรจะวางแท่งไม้อย่างไรจึงจะสมดุลเพื่อให้ได้หอคอยสูงที่สุด แต่ละขั้นตอนล้วนมีประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ และเป็นพื้นฐานเพื่อพัฒนาไปสู่ขั้นที่สูงขึ้นในอนาคต

ที่สำคัญผู้ใหญ่ต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้สร้างสรรค์การเล่นด้วยตนเอง ไม่ออกคำสั่งควบคุมเกินไป เปิดโอกาสให้เด็กได้ลองผิดลองถูก อย่าเอะอะดุว่า เพราะความผิดพลาดนั้นเป็นประสบการณ์ที่มีค่ายิ่ง เป็นบทเรียนให้เด็กรู้จักป้องกัน ระมัดระวังมากยิ่งขึ้น และเมื่อเล่นเสร็จต้องให้เด็กรู้จักเก็บข้าวของให้เป็นระเบียบ

“ว่าแต่ต้องไม่ลืมให้เด็กเล่นเป็นเวลาด้วยครับ”


You must be logged in to post a comment Login