วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

มั่นใจเกินร้อย

On May 17, 2019

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

(โลกวันนี้รายวัน ประจำวันที่ 17 พ.ค. 62)

รายชื่อผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ส.ว. ที่ถูกเปิดเผยออกมา แม้จะเป็นไปตามความคาดหมายและได้รับเสียงวิจารณ์อย่างหนักในทุกแง่มุมทั้งสภาเครือญาติ สภาพี่น้อง สภานายพล ฯลฯ แต่จะเห็นได้ว่าท่าทีของคนในฝ่ายคุมอำนาจปัจจุบันไม่ได้ยี่หระกับปฏิกิริยาของผู้คนในสังคม ถึงจะเป็นการกระทำที่อุกอาจท้าทาย เสี่ยงต่อการขยายวงของกระแสต่อต้าน แต่ยังมีความมั่นใจในอำนาจที่ถืออยู่เกิน 100%

ผลการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่หลายคนพูดทำนองเดียวกันว่า “ด้านได้อายอด” ต้องยกให้เป็นที่สุดของที่สุดทางการเมืองที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

จากรายชื่อทั้ง 250 คนที่ได้รับการแต่งตั้ง มีมากถึง 147 คนที่เคยมีตำแหน่งในองค์กรต่างๆช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามายึดอำนาจปกครองประเทศ โดย 15 คนเป็นสมาชิก คสช. 15 คนเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลทหาร คสช. 90 คนเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 26 คนเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 35 คนเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในจำนวนนี้มีถึง 27 คนที่เคยทำงานมากกว่า 1 ตำแหน่งในยุค คสช.

ส่วนคนที่ไม่เคยมีตำแหน่งในยุครัฐบาลทหาร คสช. ก็มีหลายคนที่เป็นพวกพ้องน้องพี่กับคนในฝ่ายคุมอำนาจปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดในตอนนี้คือ กรณีอาจมีคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ได้รับการคัดเลือกเป็น ส.ว. เสียเองที่เข้าข่ายเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

จากการให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นมือกฎหมายของรัฐบาล ก็ไม่ได้ปฏิเสธกระแสข่าวนี้เสียทีเดียว

“ระหว่างที่คณะกรรมการสรรหา ส.ว. เลือกตัวเอง ก็จะงดออกเสียงหรือไม่เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณารายชื่อตัวเอง เรื่องนี้ได้กำชับไปแล้ว และเป็นอำนาจของ คสช. พิจารณาขั้นสุดท้าย ย้ำว่าการพิจารณา ส.ว. ของ คสช. ไม่มีการพิจารณาตัวเอง มีเอกสารในการประชุมบันทึกไว้ทุกครั้ง”

ชัดเจนว่ามีกรรมการสรรหา ส.ว. ผ่านการสรรหาเข้ามาเป็น ส.ว. ด้วย แต่ใช้วิธีเลี่ยงความผิดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนโดยการไม่เข้าร่วมลงมติหรือเข้าร่วมประชุมช่วงที่กรรมการสรรหาพิจารณารายชื่อตัวเอง

ทั้งนี้ คสช. จะเปิดรายชื่อกรรมการสรรหาให้สาธารณชนรับทราบตามที่มีข้อเรียกร้องในเร็วๆนี้

อย่างไรก็ตาม หากพลิกดูรายงานข่าวเก่าๆ พบว่ารายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานนั้น กรรมการประกอบด้วย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้า คสช. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรองหัวหน้า คสช. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและรองหัวหน้า คสช. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและสมาชิก คสช. ซึ่งมีหลายคนที่ได้เป็น ส.ว.

พฤติการณ์เช่นนี้หลายคนมองว่า “อุกอาจ” เพราะถ้าเป็นช่วงบ้านเมืองปรกติคงไม่มีใครกล้าทำ

ขณะนี้มีหลายคนไปยื่นเรื่องให้องค์กรที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้ว เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 (1) ระบุว่า

“ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่งซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง จํานวนไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 12 คน มีหน้าที่ดําเนินการสรรหาบุคคลซึ่งสมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภา”

คำถามคือ จากรายชื่อกรรมการสรรหา ส.ว. ที่ปรากฏเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือไม่ เป็นผู้มีประสบการณ์ด้านต่างๆครอบคลุมหลากหลายด้านหรือไม่ ที่สำคัญที่สุดคือมีความเป็นกลางทางการเมืองหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ถึงจะเป็นการกระทำที่อุกอาจโจ่งแจ้ง แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรกับการตัดสินขององค์กรอิสระมากนัก เพราะรู้กันอยู่ว่าใครเป็นใครในยุคนี้ ถ้าไม่มั่นใจในอำนาจมีหรือจะกล้ากระทำการอุกอาจโจ่งแจ้งเช่นนี้


You must be logged in to post a comment Login