วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กฯเปิดหลักฐานสำคัญยันคดีแม่ฮ่องสอนเข้าข่ายรุมโทรมเหยื่อค้าประเวณีเด็ก

On December 14, 2017

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน กล่าวว่า จากคดีปรากฎเป็นข่าวอัยการจังหวัดแม่ฮ่องสอนสั่งไม่ฟ้องข้าราชการ ตำรวจ และผู้มีชื่อเสียง ที่เข้าไปพัวพันกับการซื้อประเวณีเด็ก ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้น โดยหลักกฎหมายและกติกาสากลระหว่างประเทศ บุคคลที่อายุต่ำกว่า18ปี ต้องได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะจากการแสวงประโยชน์ทุกปรูปแบบ นั่นหมายความว่า การกระทำลักษณะนี้เป็นความผิดทางกฎหมาย ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือสมัครใจด้วยเหตุผลใดก็ตาม ยิ่งถ้าผู้ซื้อประเวณีเด็ก เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ยิ่งอ้างไม่ได้โดยเด็ดขาดว่า เด็กยินยอม เด็กสมัครใจ

“ความเห็นสั่งไม่ฟ้องของอัยการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กรณีนี้ ขัดกับหลักกฎหมายและกติกาสากลระหว่างประเทศโดยสิ้นเชิง ยิ่งได้เห็นหลักฐานคือ ถ้อยคำรับสารภาพในสำนวนคดี ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นาย ที่ร่วมกันซื้อประเวณีเด็กที่อายุต่ำกว่า18  ปี ต่อพล.ต.ต.ชูรัตน์ ปานเหงา รองผบช. ภาค 5รู้สึกสิ้นหวังกับผู้เกี่ยวข้อง ผู้รับผิดชอบขบวนการยุติธรรมในพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งกรณีนี้ชัดเจนว่า ปรากฎในสำนวนการสอบสวน ยืนยันว่า เป็นการเข้าข่ายรุมโทรมเหยื่อค้าประเวณี ฉะนั้นอยากขอเรียกร้องอีกครั้ง ว่าขอให้ทุกคนทุกฝ่ายในกระบวนการยุติธรรมทบทวนการซื้อประเวณีเด็ก” นางทิชา กล่าว

นายเตชาติ์  มีชัย เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า  สำหรับการพิจารณาความเห็นคำสั่งไม่ฟ้อง ต่อกรณีคดีค้าประเวณีที่แม่ฮ่องสอนของสำนักงานอัยการนั้น ต้องพิจารณาว่า มีประเด็นอะไรที่มีความเห็นไม่ตรงกับทางพนักงานสอบสวน และได้ทำการสั่งให้พนักงานสอบสวน สอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นที่สงสัยแล้วหรือไม่ เพื่อที่จะได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านในทุกมิติ โดยยึดหลักกฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องนี้ คือ พ.ร.บ ป้องกันและปรามปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 โดยเฉพาะในคดีนี้ มีบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากและเป็นการกระทำต่อเด็กและเยาวชน จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ถึงเรื่องการเลี้ยงดูปูเสื่อในวงราชการ

“อัยการจังหวัดต้องตอบสังคมให้ได้ ถึงกรณีมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ผู้ซื้อบริการทางเพศจากเด็กและเยาวชน ซึ่งกำลังเป็นปัญหาหลักที่ลุกลามขยายวงกว้างให้หมู่ข้าราชการ และนักธุรกิจ พ่อค้า และนักการเมือง ซึ่งทุกรัฐบาลพยามแก้ไข้ปัญหานี้อย่างจริงจัง มีการออกนโยบายและค่ำสั่งทางปกครองเพื่อป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ ค้าประเวณีฯ  ดังนั้นกรณีนี้อัยการจังหวัดแม่ฮ่องสอน จำเป็นต้องตอบสังคมให้ได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ว่าทำไมถึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ผู้ซื้อบริการทางเพศ เพราะคนในสังคมจับตามองอยู่ ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ต่างประเทศก็ให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง อย่าทำเป็นลูบหน้าปะจมูก ปากว่าตาขยิบ เมื่อไม่ชัดเจน ก็จะพายเรือวนอยู่อย่างนี้ เป็นกฎหมายที่ตายแล้ว เพราะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ให้ความสำคัญ ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายต้องมีมาตราการเชิงรุกและวิสัยทัศน์รู้ทันปัญหา เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อในการแสวงหาผลประโยชน์รูปแบบต่างๆ จากค่านิยมเลี้ยงดูปูเสื่อ”นายเตชาติ์ กล่าว

