วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

ลากตั้งพิสดาร?

On June 20, 2019

คอลัมน์ : ฉุก(ละหุก)คิด

ผู้เขียน : นายหัวดี

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 20 มิ.ย. 62)

กระบวนการสรรหา “ส.ว.ลากตั้ง” หรือ “สภาวงศาคนาญาติ” เพื่อเป็น “องครักษ์พิทักษ์ระบอบ คสช.” ภายใต้รัฐธรรมนูญที่พิสดารพันลึกและอัปลักษณ์ พรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นญัตติให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกระบวนการตั้งกรรมการสรรหา ส.ว. รวมถึงยื่นอัยการสูงสุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ก่อนหน้านี้ “เนติบริกร” ก็สร้าง “ตรรกะศรีธนญชัย” ว่าคำสั่ง คสช. ตั้งกรรมการสรรหา ส.ว. ไม่ผิดและไม่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพราะเป็นเพียงคำสั่ง ไม่ใช่กฎหมาย เป็นเรื่องภายใน “ไม่เกี่ยวอะไรกับประชาชน” จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องเปิดเผยรายละเอียดให้ประชาชนรู้ว่าสมัครกับใคร ที่ไหน อย่างไร

แต่ “ส.ว.ลากตั้ง” กลับมีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และยังกินเงินเดือนจากภาษีประชาชนอีก

“ตรรกะศรีธนญชัย” ไม่ใช่แค่สร้างบรรทัดฐานที่ผิดหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังดูถูกประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศ

“ประธาน ส.ว.ลากตั้ง” ไม่วิตกการกล่าวหาและตรวจสอบคุณสมบัติของ “ส.ว.ลากตั้ง” แต่ไม่ใช่การอภิปรายในสภา ต้องใช้ช่องทางอื่น ยกเว้น “ส.ว.ลากตั้ง” จะตรวจสอบกันเอง สามารถลงชื่อและยื่นเรื่องต่อ “ประธาน ส.ว.ลากตั้ง” เพื่อให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82

ประเด็นสำคัญคือรัฐธรรมนูญฉบับอัปลักษณ์ไม่ได้ระบุว่าหาก “ส.ว.ลากตั้ง” เป็นโมฆะ “ประธาน ส.ว.ลากตั้ง” ก็เชื่อว่าไม่กระทบการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่ผ่านไปแล้ว ทั้งยังมีปัญหาว่าเมื่อไม่มี “คณะรัฐประหาร” แล้ว กระบวนสรรหา “ส.ว.ลากตั้ง” จะทำอย่างไร

เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดเพียงว่า อายุของ “ส.ว.ลากตั้ง” มีกําหนด 5 ปี และอยู่ในตําแหน่งจนกว่าจะมี ส.ว. ใหม่จํานวน 200 คนมาจาก “การเลือกกันเอง” ของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพต่างๆ ฯลฯ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.

“ส.ว.ลากตั้ง” จึงจะอยู่เพื่อเป็น “องครักษ์พิทักษ์ระบอบ คสช.” ไปอีกนาน!!??


You must be logged in to post a comment Login