วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

เผด็จการไม่เคยประสบความสำเร็จ / โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On May 15, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : ประชาธิปไตย เจริญสุข

อาจารย์เพิ่มศักดิ์เริ่มต้นด้วยการให้ความเห็นถึงสถานการณ์บ้านเมืองภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยแบ่งเป็นช่วงๆว่า ช่วงแรกบ้านเมืองเกิดความไม่สงบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น คสช. หรือใครก็แล้วแต่ต้องทำให้สงบ ทำให้มันยุติการต่อสู้ให้ได้ ปล่อยให้คนไทยรบราฆ่าฟันกันมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว ปีแรกที่ คสช. เข้ามาก็สงบ ทำให้ทุกคนพออกพอใจ หลังจากนั้นช่วงที่ 2 เราคาดหวังว่า คสช. จะรีบคืนสภาพการเมืองการปกครองให้อยู่ในภาวะปรกติ จะสร้างเงื่อนไขอะไรก็ต้องรีบทำโดยเร็ว ไม่ควรบริหารบ้านเมืองในลักษณะคนกลุ่มเดียว ความคิดเดียว หรือชุดความคิดที่เป็นพิมพ์เดียว

ถ้าสลายตัวแล้วปล่อยให้กลไกการเมืองการปกครองเดินหน้าไปผมคิดว่าน่าจะดี แต่พอระยะ 2 มันยืดเยื้อ ทำให้มีความรู้สึกว่าไม่ค่อยเหมาะสมแล้ว คือหลายๆอย่างเริ่มส่งผลไม่ดี พออยู่ในอำนาจมากๆก็เกิดข้อผูกพันในระยะยาวที่จะต้องทำโน่นทำนี่ให้ได้ พอเกิดเงื่อนไขข้อผูกพันก็ทำให้ คสช. ไม่อยากลงจากอำนาจ ต้องใช้อำนาจ การลงประชามติหรืออะไรต่างๆก็เลยยืด

แต่เรื่องเศรษฐกิจมันรอไม่ได้ จะปิดประเทศไม่ได้ เรื่องสังคมจะปิดปากคนไม่ได้ เรื่องการเมืองจะหยุดไม่ให้คนทำหน้าที่แทนประชาชนไม่ได้ เมื่อใช้เงื่อนไขอำนาจเข้าไปก็ส่งผลให้สถานการณ์ตอนนี้ 1.การขับเคลื่อนบางเรื่องบางอย่างที่ต้องใช้พลังของคนจำนวนมากทำได้จำกัด เพราะผู้มีอำนาจหรือกองกำลังไปบริหารทุกกระทรวง มันไม่ตอบโจทย์การพัฒนา 2.เรื่องกลไกทางสังคมซึ่งเชื่อมกับกระแสโลก เขารับรู้การเคลื่อนไหวทางสังคมภายในของเรา เมื่อเราไปจำกัดเงื่อนไขทางสังคม การแสดงความเห็นทางสาธารณะต่างๆมากเกินไป จะด้วยความหวาดระแวงหรือความกลัวว่าจะเสียอำนาจ เลยทำให้เกิดมาตรการอะไรต่างๆออกมาเยอะแยะ รวมทั้งร่าง พ.ร.บ. เกี่ยวกับสื่อที่กำลังถกเถียงอยู่ขณะนี้

พอมีการปิดหูปิดตาประชาชนและจะควบคุมสื่อเพื่อลดการวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ในทางสากลก็ไม่เป็นที่ยอมรับ ผมคิดว่าตอนนี้ประชาชนเริ่มรู้สึกอึดอัด สื่อมวลชนก็อึดอัด ที่สำคัญเรื่องเศรษฐกิจมีเงื่อนไขหลายตัว ผมว่าขณะนี้เราเปิดมากไป ทั้งเรื่องให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ทั้งที่ต่างชาติก็ไม่มีปัญหาลงทุนในไทย ความจริงเรายังแก้ปัญหาภายในบ้านเมืองไม่ได้ ปัญหาคนจนไร้ที่ทำกิน ปัญหาการกักตุนที่ดิน เราไม่ได้แก้ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านที่เขาขยายให้เช่าที่ดินให้ต่างชาติเข้าไปลงทุน เพราะเขาดูแลการปฏิรูปจัดสรรที่ดินกระจายไปยังประชาชนและเกษตรกรได้ทั่วถึงแล้ว

