วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

ระเบิดรถไฟสำเร็จความใคร่

On August 23, 2019

คอลัมน์ : ร้ายสาระ

ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 23-30 สิงหาคม 2562)

นักธุรกิจหนุ่มวางระเบิดรถไฟ 2 ครั้งในเวลาห่างกันไม่นาน ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและล้มตายจำนวนมาก แรงบันดาลใจเกิดจากความกระสันอยากเห็นรถไฟตกรางมาตั้งแต่เด็ก

ซิลเวสเตอร์ มาทุสช์กา เกิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 1892 ในซานเทเวอร์ หมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งใกล้ชายแดนฮังการีและยูโกสลาเวีย (ปัจจุบันเป็นของประเทศเซอร์เบีย) เขาใฝ่ฝันจะได้เป็นครูหรือวิศวกร จึงเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในฮังการี แต่ความฝันดับลงเพราะเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 ซิลเวสเตอร์ถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารรับใช้ชาติ

ปี 1919 ซิลเวสเตอร์ย้ายมาอยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ทำธุรกิจหลากหลายชนิดรวมถึงงานก่อสร้างและวัสดุที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม นับได้ว่าเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง เขาแต่งงานมีลูกสาวเล็กๆคนหนึ่ง ด้านชีวิตสังคมมีตำแหน่งหน้าที่ในสภาตำบล จัดว่าเป็นครอบครัวชนชั้นกลางที่สมบูรณ์แบบครอบครัวหนึ่ง

พลังด้านมืดโผล่

เดือนธันวาคม 1930 ซิลเวสเตอร์พาครอบครัวไปพักผ่อนที่หมู่บ้านซานเทเวอร์ สถานที่ที่เขาเกิด จนกระทั่งใน คืนวันที่ 24 ธันวาคม แทนที่ซิลเวสเตอร์จะฉลองวันคริสต์มาสอีฟกับครอบครัว เขากลับใช้เวลาเดินทอดน่องไปตามรางรถไฟคนเดียว ในใจครุ่นคิดถึงความฝันในวัยเด็ก

ครั้งหนึ่งสมัยเข้าสู่วัยรุ่น ซิลเวสเตอร์พบนักสะกดจิตคนหนึ่งที่เดินทางตระเวนไปแสดงกับคณะละครสัตว์ตามหมู่บ้านต่างๆ ขณะถูกสะกดจิตซิลเวสเตอร์ได้รับการติดต่อจากปิศาจตนหนึ่งชื่อ “ลีโอ” ปิศาจบอกซิลเวสเตอร์ว่าชีวิตเขาจะสมบูรณ์แบบก็ต่อเมื่อได้เห็นรถไฟตกราง

วันที่ 31 ธันวาคม ซิลเวสเตอร์เดินทางไปยังหมู่บ้านแอชเบช ประเทศออสเตรีย ทำการถอดหมุดหมอนรางรถไฟออกมาจำนวนหนึ่ง จากนั้นก็เขียนแผ่นป้ายมีข้อความ “โจมตี! ปฏิวัติ! ชัยชนะ!” ติดเอาไว้ข้างทางรถไฟ ก่อนที่จะแอบซุ่มรอดูรถไฟวิ่งตกราง

ซิลเวสเตอร์รอขบวนรถไฟอย่างทุกข์ทรมาน เพราะรถไฟไม่วิ่งมาสักที แต่เมื่อได้เวลาที่รถไฟมา มันวิ่งผ่านจุดนั้นไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซิลเวสเตอร์จึงเดินคอตกกลับบ้านไปด้วยความผิดหวัง วันรุ่งขึ้นช่างซ่อมบำรุงรางรถไฟผ่านมาพบและทำการซ่อมแซมโดยสงสัยอยู่ในใจว่าหมุดยึดหมอนรถไฟหายไปได้อย่างไร

เอาจนได้

ซิลเวสเตอร์สำเหนียกว่าการถอดหมุดหมอนรางรถไฟเพียงไม่กี่ตัวไม่สามารถทำให้รถไฟตกรางได้ วันที่ 30 มกราคม 1931 เขาขอลองใหม่อีกครั้ง คราวนี้ใช้ท่อนเหล็กวางขวางบนรางรถไฟ เดชะบุญที่นายช่างประจำรถไฟมองเห็นแต่ไกลจึงหยุดรถไฟทันก่อนที่จะเกิดโศกนาฏกรรม ซิลเวสเตอร์เดินคอตกกลับบ้านด้วยความผิดหวังอีกครั้ง

การก่อวินาศกรรมไม่ใช่จะกระทำได้ง่ายๆ ซิลเวสเตอร์จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและวางแผนให้รอบคอบรัดกุมกว่านี้ เขาลงทุนควักกระเป๋าซื้อเหมืองเก่าแห่งหนึ่งเพื่อใบอนุญาตครอบครองวัตถุระเบิด หลังจากนั้นก็ศึกษาและทดลองวางระเบิดจนเกิดความชำนาญ

หลายเดือนต่อมา วันที่ 8 สิงหาคม 1931 ซิลเวสเตอร์เดินทางไปที่เมืองจูเตอร์บ็อก ประเทศเยอรมัน ทำการติดตั้งระเบิดไว้ที่ใต้สะพานรถไฟ ทันทีที่รถด่วนขบวนเบอร์ลิน (เยอรมัน)-บาเซิล (สวิตเซอร์แลนด์) ข้ามสะพาน ซิลเวสเตอร์ก็จุดระเบิดทันที ทำให้หัวรถจักร ตู้เสบียง และตู้โดยสาร 7 ขบวน ร่วงจากสะพานสูงจากพื้น 30 ฟุต

เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 100 ราย ซึ่งส่วนหนึ่งอาการสาหัส แต่เหลือเชื่อที่ไม่มีผู้เสียชีวิต ตำรวจพบหนังสือพิมพ์นาซีฉบับหนึ่งในที่เกิดเหตุจึงสันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับการเมือง และได้ตั้งรางวัลนำจับคนร้ายเป็นเงิน 100,000 มาร์ก

ถึงจุดไคลแมกซ์

วันที่ 13 กันยายน 1931 ซิลเวสเตอร์ลงมืออีกครั้ง เขาติดตั้งระเบิดชนิดแท่งใส่ในกระเป๋าเอกสารสีน้ำตาลวางไว้ใต้สะพานรถไฟเมืองเบียโทบากย์ ไม่ห่างจากกรุงบูดาเปสต์ เมืองหลวงฮังการีเท่าไรนัก น้ำหนักของรถไฟจะกดทับลงบนกระเป๋าเอกสารทำให้เกิดการจุดระเบิด

เวลา 00.20 น. รถด่วนเวียนนาออกเดินทางจากกรุงบูดาเปสต์มุ่งหน้าไปยังกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ผ่านมายังสะพานรถไฟเมืองเบียโทบากย์ เกิดเสียงระเบิดดังกึกก้อง ทำให้หัวรถจักรและตู้โดยสาร 9 ขบวน ร่วงจากสะพานลงสู่หุบเหวลึก 75 ฟุต และเกิดเพลิงลุกไหม้

เมื่อตำรวจและหน่วยกู้ภัยเดินทางมาถึงที่เกิดเหตุ ซิลเวสเตอร์ก็แสดงตัวเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ โดยอ้างตัวว่าเป็นหนึ่งในผู้โดยสารที่เดินทางมากับตู้โดยสารขบวนแรก เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตทันที 22 คน ได้รับบาดเจ็บ 120 คน 17 คนในจำนวนนี้อาการสาหัส

ตำรวจ 3 ประเทศ ฮังการี, ออสเตรีย และเยอรมัน ร่วมมือกันสืบสวนหาตัวคนร้ายจนพบข้อพิรุธว่าผู้โดยสารในขบวนแรกเสียชีวิตทั้งขบวน เป็นไปได้อย่างไรที่ซิลเวสเตอร์จะเป็นผู้โดยสารขบวนแรกที่รอดชีวิตเพียงคนเดียว แถมยังไม่ได้รับบาดเจ็บแม้แต่นิดเดียว

สารภาพสิ้น

วันที่ 10 ตุลาคม 1931 ตำรวจตามไปรวบตัวซิลเวสเตอร์ได้ที่กรุงเวียนนา เขารับสารภาพอย่างภาคภูมิใจว่าเป็นคนวางระเบิดสะพานรถไฟทั้ง 2 ครั้ง และเคยพยายามทำให้รถไฟตกรางอีก 2 ครั้งก่อนหน้านี้แต่ไม่สำเร็จ โดยอ้างว่าเป็น “ปิศาจลีโอ” สั่งให้เขาทำ

ซิลเวสเตอร์ถูกส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนให้กับฮังการี เขาถูกพิพากษาจำคุก 6 ปีในการวางระเบิดสะพานรถไฟครั้งแรก และโทษประหารชีวิตสำหรับการวางระเบิดครั้งที่ 2 แต่มีข้อตกลงด้านกฎหมายระหว่างประเทศทำให้ไม่สามารถประหารชีวิตซิลเวสเตอร์ได้ เขาจึงรับโทษจำคุกตลอดชีวิตแทน

ทีโอดอร์ ไรก์ นักจิตวิทยาสัญชาติเยอรมัน ใช้เวลาหลายปีศึกษาพฤติกรรมและมูลเหตุจูงใจที่ทำให้ซิลเวสเตอร์ก่ออาชญากรรมร้ายแรง เขาพบว่าไม่ใช่เรื่องการเมือง ไม่ใช่การเรียกร้องความสนใจ หากแต่เป็นอิฏฐารมณ์ ความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้เห็นหายนะเพื่อให้บรรลุจุดสุดยอดทางเพศ และจากบันทึกการสืบสวนของตำรวจพบร่องรอยการสำเร็จความใคร่ในที่เกิดเหตุ

ปี 1944 ซิสเวสเตอร์หลบหนีออกจากเรือนจำและหายเข้ากลีบเมฆนับตั้งแต่นั้นมา มีข่าวลือว่าเขาไปทำหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านวางระเบิดให้กับกองทัพนาซีในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ไม่มีหลักฐานยืนยัน เหลือไว้แต่เพียงเรื่องราวของชายผู้ก่อวินาศกรรมเพื่อสำเร็จความใคร่ให้ตนเอง

1

1.ซิลเวสเตอร์ มาทุสช์กา

2

2.ซิลเวสเตอร์กับภรรยาและบุตรสาว

3

3.ภาพซิลเวสเตอร์จากแฟ้มตำรวจ

4

4.รถไฟตกลงหุบเหวเบื้องล่าง

5

5.ทีมกู้ภัยช่วยเหลือผู้ประสบภัย

6

6.หนึ่งในผู้เคราะห์ร้าย

7

7.ตำแหน่งที่ถูกวางระเบิด

8

8.สายไฟที่ใช้ประกอบระเบิด

9

9.ซากที่เหลือของระเบิด

10

10.เจ้าหน้าที่ช่วยกันกู้ซากรถไฟ

11

11.ซิลเวสเตอร์ถูกนำตัวขึ้นศาล


You must be logged in to post a comment Login