วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

กัญชากับภาวะสมองเสื่อม : ประโยชน์หรือโทษ

On July 12, 2019

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : ศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่  12-19 กรกฎาคม 2562 )

กัญชาถูกนำมาใช้ทั้งในวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ และได้มีข้อมูลการนำกัญชามาใช้ในการรักษาโรคหลายชนิดมากขึ้น ซึ่งมีรายงานว่าได้ผลดีในการรักษา อย่างไรก็ตาม ในวงการแพทย์มักรู้สึกกังวลในการนำมาใช้เพื่อรักษาโรค เนื่องจากยังขาดข้อมูลโดยเฉพาะในกลุ่มประชากรผู้สูงอายุที่อายุเกิน 75 ปี ซึ่งมักไม่ได้อยู่ในกลุ่มประชากรที่เข้าร่วมงานวิจัย เป็นกลุ่มที่มีการเจ็บป่วยหลายอย่างที่อาจเข้าข้อบ่งชี้ของการใช้กัญชา แต่มีความเสี่ยงในด้านต่างๆมากขึ้นจากการใช้ยา เช่น การถดถอยของการทำงานของอวัยวะต่างๆ การเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่ทำให้ร่างกายจัดการกับยาหรือความไวต่อยาเปลี่ยนแปลงไป (เภสัชจลนศาสตร์ และเภสัชพลศาสตร์) ผู้สูงอายุอาจใช้ยาหลายขนาน ยาตีกัน ทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงจากยามากขึ้น

สำหรับการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาในภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ โดยคำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1/2562 ให้เป็นกลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์ เนื่องจากหลักฐานทางวิชาการที่มีคุณภาพสนับสนุนมีจำนวนจำกัดตามรายละเอียดหลักฐานงานวิจัยของกัญชาในภาวะสมองเสื่อมดังนี้

การวิจัยในสัตว์ทดลอง

จากข้อมูลในสัตว์ทดลองพบว่า THC ซึ่งเป็นสารประกอบเคมีชนิดหนึ่งที่ได้จากใบกัญชา ช่วยทำให้เกิดการสร้างเซลล์ประสาทในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ที่เกี่ยวกับความจำ ป้องกันกระบวนการเสื่อมของเซลล์ประสาทในสัตว์ทดลอง ป้องกันการรู้คิดบกพร่องที่เกิดจากการอักเสบ และฟื้นฟูความจำและการรู้คิดในหนูทดลองที่อายุมาก ทำให้มีการศึกษาถึงผลของกัญชาในคนที่มีภาวะสมองเสื่อม

การวิจัยผลของกัญชาต่อภาวะสมองเสื่อมในคน

การวิจัยผลของกัญชาต่อภาวะสมองเสื่อมในคน มีการวิจัยเฉพาะในด้านการรักษา ไม่มีด้านการป้องกันการเกิดสมองเสื่อม โดยมีงานวิจัยดังนี้

งานวิจัยแบบเปิด คือ ผู้วิจัย ผู้ป่วย และผู้ดูแลผู้ป่วย ทราบว่าผู้ป่วยได้กัญชาเพื่อการวิจัยและจากรายงานผู้ป่วยเป็นรายๆไป ในการใช้กัญชาในผู้ป่วยสมองเสื่อมมักจะให้ผลที่ดีในการลดการเคลื่อนไหวในตอนกลางคืน ลดอาการทางจิตประสาท อาการพลุ่งพล่าน กระวนกระวาย หงุดหงิด เฉยเมย ก้าวร้าว อาการหลงผิด และพฤติกรรมผิดปกติตอนกลางคืน

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่เป็นแบบเปิดนี้ ผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัย (ในที่นี้คือผู้ดูแลผู้ป่วย) จะทราบว่าผู้ป่วยได้รับการรักษาแบบไหน ทำให้มีโอกาสมีอคติในการประเมินและการรายงานผลได้สูง ซึ่งงานวิจัยแบบนี้มักมีปัญหาในการแปลผลและนำไปใช้ต่อ เพราะอาการด้านพฤติกรรมและอารมณ์ในภาวะสมองเสื่อมไม่ได้เกิดตลอด ผู้ป่วยบางรายมีอาการเพียงบางวัน บางสัปดาห์ แล้วหายไปเองก็มี ขึ้นกับหลายๆปัจจัย เช่น รูปแบบ เทคนิคการดูแล สิ่งเร้าให้เกิดพฤติกรรมอารมณ์นั้นๆ หรือการปรับยาอื่นๆที่รับประทานร่วมกัน เป็นต้น

