วันพฤหัสที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567

ไฟใต้ต้องดับด้วยการพูดคุย / โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On June 5, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : ประชาธิปไตย เจริญสุข

ผมว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงประมาณ 13 ปีที่ผ่านมา เป็นความต่อเนื่องของเหตุการณ์ก่อนหน้ารัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีการแก้ปัญหาหลายแนวทาง แต่แนวทางหลักที่ใช้คือการเมืองนำการทหาร พยายามแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีหรือการพูดคุยสันติสุข แนวทางนี้เริ่มจริงๆประมาณปี 2555 ในสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ปี 2556 ก็เริ่มมีการพูดคุยที่มาเลเซีย แนวโน้มสถานการณ์ทั่วไปหลังจากปี 2556 ความรุนแรงเริ่มลดลง พอ คสช. เข้ามาสานต่อก็ประกาศให้ยึดถือแนวทางเดิมของ สมช. การพูดคุยสันติสุขถือว่ายังมีลักษณะความต่อเนื่อง มีการตั้งคณะพูดคุยสันติสุขขึ้นมา มีโครงสร้างรองรับอย่างเป็นระบบจนถึงปัจจุบัน

ส่วนสถานการณ์เฉพาะหน้าเราจะเห็นว่ายังมีความขัดแย้ง ความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ แต่หากมองโดยภาพรวมระดับความรุนแรงหรือจำนวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลดลงตามลำดับ ตั้งแต่ปี 2555-2559 ลดลงมาประมาณ 800 กว่าเหตุการณ์ เพราะมีการพยายามแก้ปัญหาที่รากเหง้า

จุดอ่อนที่ยังเป็นอุปสรรค

จุดอ่อนในการแก้ปัญหาของรัฐบาล คสช. มีอยู่ 2-3 ด้านคือ การดำเนินงานตามเป้าหรือไม่ในแง่ลดความรุนแรง มันลด แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาหรือความแปรปรวนบางช่วง เช่น ระเบิดที่บิ๊กซีปัตตานีเมื่อไม่นานมานี้ ถ้าลดเงื่อนไขต่างๆได้ก็จะลดความรุนแรงได้ แม้โดยภาพรวมจะดีขึ้น แต่ในแง่ความรู้สึกของประชาชนยังเหมือนเดิม ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไรมากเท่าที่ควร ผมคิดว่าต้องพยายามทำให้เห็นว่านโยบายนี้ประสบความสำเร็จและนำไปสู่ความสงบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพูดคุยสันติสุขจะนำมาสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ต้องพยายามผลักดันให้เดินไปตามนี้ ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนไปได้ช้า แต่ถือว่าเดินไปเป็นขั้นๆ มีความก้าวหน้าบ้างเหมือนกัน

จุดที่ผมพูดถึงคือการร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยหรือเซฟตี้โซน ทำไปได้เยอะในแง่การเตรียมการ ซึ่งตั้นแต่ต้นปีก็มีการเตรียมการเรื่องนี้ มีการพูดถึงกรอบและแนวทางการสร้างเขตพื้นที่ปลอดภัย มีคณะกรรมการ มีกลไกรองรับ ประเมินผลหลายอย่าง ผมคิดว่าทั้ง 2 ฝ่ายเหมือนบรรลุข้อตกลง เห็นพ้องต้องกันว่าการสร้างพื้นที่ปลอดภัยจะปฏิบัติได้จริง โดยให้ภาคประชาสังคมหรือองค์กรประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมด้วย ขณะนี้ทุกอย่างมีการเตรียมไว้อย่างเป็นขั้นตอนแล้ว ผมคิดว่าตรงนี้เป็นความก้าวหน้าทางนโยบาย ส่วนนี้ยอมรับได้ อยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้เป็นผลปฏิบัติจริงๆให้ได้ อาจต้องใช้เวลาบ้าง แต่คงไม่นาน