เตือนระวังฟองสบู่แตก

เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องน่าห่วง แต่ช่วงนี้ก็เป็นไปทั่วโลก ผมคิดว่าสิ่งที่จะต้องระมัดระวังช่วงนี้คือเงื่อนไขสงคราม ถ้าเราไม่มีภูมิคุ้มกันเรื่องเหล่านี้ ไม่มีประเทศไหนเขาเกรงใจไทย จึงต้องสร้างระบบเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง ตอนนี้ผมมองว่ามีฟองสบู่เยอะ เราพึ่งการส่งออก พึ่งรายได้จากต่างประเทศมากเกินไป เทคโนโลยีต่างประเทศ วัตถุดิบต่างประเทศ ลักษณะอย่างนี้จะเกิดฟองสบู่แตกเมื่อเกิดภาวะสงคราม เศรษฐกิจจะไม่มีเสถียรภาพ ภาคเอกชนอาจเข้ามาร่วมบริหารจัดการเศรษฐกิจได้มากกว่านี้ ผมมองว่าการลงทุนการพัฒนายังจำกัดอยู่ เมื่อคณะรัฐมนตรีเต็มไปด้วยคนสีเดียวก็ยากที่จะทำให้มีวิสัยทัศน์กว้างออกไป

ยิ่งไปสร้างเงื่อนไขในระยะยาวเอาไว้ โดยเฉพาะการลงทุน สัมปทานต่างๆ ผมกังวลว่าถ้ารัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วไม่เอาด้วย แก้ไข เพราะโดยธรรมชาติการเมืองก็ต้องเอานโยบายของเขามาขับเคลื่อน เพราะฉะนั้นการที่รัฐบาล คสช. วางอะไรยาวๆ 20-30 ปีก็จะไม่เป็นจริง ตอนนี้ทุกคนวิจารณ์เรื่องเรือดำน้ำที่ใช้งบประมาณ 13,000 ล้านบาท ขณะที่เรายังอ่อนด้อยเรื่องการศึกษา มีเรื่องหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น การจ้างงานไม่มาก การใช้งบประมาณทุกคนมีความรู้สึกไม่อยากให้ซื้อเรือดำน้ำในรัฐบาลนี้ อยากให้ทำเรื่องสำคัญๆก่อน เรื่องปากท้อง เรื่องการศึกษา ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม ควรเน้นเรื่องอย่างนี้มากกว่าไปซื้อยุทโธปกรณ์ในการต่อสู้ เพราะเรื่องการป้องกันประเทศ ดูอียูมีแนวโน้มความพยายามจะลดเงื่อนไขต่างๆให้ประเทศต่างๆใกล้ชิดกัน เป็นกลุ่มเป็นก้อน ก็เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการทำมาหากินต่อกัน

สิ่งต่างๆเหล่านี้ต้องใช้การทูต การเจรจา มากกว่าการสะสมอาวุธ อย่างสิงคโปร์แทบจะเป็นประตูการค้าอาวุธ เพราะเขาได้ประโยชน์ แต่ไทยไม่ได้ประโยชน์อะไร เป็นผู้บริโภคที่ใช้งบประมาณภาษีอากรของประชาชนไปซื้อ ผมจึงคิดว่ากิจกรรมบางอย่างไม่จำเป็น ความมั่นคงควรไปสร้างมิตรไมตรีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศใกล้เคียง ลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคให้เหลือน้อยที่สุด สร้างเงื่อนไขทางบวกให้มากๆเพื่อให้เกิดการค้าการลงทุน พัฒนาพื้นที่แนวชายแดน 2,000 กว่ากิโลเมตรให้คึกคักขึ้นมาก็จะทำให้บ้านเราอยู่รอด แม้เศรษฐกิจโลกจะไม่มีเสถียรภาพนักเราก็อยู่ได้

ปัญหายาเสพติดและคอร์รัปชัน

การระบาดของยาเสพติดและคอร์รัปชันเป็นปัญหารากเหง้าของสังคมที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในยุคนี้ ตอนนี้ปัญหาคอร์รัปชันสูงมาก ไม่ได้ลดลงเลย เปอร์เซ็นต์ที่ไปกินงบประมาณในพื้นที่ต่างๆ แม้แต่กรณีค้าประเวณีเด็กก็สะท้อนให้เห็นความหย่อนยานทางศีลธรรมเต็มไปหมด แท็กซี่ปล้นฆ่า ข่มขืนชาวต่างประเทศ ปัญหาทางสังคมไม่ได้ลดลง ที่สำคัญเด็กติดยาเสพติดจำนวนมาก ประชาชนรากหญ้าอาจมีถึง 1 ใน 3 หรือเกือบครึ่งก็ได้ที่มีปัญหา ในยุคที่มีอำนาจเต็มทุกอย่างต้องแก้ปัญหาพื้นฐานให้ได้ เรื่องยาเสพติด การค้าประเวณีเด็ก แรงงานทาส ซึ่งเป็นเงื่อนไขการลงทุนจากต่างประเทศ การละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องรีบแก้ไข รีบให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว
ไม่มีประโยชน์ที่จะไปควบคุมสื่อหรือให้ข่าวที่ไม่เป็นจริง