งานวิจัยที่เป็นการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมซึ่งเป็นยาหลอก ซึ่งมีคุณภาพของงานวิจัยสูงกว่า เพราะมีการเปรียบเทียบผลกับยาหลอก และผู้วิจัย ผู้เข้าร่วมการวิจัย (รวมถึงผู้ดูแล) ไม่รู้ก่อนว่าผู้ป่วยได้รับยาในกลุ่มใด การวิจัยแบบนี้มีน้อยมาก และทั่วโลกยังมีผู้ป่วยที่วิจัยแบบนี้ที่เป็นผู้ป่วยสมองเสื่อมไม่ระบุสาเหตุ และในผู้ป่วยสมองเสื่อมเฉพาะจากโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งมีความไม่ชัดเจนในอคติของการวิจัย ได้แก่ การอธิบายการปกปิดการแบ่งกลุ่มผู้ป่วย และการที่ผู้วิจัยไม่ทราบว่าผู้ป่วยอยู่กลุ่มใดไม่เพียงพอ จำนวนประชากรในการศึกษายังน้อย และเป็นการวิจัยที่ดูผลในด้านพฤติกรรมและอารมณ์เป็นหลัก ไม่ใช่ด้านความสามารถในการรู้คิด ความจำของผู้ป่วย

ผลการศึกษาจากงานวิจัยแบบนี้ยังออกมาขัดแย้งกัน คือ ในการวิจัยบางงานพบว่ากัญชาลดความรุนแรงของพฤติกรรมที่รบกวนและลดความรู้สึกทางลบ ลดอาการพลุ่งพล่านกระวนกระวายในตอนกลางคืน และทำให้วงจรการนอนหลับดีขึ้น ในขณะที่บางการวิจัยไม่พบว่าการใช้กัญชาลดอาการทางจิตประสาทได้

ผลข้างเคียงที่ควรระวัง

ได้แก่ ง่วงซึม มึนงง ปากแห้ง หัวใจเต้นเร็ว วิตกกังวล กระวนกระวาย การรู้คิดบกพร่อง รบกวนความจำระยะสั้น และการตอบสนองทางอารมณ์ สับสน คลื่นไส้ การเดินและการทรงตัวบกพร่อง ลดสมรรถภาพในการขับรถ เพิ่มความเสี่ยงของอาการทางจิต ประสาทหลอน และการฆ่าตัวตาย เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย เสียชีวิตกะทันหัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมอง

นอกจากนั้นผู้สูงอายุอาจมีการลดลงของการทำงานของตับและไต อาจทำให้ขับยาออกไปได้น้อยลง มีค่าครึ่งชีวิตของยายาวนานขึ้น และจากการที่ผู้สูงอายุมีส่วนประกอบของไขมันในร่างกายเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าคนหนุ่มสาว ทำให้ยาสะสมในไขมันและใช้เวลาขับออกไปนานขึ้น และต้องระวังอาจเกิดอันตรกิริยาระหว่างกัญชากับยาอื่นได้ เช่น ยานอนหลับ และอาจมีผลต่อยาที่กระตุ้นหัวใจ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงขึ้น และหัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น

ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดที่เกิดจากงานวิจัยกัญชาในการรักษาภาวะสมองเสื่อม อีกทั้งขาดหลักฐานทางการแพทย์ในงานวิจัยที่มีคุณภาพที่ดีในแง่ประโยชน์และโทษของการใช้กัญชาในการป้องกันและรักษาภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ สมาคมวิชาชีพต่างๆด้านสมองเสื่อมจึงยังไม่แนะนำให้ใช้รักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์โดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม การที่หลักฐานทางวิชาการยังไม่ชัดเจนไม่ได้หมายความว่ากัญชาไม่มีประโยชน์ในทางการแพทย์ แต่คงต้องอาศัยนักวิชาการ นักวิจัย ช่วยกันพิสูจน์สมมุติฐานนี้ โดยประโยชน์อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยบางกลุ่มที่จำเพาะ ดังนั้น การใช้กัญชาทางการแพทย์จึงต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล โดยคำนึงถึงลักษณะที่แตกต่างกันในแต่ละคน อาการที่ต้องใช้ยา ความรุนแรงของอาการ โรคร่วม และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

 


You must be logged in to post a comment Login