ถามว่าการเจรจาระหว่างรัฐกับนายดูนเลาะ แวมะนอ ผู้นำบีอาร์เอ็นคนใหม่ มีโอกาสเกิดขึ้นหรือไม่ เท่าที่ทราบตามข่าวผู้นำบีอาร์เอ็นคนใหม่เป็นผู้นำเดิมในองค์กรของบีอาร์เอ็น คือเป็นฝ่ายคุมกองกำลัง คุมทหารของเขา มีบทบาทมากในการสร้างเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ เพราะเป็นสายการทหาร เมื่อขึ้นมาเป็นประธานกลุ่มบีอาร์เอ็นมีอำนาจมากขึ้นในการสั่งการ ความจริงเรื่องแนวทางการพูดคุยนั้น บีอาร์เอ็นตอนแรกแตกเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายหนึ่งเห็นด้วย ซึ่งส่วนนี้ได้เข้าร่วมมาราปัตตานีและทุกวันนี้ก็ยังอยู่ มีคนของขบวนการบีอาร์เอ็นอยู่ด้วย ขณะที่อีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยและเชื่อว่าเป็นฝ่ายทหารที่ยังไม่เห็นด้วย แต่ก็มีสัญญาณบวกเช่นเดียวกัน ไม่ใช่เขาปฏิเสธทั้งหมด

ยกตัวอย่างข้อเสนอว่า ถ้าจะร่วมต้องมีเงื่อนไขที่เขาเสนอ 3 ข้อ ซึ่งเขาเน้นประเด็นเรื่องผู้ที่จะเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยว่าต้องมีความเป็นกลางมากขึ้น และอาจมีต่างชาติเข้ามาร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์หรือเป็นสักขีพยานในการพูดคุย หลักการ 2 ข้อนี้อาจเป็นเงื่อนไขที่รัฐบาลสามารถดึงมาพิจารณาได้ บีอาร์เอ็นในปีกที่ไม่เห็นด้วยอาจจะมาร่วมพูดคุยได้หากรัฐบาลปรับแนวทางบางอย่างเพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยพยายามชักชวนให้กลุ่มบีอาร์เอ็นที่ไม่เห็นด้วยเข้าร่วม ผมเชื่อว่าจะทำให้การพูดคุยสันติสุขเดินหน้าไปได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล คสช. ด้วยว่าจะยอมมากน้อยขนาดไหน

ส่วนที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ออกมาประณามผู้นำบีอาร์เอ็นคนใหม่ว่ากระทำรุนแรงต่อประชาชน โดยเฉพาะเด็กและสตรี ผมคิดว่าคงไม่ถึงขนาดที่กองทัพจะใช้ยุทธวิธีตาต่อตา ฟันต่อฟัน ฝ่ายทหารมีหลักการชัดเจนคือ ด้านหนึ่งดำเนินการให้มีการพูดคุยสันติสุข ซึ่งเป็นทางออกโดยสันติ อีกด้านหนึ่งคือการใช้มาตรการบังคับ ใช้กฎหมายควบคุมสถานการณ์ให้ได้มากที่สุด มีทั้ง 2 ด้าน 2 นโยบาย การพูดคุยยังต้องเดินต่อไป ขณะเดียวกันการบังคับใช้กฎหมาย การควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดการก่อเหตุก็ต้องทำด้วย กองทัพคงมองทั้ง 2 ด้านไปพร้อมๆกัน เพราะยังไงการพูดคุยหรือแนวทางสันติภาพ สันติสุข ถือเป็นหลักการสากลด้านมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน ที่รัฐบาลและกองทัพไม่ต้องการให้มีการละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชนหรือมนุษยธรรมในการจัดการปัญหาความขัดแย้ง

สถานะของกลุ่มบีอาร์เอ็น

ผมคิดว่ามีบางฝ่ายที่เสนอให้ประกาศว่าบีอาร์เอ็นเป็นขบวนการก่อการร้ายสากลที่ปฏิบัติการรุนแรงเหมือนอัลกออิดะห์ ไอซิส ที่ก่อความรุนแรงสุดขั้ว ทำร้ายประชาชนอย่างรุนแรง ต้องการให้ยกระดับบีอาร์เอ็นอยู่ในบัญชีผู้ก่อการร้ายสากลเพื่อองค์กรระหว่างประเทศจะได้ต่อต้าน ตรงนี้เป็นข้อเสนอจากองค์กรทางด้านสิทธิมนุษยชนเสนอขึ้นมา แต่ผมคิดว่ารัฐบาลต้องระมัดระวังเรื่องนี้เหมือนกัน หากบีอาร์เอ็นถูกยกระดับเป็นองค์กรก่อการร้ายสากลก็หมายความว่าการก่อเหตุก่อสถานการณ์ในภาคใต้ของไทยเป็นสถานการณ์ที่อยู่ในเงื่อนไขเป็นสากลด้วย ต่างประเทศจะต้องให้ความสนใจ รัฐบาลต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ จะต้องเข้ามายุ่งเกี่ยว แต่รัฐบาลไทยไม่ต้องการให้เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขระหว่างประเทศ ต้องการให้เป็นเรื่องภายในประเทศเท่านั้น

