วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

นับถอยหลัง‘ทรัมป์’? / โดย ณ สันมหาพล

On August 21, 2017

คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง

ผู้เขียน : ณ สันมหาพล

ฟันธงกันแล้วว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” จะเป็นประธานาธิบดีไม่ครบ 1 ปีในเดือนมกราคมปีหน้า เท่ากับว่าเขาเหลือเวลาอีก 5 เดือนที่จะต้องแก้ปัญหาให้ได้หากต้องการอยู่ในตำแหน่งต่อไป ซึ่งคนส่วนใหญ่เชื่อว่าทำไม่ได้ โดยเชื่อว่าทรัมป์จะประกาศลาออกเอง เพราะถูกต่อต้านมากมายจนแทบทำอะไรไม่ได้ ทั้งมือดีๆที่จะมาช่วยก็ไม่มีใครอยากเข้ามา เพราะกลัวว่าเข้าไปเกี่ยวข้องแล้วจะนำภัยมาสู่ตัวมากกว่า

การทำงานในทำเนียบขาวทุกวันนี้ถูกฝ่ายต่างๆจับตาอย่างไม่กะพริบ ไม่ว่านักการเมืองด้วยกัน สื่อมวลชน และกลุ่มต่อต้านทรัมป์ ซึ่งในจำนวนนี้เคยชื่นชอบและลงคะแนนเสียงให้ทรัมป์ คนที่เคยชื่นชอบทรัมป์แต่ผิดหวังเพราะทรัมป์แสดงพฤติกรรมที่น่าผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะทรัมป์ที่ประกาศจะเปลี่ยนแปลงสหรัฐให้กลับมาเป็นมหาอำนาจและศิวิไลซ์ที่สุด

มีการวิเคราะห์ชัดเจนว่าทำไมคนอเมริกันจึงเลือกทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เพราะต้องการให้สหรัฐเป็นผู้นำโลกประชาธิปไตย ประชาธิปไตยทำให้สหรัฐเจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่งจนกลายเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก ผู้เชี่ยวชาญการเลือกตั้งกลุ่มหนึ่งจึงไม่แปลกใจที่คนอเมริกันเลือกผู้นำแบบทรัมป์ทั้งที่มีความประพฤติอื้อฉาวหลายเรื่อง

การที่คนอเมริกันเลือกทรัมป์โดยไม่สนใจว่าจะทำให้ความเป็นผู้นำโลกประชาธิปไตยวิบัติ เห็นชัดเจนว่าจำนวนผู้มาลงคะแนนเลือกตั้งไม่ว่าระดับใดและพื้นที่ต่างๆนั้น นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมาต่ำกว่า 60% เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำมากสำหรับประเทศผู้นำประชาธิปไตยอย่างสหรัฐ ทำให้รัสเซียเคยนำประเด็นนี้ไปโฆษณาชวนเชื่อเพื่อชี้ให้คนทั่วโลกเห็นว่าแม้กระทั่งคนอเมริกันเองก็ยังไม่ชื่นชอบระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น กรณีที่ว่ารัสเซียเข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดจึงมีความเป็นไปได้สูง รัสเซียถือว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเป็นหนึ่งในการต่อสู้ทางการทหารและการต่างประเทศ เพราะเห็นจุดอ่อนการเลือกตั้งในสหรัฐที่มีผู้ไปใช้สิทธิจำนวนน้อยมาก เปิดทางให้มีการใช้เงินซื้อคะแนนเสียงได้

ประเด็นเรื่องการใช้เงินทำให้ผู้สมัครที่มีความรู้ความสามารถและเป็นคนมือสะอาดไม่อยากลงสมัครประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งเหมือนกันทุกประเทศที่มีคนดีจำนวนมากแต่ไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับการเมือง คนไม่ดีจึงมีโอกาสที่จะเข้ามา