พ.ต.อ.เผด็จ ภู่บุบผากาญจน ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในฐานะมุมมองของผู้บังคับใช้กฎหมาย จำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามตัวบทกฎหมาย อย่างตรงไปตรงมา ผิดต้องว่าไปตามผิด จะทำให้ผิดเป็นถูกไม่ได้ เพื่อนำไปสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะตามเจตนาของกฎหมาย ทั้งกฎหมายอาญา กฎหมายค้าประเวณีเด็ก พ.ร.บ.การค้ามนุษย์ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก บอกชัดเจนว่าต้องมุ่งปกป้องคุ้มครองเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อ่อนด้อยทางวุฒิภาวะ ดังนั้นเมื่อจะพิจารณาคดีต้องคำนึงถึงเด็กเป็นพิเศษ ต้องมองทุกมิติ เน้นย้ำไปที่ตัวเด็ก

“เพื่อให้เกิดความสมดุลทางสังคม ควรมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ในทุกมิติ เพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษอย่างจริงจัง ส่วนผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อต้องได้รับการคุ้มครองและเยียวยา อีกทั้งกฎหมายบ้านเรา ให้อำนาจดุลยพินิจมากเกินไป ควรกำหนดควบคุมเวลาในการใช้ดุลยพินิจเพื่อความเหมาะสม ก่อนส่งให้อัยการพิจารณา” พ.ต.อ.เผด็จ กล่าว

นางนัยนา สุภาพึ่ง อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  กล่าวว่า  ความผิดเกี่ยวกับเพศที่เทียบเคียงกับคดีที่แม่ฮ่องสอนนั้น ยังพบว่า สถานะผู้เสียหายจะถูกนำมาตัดสินเบื้องต้น ต่างจากคดีอาญาอื่นๆ เช่น หากผู้เสียหายประกอบอาชีพที่ไร้ค่า หรือเป็นผู้มีประสบการทางเพศ แม้แต่ผู้หญิงที่แต่งงานมาแล้วก็ตาม มักจะไม่ให้คุณค่า มีทัศนคติที่ไม่ดี เลือกปฏิบัติ ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ ถูกตัดสินผ่านกรอบวัฒนธรรมทางสังคม ซึ่งถูกตัดสินตั้งแต่ต้นทาง  โดยที่ไม่นำองค์ประกอบรอบด้านมาใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาหรือพิสูจน์ข้อเท็จจริง

“เรายังมีช่องว่างระหว่างชนชั้น ผู้เสียหายไม่ได้รับโอกาสพิสูจน์ความจริง ผู้หญิงจำนวนมากถูกตีตรา ถูกตัดสินตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งกฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรมประเพณียังเป็นอุปสรรค ทำให้ผู้เสียหายไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง จึงอยากเรียกร้องให้ก้าวข้าม มองคุณค่าของคนให้เสมอภาคเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ อยากวิงวอนคนที่มีอำนาจในมือ เวลาตัดสินคดีต่างๆควรคำนึงคิดให้รอบครอบ ทำให้ปัญหาถูกขัดเกลาคลี่คลาย ไม่ใช่ใช้อำนาจไปในทางที่ผิด กลายเป็นการละเมิดซ้ำ ที่สำคัญกระบวนการยุติธรรม ต้องเป็นไปตามหลักสากล ยึดหลักสิทธิมนุษยชน” นางนัยนา กล่าว


You must be logged in to post a comment Login