เท่าที่ทราบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ต้องการให้บีอาร์เอ็นเป็นองค์กรก่อการร้ายสากล เพราะจะทำให้รัฐบาลไทยต้องอยู่ในฐานะที่ลำบาก ผมคิดว่าถ้ามองในแง่ขององค์กร การก่อเหตุความไม่สงบในประเทศไทยและภาคใต้ยังไม่เรียกว่าเป็นการก่อการร้าย เป็นแค่การก่อความไม่สงบ เป็นกลุ่มในประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ทางอุดมการณ์กับรัฐบาล การแก้ปัญหาต้องแก้ด้วยวิธีการทางการเมืองในประเทศ ป้องกันไม่ให้ลุกลามบานปลาย รัฐบาลจึงไม่ยกสถานะของบีอาร์เอ็นให้เป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายสากล เพราะจะทำให้แก้ปัญหายากขึ้น

หากยอมรับว่าบีอาร์เอ็นมีความเชื่อมโยง มีความสัมพันธ์กับองค์กรก่อการร้ายสากล กลุ่มก่อการร้ายต่างชาติก็จะส่งคนมาช่วย อย่างไอซิส หรืออัลกออิดะห์ การก่อการร้ายในประเทศไทยก็จะเป็นการก่อการร้ายสากลและขยายความขัดแย้งเหมือนในสหรัฐ อังกฤษ หรือสหภาพยุโรป ยูเอ็นและองค์กรต่างๆก็ต้องเข้ามา รัฐบาลไทยจะลำบากมากขึ้นในการแก้ปัญหา ทุกวันนี้ยังถือเป็นปัญหาภายในประเทศ ยังแก้ปัญหาด้วยวิธีการพูดคุยภายใน เราให้รัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้ประสาน เป็นตัวกลางอำนวยความสะดวก แต่ไม่ถึงขั้นเป็นผู้จัดให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ย การพูดคุยอาศัยดินแดนของมาเลเซียภายใต้ขอบเขตที่รัฐบาลไทยยอมรับเท่านั้น ซึ่งมาเลเซียก็ถือว่าเป็นกิจการภายในของไทย

โอกาสเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็น

ถ้าเป็นไปตามแนวนี้ผมคิดว่าการพูดคุยเดินหน้าต่อได้ ผมคิดว่าประมาณ 5-10 ปีข้างหน้าน่าจะนำไปสู่ความสงบสุขได้ แก้ปัญหาได้ ถ้าดำเนินการอย่างต่อเนื่อง พยายามดึงกลุ่มที่มีความเห็นต่างเข้ามาร่วมให้มากที่สุด เงื่อนไขต่างๆก็จะลดลง ผมคิดว่าเหตุการณ์ความไม่สงบจะเบาลง แต่ต้องใช้เวลา

ทำไมจึงแก้ปัญหายาก

มันมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ รากเหง้าทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และเรื่องทางศาสนา ผสมกันอยู่ เมื่อมารวมกันก็ทำให้มีการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนาน อย่างบีอาร์เอ็น พูโล หรือกลุ่มอื่นๆที่มาพูดคุยกับรัฐบาลตอนนี้ เขาสู้มาไม่ต่ำกว่า 50 ปี มีผู้นำ มีโครงสร้าง มันเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องแก้ด้วยนโยบาย รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยก็พยายามทำ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาก่อนหน้านี้เน้นเรื่องการปราบปรามอย่างรุนแรงจึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก

เห็นว่าระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลหันมาใช้แนวทางสันติ การพูดคุยเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งพัฒนาและเริ่มปฏิบัติให้เป็นจริงมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ผมขอย้ำว่าต้องใช้เวลานาน แต่เราก็เดินมาได้ไกลเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของกลุ่มก่อความไม่สงบต่างๆคือการแบ่งแยกดินแดน แยกจากประเทศไทยไปตั้งเป็นรัฐใหม่ขึ้นมา เป็นรัฐอิสรภาพ เป้าหมายยังไม่เปลี่ยน แต่ช่วงหลังที่เริ่มมีการพูดคุยกัน บางส่วนที่มีการปรับข้อเรียกร้องเรื่องการแยกดินแดนนั้นเขาก็ไม่พูดถึง จะพูดประเด็นปัญหาที่เฉพาะเจาะจงให้เป็นรูปธรรมมากกว่า

