วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

ไม้ในป่าตีค่าอย่างไร

On March 28, 2019

คอลัมน์ โลกอสังหาฯ
ไม้ในป่าตีค่าอย่างไร
โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย
(โลกวันนี้วันสุข วันที่ 29 มีนาคม-5 เมษายน 2562)

ตอนที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์มีบางคนพยายามมองว่าป่าไม้ที่แม้ไม่มีคนปลูกก็มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ควรตีราคา เพราะเมื่อสร้างเขื่อนต้นไม้เหล่านี้ก็จะสูญเสียไปด้วย ความสูญเสียเหล่านี้ตีเป็นเงินประมาณเท่าไร และเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่จะได้คุ้มค่ากันหรือไม่ เราจะมีวิธีการประเมินค่าไม้ในป่าอย่างไรจึงจะสอดคล้องกับความเป็นจริง ในกรณีนี้เรามาศึกษาจากกรณีเขื่อนแม่วงก์กัน
อสัง1
ในรายงานหลักของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ที่จัดทำโดย บจก.ครีเอทีฟ เทคโนโลยี เสนอต่อกรมชลประทาน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 ระบุถึงแนวทางการประเมินค่าต้นไม้ไว้ชัดเจน ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจยิ่ง

ในการประเมินค่าผู้ประเมินได้ทำการสุ่มแปลงตัวอย่าง 135 แปลง รวมพื้นที่ 1,113 ไร่ จากทั้งหมด 12,300 ไร่ ถือเป็นพื้นที่ตัวอย่างประมาณ 7.58% ไม่ได้นับทั้งหมดของพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 8 บริเวณก็คือ พื้นที่หัวงาน พื้นที่ในอ่างเก็บน้ำ พื้นที่นอกอ่างเก็บน้ำ พื้นที่ท่อส่งน้ำ พื้นที่คลองส่งน้ำ พื้นที่คลองระบาย พื้นที่บ่อยืมดิน และพื้นที่ชลประทาน
อสัง2
สำหรับการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจป่าไม้ใช้วิธีการประเมิน 2 วิธีคือ วิธีแรกเป็นการประเมินในกรณีการตัดไม้ออกจากพื้นที่โครงการทั้งหมด เพราะต้องนำพื้นที่ไปสร้างเขื่อน และวิธีที่ 2 เป็นการประเมินในกรณีที่ตัดไม้ออกเฉพาะส่วนที่เพิ่มพูนรายปีของไม้ในพื้นที่โครงการ นอกจากนี้ยังคำนวณมูลค่าไม้สุทธิของปีต่างๆโดยกำหนดให้ราคาไม้คงที่ (เท่ากับราคาปัจจุบัน และเงินเฟ้อร้อยละ 12 (ซึ่งอาจสูงเกินจริง-ผู้เขียน) โดยคิดเป็นมูลค่าอีก 50 ปีข้างหน้า

นอกจากการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 8 บริเวณแล้ว ในแต่ละบริเวณผู้ประเมินยังได้แบ่งกลุ่มสภาพนิเวศในพื้นที่ออกเป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติ พื้นที่พืชยืนต้น พื้นที่เกษตร พื้นที่รกร้าง พื้นที่ชุมชนและอยู่อาศัย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พื้นที่ปศุสัตว์และพื้นที่เลี้ยงสัตว์ พื้นที่แหล่งน้ำ และพื้นที่เกษตรผสมผสานและไร่นาสวนผสม รวม 9 ประเภทพื้นที่ และจากผลการสุ่มสำรวจแยกเป็น 8 บริเวณ และ 9 ประเภทการใช้ที่ดิน จึงได้ออกมาเป็นการประเมินปริมาณไม้แต่ละกลุ่ม เพื่อที่จะใช้เป็นฐานข้อมูลในการประเมินมูลค่าไม้ในที่สุด

ประเด็นสำคัญในการพิจารณาก็คือเรื่องความหนาแน่นของพรรณพืช (Plant density) ซึ่งหมายถึงจำนวนของพรรณไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งต่อหน่วยพื้นที่แห่งหนึ่งหรือต่อปริมาตร ในการศึกษาจะพิจารณาจำนวนต้นไม้ของพืชชนิดนั้นๆต่อหน่วยเนื้อที่หรือต่อแปลงควอเแครทโดยการนับพรรณไม้ในแปลงตัวอย่าง ทั้งนี้ ยังมีการแบ่งต้นไม้เป็น “ไม้ใหญ่” ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ความสูงเพียงอก (1.3 เมตร) ตั้งแต่ 10 เซนติเมตรขึ้นไป และ “กล้าไม้” คือต้นไม้ที่มีความสูงไม่เกิน 1.3 เมตร

