วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567

พิธีมอบโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณโครงการเกษตรเพื่อชีวิต“เกษตรกรรุ่นใหม่ ใส่ใจมาตรฐาน”

On August 30, 2017

อช. จัดพิธีมอบรางวัลและประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ชนะการประกวดฟาร์มมาตรฐานสินค้าเกษตร รุ่นที่ 3 งานนี้พบ 3เพิ่ม 1 พร้อม คือ  เพิ่มจำนวนนักศึกษา เพิ่มขอบข่ายครอบคลุมพืช ประมง ปศุสัตว์ เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า Q และพร้อมยื่นขอ GAP พร้อมทั้งการจัดแสดงนิทรรศการและผลผลิตจากฟาร์มของนักศึกษาในโครงการ การมอบโล่และเงินรางวัล เสื้อสามารถและการประกาศเกียรติคุณ

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 ที่โรงแรมกระบี่ฟร้อนเบย์รีสอร์ท อ.เมือง  จ.กระบี่ นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ  (มกอช.)  เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลฯและประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ชนะการประกวดฟาร์มมาตรฐานสินค้าเกษตร รุ่นที่ 3   เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ก่อเกิดความภาคภูมิใจในความสำเร็จของตนเอง เป็นแบบอย่างให้แก่นักศึกษาวิทยาลัยเกษตรกรรมอื่นๆ  และพร้อมที่จะพัฒนาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ในอนาคตต่อไป จำนวน 23 รางวัล ครอบคลุมการผลิตสินค้าทั้งด้านพืช ประมงและปศุสัตว์ เช่น รางวัลมาตรฐานปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร  ชนิดอายุสั้น ได้แก่ โครงการปลูกผักผสมผสานตามระบบ GAPจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร รางวัลมาตรฐานปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหารชนิดไม้ยืนต้น ได้แก่ โครงการผลิตทุเรียน GAP  จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร รางวัลมาตรฐานปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าว ได้แก่โครงการปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ปลอดภัยจากสารพิษตามมาตรฐานGAPจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพัทลุง  รางวัลมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่เนื้อ และไก่ไข่ ได้แก่โครงการเลี้ยงไก่เนื้อมาตรฐานฟาร์มไก่เนื้อ GAP จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่   รางวัลมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ โครงการเลี้ยงปลานิลจิตรลดาในบ่อดิน จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล  และรางวัลของคนมุ่งมั่น ได้แก่โครงการปลูกมะเขือเทศในกระถางพลาสติกคุณภาพดีมาตรฐานGAP  จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพัทลุง  และโครงการปลูกถั่วฝักยาวด้วยระบบมาตรฐานการผลิตที่ดี GAP จากวิทยาลัยการเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี และสุดท้ายรางวัลสุดยอดพี่เลี้ยง  ได้แก่นายณรงค์  เบญจกุล จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกระบี่

เลขาธิการมกอช.  กล่าวว่า โครงการนี้ เริ่มครั้งแรกในปี พ.ศ.  2558 จนถึงปัจจุบันปี 2560 นับเป็นรุ่นที่ 3  แล้ว โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 721 คน มีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จำนวน 9 วิทยาลัย ได้แก่ ชุมพร สุราษฏร์ธานี กระบี่ พังงา ระนอง พัทลุง ตรัง สงขลา และสตูล และเป็นที่น่ายินดีที่ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น  สรุปได้ 3 เพิ่ม กับ 1 พร้อม  คือ สัดส่วนจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 30 เพิ่มจำนวนขอบข่ายมาตรฐานทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ โดยนักศึกษาได้เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า Q นักศึกษารู้จักประชาสัมพันธ์สินค้าของตนเองทั้งในวิทยาลัย โรงพยาบาล ตลาดนัด หรือสถานที่ราชการต่างๆ สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค และจำหน่ายหมดในเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งมีความพร้อมยื่นขอรับรอง GAP จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการปลูกผักแบบผสมผสาน การปลูกทุเรียน และการปลูกข้าวโพด   การดำเนินการโครงการเกษตรเพื่อชีวิต เริ่มจาก สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) มีความต้องการเพิ่มศักยภาพและสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ สามารถพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ โดยเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความเข้าใจ ด้านการผลิตสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐาน เข้าใจระบบและกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารได้ตลอดห่วงโซ่ และยังเป็นการสร้างทัศนคติที่ดี และความภาคภูมิใจต่ออาชีพเกษตรกร ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตรได้ในอนาคต และเกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพ และความคาดหวังของโครงการนี้ เพื่อให้นักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีที่เข้าร่วมโครงการซึ่งเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) มีความรู้ ความเข้าใจ ด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรและเทคโนโลยีการผลิต และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้เป็นแนวทางในการผลิตสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐาน มีทัศนคติที่ดี และความภาคภูมิใจต่ออาชีพเกษตรกร และสามารถ เผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนได้ ทั้งนี้ การดำเนินโครงการที่ผ่านมาเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันและได้รับการสนับสนุนจาก กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำหรับโครงการนี้เป็นการให้ความรู้และส่งเสริมการนำมาตรฐานสินค้าเกษตรไปปฏิบัติใช้ในแปลง การประกวดฟาร์มมาตรฐานสินค้าเกษตร รวมทั้งมอบโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณ

เลขาธิการ มกอช. กล่าวทิ้งท้ายว่า คาดว่าในปีถัดไป มกอช. จะได้ขยายพื้นที่ไปยังวิทยาลัยในภูมิภาคอื่นๆ ด้วย และขอให้เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ทุกท่าน ร่วมเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาภาคผลิตสินค้าเกษตรของไทยให้เกิดความมั่นคง ซึ่งประเทศไทยเองนับว่าเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญของโลก เกษตรกรรุ่นใหม่จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยและใส่ใจมาตรฐาน สามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการประกอบอาชีพได้ เมื่อเข้าใจระบบและกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารได้ตลอดห่วงโซ่แล้ว สินค้าเกษตรและอาหารของไทยจะได้ความเชื่อถือและการยอมรับจากทั้งผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขอให้ท่านนำความรู้ที่ได้รับจากโครงการนี้ไปปรับใช้ และต่อยอดองค์ความรู้ดังกล่าวสู่ชุมชนและสังคมต่อไป

2-1

4-1

5-1

6-1

7-1


You must be logged in to post a comment Login