เพราะฉะนั้นเรื่องการแยกดินแดนอาจลดเงื่อนไขเป็นเพียงรูปแบบการปกครองพิเศษ หรือการบริหารท้องถิ่นแบบพิเศษ ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการกระจายอำนาจทางการเมืองในทางรัฐศาสตร์ แต่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐ อำนาจอธิปไตยยังอยู่ที่ประเทศไทย ไม่ได้ถูกแยกออกไป

ผมขอย้ำว่าตรงนี้เป็นการลดเงื่อนไขโดยปริยายผ่านกระบวนการพูดคุยสันติสุข แม้ยังมีกลุ่มที่เชื่อมั่นในแนวทางเดิมอยู่ แต่ก็มีแนวทางใหม่เกิดขึ้น เพราะลักษณะของกลุ่มมาราปัตตานีเป็นการรวมตัวกันขององค์กรหลายองค์กร เขาลดเงื่อนไขข้อเรียกร้อง ไม่พูดถึงการแบ่งแยกดินแดน พูดเรื่องการกระจายอำนาจหรือการปกครองแบบพิเศษ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการพูดคุย ไม่ตายตัว ผมยืนยันว่าเขตปกครองพิเศษเป็นแนวทางหนึ่งเท่าที่จะเป็นไปได้ในอนาคต ขึ้นอยู่กับการพูดคุยของรัฐบาลและฝ่ายทหารยอมรับได้หรือไม่ รูปแบบการปกครองพิเศษจะทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง สังคมหรือชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมการบริหารมากขึ้น ซึ่งการพูดคุยต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง เพราะมีรูปแบบที่หลากหลาย

ผมขอย้ำอีกครั้งว่ารูปแบบการปกครองพิเศษนี้จะช่วยลดเงื่อนไขความรุนแรงลงได้ ถ้าระดับผู้นำหรือองค์กรที่ก่อเหตุการณ์ทั้งหลายยอมรับเงื่อนไขนี้ ความรุนแรงก็จะแก้ได้ ถือเป็นตัวแปรหลักและปัจจัยหลักในเรื่องนี้ อย่างไอร์แลนด์เหนือก็เป็นรูปแบบหนึ่ง ที่อาเจะห์ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง มีความหลากหลายมาก แต่หากใช้แนวทางนี้ก็เชื่อว่ามีความเป็นไปได้

ผมคิดว่านโยบายรัฐบาลปัจจุบันหรือนโยบายของ สมช. ที่เพิ่งออกมาเมื่อปลายปี 2559 ในการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับใหม่นั้น ก็พูดถึงความเป็นไปได้ที่จะจัดการเรื่องการกระจายอำนาจ คือมีการยอมรับเรื่องนี้ ในระยะยาวแล้วผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ เมื่อแก้ปัญหาเรื่องความรุนแรงให้ลดลง สร้างเขตปลอดภัย เรื่องการกระจายอำนาจก็จะเป็นไปได้ คงต้องฝากรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อจากรัฐบาล คสช. ให้ผลักดันเรื่องนี้ต่อไป

มองปัญหาในอนาคตอย่างไร

ถ้ายังอยู่ในกรอบของสันติภาพ สันติสุขอย่างทุกวันนี้ แก้ปัญหาด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม ไม่ละเมิดผู้บริสุทธิ์ ผมคิดว่ากระบวนการสันติภาพและสันติสุขจะแก้ปัญหาได้ ถ้าอยู่ในกรอบนี้ผมเชื่อว่าจะมีความเป็นไปได้และก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้านั้น ผมไม่เชื่อว่าจะเป็นฝีมือกลุ่มบีอาร์เอ็น เพราะไม่เกี่ยวกับเป้าหมายที่บีอาร์เอ็นจะทำ โดยเฉพาะพื้นที่ในกรุงเทพฯ ดูจดหมายแจ้งเตือนที่ว่าเป็นอดีตโจรกลับใจก็ไม่น่าเชื่อถือ หลักฐานและเหตุผลค่อนข้างอ่อนไปที่จะสรุปว่าเป็นฝีมือบีอาร์เอ็น ผมฟันธงว่าไม่ใช่บีอาร์เอ็นหรือไอซิส ถ้าเขาจะทำก็ทำในพื้นที่เปิดโล่งกว่า ระเบิดที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเรื่องอื่น แต่ผมก็ไม่รู้ว่าเหตุผลอะไร


You must be logged in to post a comment Login