นอกจากนี้ยังมีการวัดดัชนีความหลากหลายของชนิดภายในสังคมต้นไม้ สามารถกระทำโดยใช้ดัชนีความผกผัน (Species diversity index) ต่างๆ ในที่นี้หมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนต้นไม้กับจำนวนชนิดพรรณไม้ และดัชนีความหลายหลายของชนิดในรูปของ Fisher’s index of diversity สำหรับไม้ใหญ่คือต้นไม้ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ความสูงเพียงอกตั้งแต่ 10 เซนติเมตรขึ้นไปเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม การวัดนี้คงต้องอาศัยนักวิชาการป่าไม้หรือผู้เชี่ยวชาญอื่นในการสนับสนุนการวัด

ยิ่งกว่านั้นในการศึกษาไม้ในป่ายังต้องศึกษาการแบ่งชั้นความสูงตามแนวดิ่ง (Vertical stratification) อีกด้วย โดยเป็นการศึกษาโครงสร้างของสังคมพืช (Plant community structure) โครงสร้างตามแนวดิ่งนี้มีความสัมพันธ์กับการลดลงของปริมาณแสงสว่างโดยเฉพาะพืชบก ต้นไม้ที่อยู่ในชั้นความสูงที่ต่ำลงมาก็มักจะมีมูลค่าที่น้อยกว่า เพราะโอกาสการเติบโตจะน้อยลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ในที่นี้ยังเกี่ยวข้องกับสภาพการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติของต้นไม้ในป่าที่จะประเมินด้วย โดยพิจารณาถึงความหนาแน่นของลูกไม้ หรือต้นไม้ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ความสูงเพียงอกต่ำกว่า 10 เซนติเมตร และกล้าไม้ (ที่มีความสูงไม่เกิน 1.3 เมตร) นั่นเอง

สำหรับการคำนวณปริมาณไม้เพื่อการประเมินค่าแยกออกเป็น
1.ไม้ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางที่ระดับเพียงอกมากกว่า 30 เซนติเมตร เหมาะสำหรับเป็นไม้ซุง
2.ไม้ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางที่ระดับเพียงอกมากกว่า 10-30 เซนติเมตร เหมาะสำหรับเป็นเสาเข็ม
3.ไม้ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางที่ระดับเพียงอกน้อยกว่า 30 เซนติเมตร เหมาะสำหรับเป็นไม้ฟืน

ในรายงานได้สรุปมูลค่าของต้นไม้ที่ประเมินค่าไว้คือ ประการแรก มูลค่าทางเศรษฐกิจของไม้ที่ตัดออกทั้งหมดในเขตพื้นที่โครงการที่มีปริมาตร 311.583.21 ลูกบาศก์เมตร สามารถคำนวณมูลค่าได้โดยคูณด้วยราคาไม้สุทธิ ณ เวลานั้น เป็นเงิน 998.57 ล้านบาท สำหรับกรณีไม้ไผ่เป็นเงินอีก 11.64 ล้านบาท ประการที่ 2 ในกรณีตัดไม้ออกเฉพาะส่วนที่เพิ่มพูนรายปี คิดเป็นมูลค่า 18.9 ล้านบาท และไม้ไผ่อีก 232,867 บาท และประการที่ 3 มูลค่าของลูกไม้และกล้าไม้ รวมเป็นเงิน 63 ล้านบาท โดยสรุปแล้วผลการศึกษาทั้งหมดพบว่ามูลค่าของการสูญเสียต้นไม้ในพื้นที่คิดเป็นเงิน 1,073.4 ล้านบาท

ผลการศึกษาโดยรวมยังชี้ว่า นอกจากต้นไม้จำนวน 677,922 ต้น มูลค่า 1,073 ล้านบาทแล้ว ยังมีความสูญเสียที่เกี่ยวข้องอื่น เช่น กระทบต่อที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ มว.4 (แม่เรวา) และหน่วยรักษาต้นน้ำขุนน้ำเย็น ปริมาณธาตุอาหารพืช 11.71 ล้านบาท/ปี และการชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน เช่น ระบบคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำในพื้นที่ชลประทานรวม 15,742 ไร่ โดยมีผู้ถือครองที่ดินคิดเป็นมูลค่าชดเชยรวมทั้งสิ้น 801.08 ล้านบาท เป็นต้น แต่เมื่อเทียบกับข้อดีก็คงคุ้มค่าที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์ (https://bit.ly/1pesC9z)

อย่างไรก็ตาม กรณีไม้ในป่าต้องประเมินโดยวิธีการข้างต้น ซึ่งการประเมินค่าทรัพย์สินนั้นในแง่หนึ่งเป็นระบบสหศาสตร์ (Interdisciplinary Approach) ใช่ว่าจะสามารถสำรวจและประเมินโดยผู้ประเมินผู้เดียวเองตามลำพัง ยกเว้นผู้ประเมินที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ แต่ควรดำเนินการโดยผู้มีความรู้ในแต่ละสาขาที่เกี่ยวข้องด้วย


You must be logged in to post a comment Login