วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

ภาวะหมดไฟในการทำงาน

On June 21, 2019

คอลัมน์ : พบหมอศิริราช

ผู้เขียน : พญ.กมลพร วรรณฤทธิ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์

(โลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ 21-28 มิถุนายน 2562 )

ภาวะหมดไฟในการทำงานคืออะไร

ภาวะหมดไฟในการทำงานคือ ภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในการทำงาน โดยมีอาการหลัก 3 อาการ ได้แก่

1) มีความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกสูญเสียพลังงานทางจิตใจ

2) มองความสามารถในการทำงานของตนเองในเชิงลบ ขาดความรู้สึกประสบความสำเร็จ

3) มองความสัมพันธ์ในที่ทำงานไปในทางลบ รู้สึกเหินห่างจากคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมงานหรือลูกค้า

คนทำงานอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหมดไฟหากรู้สึกว่างานของตนมีลักษณะดังต่อไปนี้

1.ภาระงานหนักและปริมาณงานมาก รวมถึงงานมีความซับซ้อนต้องทำในเวลาเร่งรีบ

2.ขาดอำนาจในการตัดสินใจ และมีปัญหาการเรียงลำดับความสำคัญของงาน

3.ไม่ได้รับการตอบแทนหรือรางวัลที่เพียงพอต่อสิ่งที่ทุ่มเทไป

4.รู้สึกไร้ตัวตนในที่ทำงาน หรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม

5.ไม่ได้รับความยุติธรรม ขาดความเชื่อใจและการเปิดใจยอมรับกัน

6.ระบบบริหารในที่ทำงานขัดต่อคุณค่าและจุดมุ่งหมายในชีวิตของตนเอง

ระยะต่างๆในการทำงานซึ่งนำมาสู่ภาวะหมดไฟ (Miller & Smith, 1993) แบ่งได้ดังนี้

1.ระยะฮันนีมูน (the honeymoon) เป็นช่วงเริ่มงาน คนทำงานมีความตั้งใจ เสียสละเพื่องานเต็มที่ พยายามปรับตัวกับเพื่อนร่วมงานและองค์กร

2.ระยะรู้สึกตัว (the awakening) เมื่อเวลาผ่านไปคนทำงานเริ่มรู้สึกว่าความคาดหวังของตนอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เริ่มรู้สึกว่างานไม่ตอบสนองความต้องการของตนทั้งในแง่การตอบแทนและการเป็นที่ยอมรับ คนทำงานอาจรู้สึกว่าชีวิตดำเนินอย่างผิดพลาดและไม่สามารถจัดการได้ ทำให้เกิดความคับข้องใจและเหนื่อยล้า

3.ระยะไฟตก (brownout) คนทำงานรู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรังและหงุดหงิดง่ายขึ้นอย่างชัดเจน อาจมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อหนีความคับข้องใจ เช่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ดื่มสุรา ส่งผลให้ความสามารถในการทำงานเริ่มลดลง อาจเริ่มมีการแยกตัวจากเพื่อนร่วมงาน มีการวิพากษ์วิจารณ์องค์กรของตนเอง

4.ระยะหมดไฟเต็มที่ (full scale of burnout) หากช่วงไฟตกไม่ได้รับการแก้ไข คนทำงานจะเริ่มรู้สึกสิ้นหวัง มีความรู้สึกว่าตนเองล้มเหลว สูญเสียความมั่นใจในตนเอง มีอาการของภาวะหมดไฟเต็มที่

5.ระยะฟื้นตัว (the phoenix phenomenon) หากคนทำงานได้มีโอกาสผ่อนคลายและพักผ่อนอย่างเต็มที่ จะสามารถกลับมาปรับตนเองและความคาดหวังต่องานให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น รวมถึงสามารถปรับแรงบันดาลใจและเป้าหมายในการทำงานด้วย

อย่างไรก็ตาม หากภาวะหมดไฟไม่ได้รับการจัดการอาจส่งผลด้านต่างๆดังนี้

– ผลด้านร่างกาย อาจพบอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ

– ผลด้านจิตใจ บางรายอาจสูญเสียแรงจูงใจ หมดหวัง รู้สึกหมดหนทางที่จะช่วยให้ดีขึ้น ส่งผลให้มีอาการของภาวะซึมเศร้าและอาการนอนไม่หลับได้ อาจพบว่ามีการใช้สารเสพติดเพื่อจัดการกับอารมณ์

– ผลต่อการทำงาน อาจขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง อาจคิดเรื่องลาออกในที่สุด

สัญญาณเตือนว่าเริ่มเกิดภาวะหมดไฟมีอะไรบ้าง

– อาการทางอารมณ์ : หดหู่ เศร้า อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิด ไม่พอใจในงานที่ทำ

– อาการทางความคิด : เริ่มมองงานหรือคนอื่นในแง่ร้าย ระแวงง่ายขึ้น โทษคนอื่น สงสัยความสามารถของตนเอง และอยากเลี่ยงปัญหา

– อาการทางพฤติกรรม : หุนหันพลันแล่น ผัดวันประกันพรุ่ง ทำกิจกรรมสร้างความสุขลดลง เริ่มมาทำงานสายบ่อยขึ้น บริหารจัดการเวลาแย่ลง

หากเกิดภาวะหมดไฟจะจัดการอย่างไร

พัฒนาทักษะในการจัดการปัญหาและความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงทักษะการสื่อสาร เจรจาต่อรอง การยืนหยัดเพื่อรักษาสิทธิอันชอบธรรมของตนเอง

– ยอมรับความแตกต่างของคน และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่อาจไม่ตรงกัน ไม่ด่วนตัดสินคนอื่น

– แสวงหาความช่วยเหลือ และอาจหาที่ปรึกษา (coach and mentor)

– ร่วมกิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมเพื่อสุขภาพ

ภาวะหมดไฟในการทำงานไม่ใช่โรคซึมเศร้า แต่ถ้าหากคนทำงานเริ่มมีอาการเศร้าหดหู่ เบื่อหน่ายสิ่งรอบตัว รู้สึกทุกข์ทรมานกับการใช้ชีวิต หรือมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ ควรสงสัยว่าอาจเป็นโรคซึมเศร้า แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ


You must be logged in to post a comment Login