มีการวิเคราะห์ว่า ทรัมป์เชื่อว่าตัวเองมีโอกาสเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่ก่อนที่เขาจะเปลี่ยนตัวเองจากนักธุรกิจมาเป็นนักการเมือง โดยได้ศึกษาการเลือกตั้งที่ผ่านมาจนมีความมั่นใจ จึงไม่แปลกที่ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี แม้คะแนนนิยมจะน้อยกว่าฮิลลารี คลินตัน ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งปรกติผู้ชนะการเลือกตั้งจะได้ทั้งคะแนนเสียงของประชาชนและคะแนนคณะเลือกตั้งในมลรัฐใหญ่ แต่ทรัมป์เน้นไปที่ยุทธวิธีคะแนนจากคณะเลือกตั้งสำคัญในมลรัฐใหญ่จนทำให้เขาชนะการเลือกตั้ง

มีการวิเคราะห์ว่าทำไมคนอเมริกันถึงไม่ชอบออกมาลงคะแนนเสียง ซึ่งไม่ได้แตกต่างกับหลายประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยคือ เบื่อหน่ายการเมือง รองลงมาคือไม่รู้จะไปเลือกไปทำไม เพราะเห็นว่าไม่ได้อะไรจากนักการเมือง เคยอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น คนกลุ่มนี้ส่วนมากเป็นคนยากจนและคนด้อยโอกาสซึ่งในสหรัฐมีอยู่ในทุกชุมชนใหญ่ อีกพวกคือพวกที่มีอคติกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีไม่น้อยนัก แต่เพราะระบอบประชาธิปไตยให้สิทธิเสรีภาพกับทุกคนทุกกลุ่ม แม้แต่สหรัฐที่ถือว่าคนมีเสรีทางความคิดที่จะคิดอะไรก็ได้ตราบใดที่ไม่ละเมิดกฎหมายหรือเป็นไปอย่างสงบ

มีการวิเคราะห์กันว่าการจะทำให้คนอเมริกันออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้นคงมีวิธีแบบเดียวกับประเทศในยุโรปคือ ปรับเปลี่ยนให้เป็นรัฐสวัสดิการ ซึ่งระยะหลังสหรัฐพยายามทำมากขึ้นในเรื่องสวัสดิการต่างๆ อย่าง “โอบามาแคร์” การออกรัฐบัญญัติช่วยเหลือการรักษาพยาบาลของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา แต่กลับมีการพยายามให้วุฒิสภายกเลิกโดยทรัมป์และกลุ่มทุนต่อต้าน แต่ไม่สำเร็จ

กรณีของทรัมป์น่าจะเป็นบทเรียนของประเทศประชาธิปไตยอีกหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่กลุ่มทุนผูกขาดและผู้มีอิทธิพลพยายามเข้ามาใช้เงินทางการเมือง ซึ่งอาจทำให้มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันมากขึ้น และทำให้คนดีกล้าเข้ามาเล่นการเมืองเช่นกัน

ส่วนคนไม่ดีก็จะไม่กล้าเข้ามาเมื่อรู้ว่าจะแพ้คนดีที่แห่กันมาลงสมัครรับเลือกตั้ง ทำให้เกิดกระแสเลือกคนดีลงเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้เงินซื้อเสียงไม่มีผลต่อผู้สมัคร คือต้องใช้เงินเพื่อดึงคนออกมาใช้สิทธิเพื่อสิทธิของตัวเอง ไม่ใช่ให้ประชาธิปไตยเป็นพื้นที่ของคนส่วนน้อยที่สนับสนุนกลุ่มทุนผูกขาดหรือกลุ่มผู้มีอิทธิพล

วันเวลาของทรัมป์ที่กำลังนับถอยหลังจึงต้องจับตาอย่างไม่กะพริบ เพราะการเปลี่ยนแปลงในสหรัฐมีผลกระทบไปทั่วโลกไม่มากก็น้อย


You must be logged in to post a comment Login