วันพฤหัสที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2567

ตรวจการบ้านปฏิรูป

On May 16, 2018

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ในโอกาสใกล้ครบ 4 ปีรัฐประหาร ผลงานการปฏิรูปซึ่งเป็นหนึ่งเหตุผลข้ออ้างยึดอำนาจปกครองประเทศเริ่มถูกพูดถึงมากขึ้นในหลายแง่มุม มีทั้งเห็นว่าไม่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ค้างเติ่ง ล้มเหลว ขณะที่คนคุมปฏิรูปยืนยันทุกอย่างมีความคืบหน้า จากนี้การดีเบตผลงานด้านการปฏิรูปจะมีมากขึ้น เพราะเป็นประเด็นเพิ่มหรือลดเครดิตให้แต่ละฝ่ายก่อนการเลือกตั้งได้ ในมุมของประชาชนเมื่อให้เวลาผู้มีอำนาจทำงานมาจนจะครบ 4 ปี ก็ต้องทำหน้าที่ตรวจการบ้าน ฟังความให้รอบด้าน เพื่อใช้ในการตัดสินใจว่าจะให้รัฐบาลทหาร คสช. สอบผ่านหรือสอบตก

ในโอกาสใกล้ครบ 4 ปีรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคนออกมาพูดถึงเรื่องการปฏิรูปประเทศที่ถือเป็นงานหลักของ คสช. มากขึ้น ดูเหมือนทุกคนจะเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ช่วงระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา การปฏิรูปด้านต่างๆไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร

อุปสรรคที่ทำให้การปฏิรูปไม่คืบหน้า บางคนมองว่าเกิดจากการใช้คนผิด เช่น การเอาข้าราชการเป็นหลักในการปฏิรูปทั้งที่เป็นฝ่ายปฏิบัติ ผลจึงออกมาอย่างที่เห็น

เมื่อการปฏิรูปยังคาราคาซังจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้หลายคนมองว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ต้องหวนคืนบัลลังก์นายกฯให้ได้หลังการเลือกตั้งเพื่อไม่ให้การปฏิรูปเสียของ

“หลังเลือกตั้งเชื่อว่ากรรมการปฏิรูปยังจะไปได้ต่อ แต่อยู่ที่ว่าจะต่ออย่างขัดแย้งหรือเต็มใจ ถ้าต่อแบบเต็มใจทุกอย่างก็แฮปปี้ เอนดิ้ง แต่ถ้าต่อแบบขัดแย้งมันจะดูไม่จืด สมมุตินายกฯชื่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แม้นายกฯจะมีคณะรัฐมนตรีและสภาเป็นด่านสกัด แต่ คสช. มี ส.ว. ก็ลองจินตนาการดูแล้วกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นในโครงสร้างทางการเมืองไทย จะหนีความขัดแย้งไม่พ้นหรอกถ้าเขาไม่เห็นด้วยกัน แต่ถ้านายกฯหลังเลือกตั้งคือ พล.อ.ประยุทธ์ มันก็สมูท”

เป็นบทสัมภาษณ์ของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ หนึ่งในทีมปฏิรูปของรัฐบาลทหาร คสช.

เป็นความเห็นที่สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับนายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ที่ระบุไว้บางช่วงบางตอนของการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า

“คสช. ที่คิดว่าจากเดิมจะอยู่เบื้องหลัง วางกฎเกณฑ์กติกาให้เดิน กลัวว่าสิ่งที่ตัวเองทำมาจะเสียของก็เลยจะมาเป็นผู้เล่นเอง ดูได้จากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือการออกมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ตลอดจนกระแสข่าวการตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุน คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเล่นการเมืองแน่นอน”

เมื่อยังปฏิรูปไม่เสร็จและไม่วางใจให้นักการเมืองสานต่อก็ต้องโดดมาเล่นเองเพื่อป้องกันการเสียของ

แม้แต่นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตแกนนำม็อบโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ก็ยังระบุว่ามองไม่เห็นความคืบหน้าในการปฏิรูปของรัฐบาลทหาร คสช. ทั้งในส่วนที่ทำไปแล้วหรือส่วนที่บอกว่าทำสำเร็จแล้ว

“ขณะนี้ความสนใจของ พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งคณะรัฐมนตรีพุ่งไปที่การเตรียมการเลือกตั้งและการเมืองหลังการเลือกตั้ง และเริ่มถูกดูดไปอยู่ในเกมของนักการเมืองมากขึ้น จนทำให้ขาดคนนั่งหัวโต๊ะที่จะกำกับและบัญชาการแผนการปฏิรูปให้ถึงฝั่ง ฉะนั้น 4 ปี คสช. ถ้าจะเรียกว่าการปฏิรูปค้างเติ่งก็คงได้ เพราะมีแต่แผนการ มีวาระ มีพิมพ์เขียว แต่ยังขาดการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม”

ไม่ว่าใครจะมองอย่างไร ดูเหมือน พล.อ.ประยุทธ์จะมั่นใจว่าเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาการปฏิรูปมีความคืบหน้าไปมาก

“หลายคนไม่เข้าใจเรื่องการปฏิรูป รัฐบาลได้ทำมาโดยตลอด ระยะแรกคือ ให้ทุกคนมาร่วมกันพัฒนาประเทศ แก้ปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาทับซ้อน ความไม่ทันสมัยของกฎหมาย อำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกละเลย แต่รัฐบาลนี้เป็นผู้ลงมือทำ จะบอกว่าการปฏิรูปไม่เกิดขึ้นไม่ได้ แต่จะให้เสร็จทันใจคงเป็นไปไม่ได้ การปฏิรูปทั้งหมดต้องใช้เวลา เวลานี้ให้แต่ละหน่วยงานสรุปความคืบหน้าเพื่อมาอธิบาย ใครจะพูดอะไรก็ตาม เราต้องทำงาน ผมจะอธิบายเป็นภาษาไทย หวังว่าคนฟังจะเข้าใจ อย่าทำให้สังคมเข้าใจผิด อย่าบอกว่าการทำงานที่ผ่านมาล้มเหลว เพราะไม่ใช่ ยังมีวาระปฏิรูป 11 วาระ 137 กิจกรรม มีการปฏิรูปที่ดิน การบริหารจัดการป่า การบริหารจัดการน้ำ ไม่ได้พูดด้วยปาก อย่าบอกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย ถ้าไม่ทำอะไรเลยจะอยู่มาได้อย่างไร 4 ปี ขอให้เข้าใจเสียบ้าง”

เป็นการมองต่างมุมระหว่างคนปฏิบัติกับคนที่ติดตามผลการปฏิบัติ ซึ่งในวาระจะครบ 4 ปีรัฐประหาร ความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการปฏิรูปจะถูกพูดถึงมากขึ้นในหลากหลายแง่มุม เพราะเป็นสิ่งที่สามารถเพิ่มหรือลดคะแนนความนิยมของแต่ละฝ่ายได้

ได้เวลาตรวจการบ้าน จะให้ผ่านหรือสอบตก


You must be logged in to post a comment Login