อย่างกรณีปัญหาตำรวจที่มีมายาวนานมาก ไม่ใช่แค่จับนายดาบเก็บหัวคิว ต้องจับระดับนายพลที่เยอะแยะไปหมด ความจริงไม่ใช่เพิ่งเกิด มันเกิดมานานแล้ว ผมขอชื่นชมที่เขาพยายามเปิดเผย แต่ก็มีเรื่องใหม่ๆเกิดขึ้น เรื่องคอร์รัปชันตรวจสอบได้จากการถือครองทรัพย์สินของผู้บริหารระดับสูงต่างๆ สะท้อนให้เห็นความไม่โปร่งใสว่ายังไม่ดีขึ้นเลย

ผมไม่อยากให้คะแนนรัฐบาลว่าสอบได้หรือสอบตก แต่รู้สึกว่ามันน่าจะพอแล้ว ควรเข้าสู่กลไกการบริหารจัดการในระบอบประชาธิปไตยที่โปร่งใส ตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันได้ มากกว่าให้อำนาจไปอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผมยืนยันว่าไม่มีตัวอย่างในโลกเลยว่าใช้อำนาจเผด็จการปกครองบ้านเมืองแล้วประสบความสำเร็จ แม้แต่สาธารณรัฐประชาชนจีนก็ไม่ใช่เผด็จการ เป็นขบวนการของประชาชน ไม่ใช่อยู่ๆจับอาวุธขึ้นมายึดครองตั้งตัวเป็นประธานาธิบดี ผมเชื่อมั่นว่าทุกหน่วยงานต้องกลับไปทำหน้าที่เดิมของตัวเองให้ดี อย่าเข้าใจว่าตัวเองจะนำชาติได้โดยที่คนอื่นไม่มีความสามารถ คนที่มีความรู้ความสามารถมีเยอะแยะ อยากให้เรากลับสู่กระบวนการประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุดไม่ว่าจะเป็นวิธีไหนก็ตาม

เลือกตั้งปลายปี 2561 ช้าไปหรือไม่

ผมคิดว่าช้าไป จะทันสงครามโลกหรือเปล่า ไม่ควรดึงไว้ ไปออกกฎอะไรมาก เขียนบล็อกอะไรไว้ไม่ได้หรอก นักการเมืองที่ไหนก็ไม่ยอม กติกาต้องเป็นกติกาที่เป็นสากล ประชาชนยอมรับ เขียนให้คณะรัฐมนตรีและสภา 400-500 คนลงมติเห็นชอบในศิลาจารึก แก้ไม่ได้เลย มันเป็นไปไม่ได้ รัฐบาล คสช. ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ รวมทั้งทำในสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ขัดขวางการพัฒนาบ้านเมือง ยาเสพติด คอร์รัปชัน และการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่าไปปกปิด เปิดออกแล้วแก้ไขให้จบ เพราะกระบวนการปรกติมันปราบปรามบางเรื่องได้ช้า เรื่องมันสะสมซับซ้อนมานาน จัดการไม่ได้ง่ายๆ

หลายเรื่องต้องเร่งรัดจัดการให้มันจบ ประเทศไทยไม่ควรเป็นแหล่งยาเสพติด ตอนนี้แทบจะเป็นอันดับต้นๆของโลกไปแล้ว รวมทั้งปัญหาโสเภณีเด็ก ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ความเหลื่อมล้ำก็เป็นอันดับต้นๆของโลก ถ้ากลไกในขณะนี้ใช้มาตรา 44 มาตรา 230 ตามรัฐธรรมนูญใหม่ยังแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ ภาพของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

สักวันหนึ่งประชาชนจะค่อยๆลุกขึ้นมา 1 คน 2 คน 3 คน ลุกขึ้นมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องปากท้อง ภาคเอกชนก็คงลุกขึ้นมาถ้าไม่สามารถค้าขายกับต่างประเทศได้อย่างอิสระ ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขทางการค้าเพราะปัญหาการเมือง เมื่อถึงเวลานั้นจะแก้ยาก รัฐบาล คสช. จึงต้องลงให้เร็วและแก้เรื่องที่สำคัญๆที่เป็นเงื่อนไขในอนาคตเท่านั้น

ประชาชนจะลุกฮือหรือไม่

คงไม่เหมือน 14 ตุลาคม หรือพฤษภาทมิฬ แต่จะลุกฮือแบบอาหรับสปริง ออกมาเดินบนถนน 300,000 คน แสดงความไม่พอใจอะไรต่างๆ แค่นั้นรัฐบาล คสช. ก็อยู่ไม่ได้แล้ว ไม่ต้องไปถืออาวุธ ประท้วงแบบเงียบๆ อย่างที่ประชาชนเดินประท้วงในตลาดการเงินในนิวยอร์ก สถานการณ์ของรัฐบาล คสช. มีทั้งฝ่ายเชียร์ก็เยอะ เพราะคนยังรู้สึกเบื่อนักการเมืองเก่าๆ นักการเมืองน้ำเน่า คนกลุ่มนี้อยากให้บ้านเมืองเงียบสงบ แต่เขาอาจไม่ได้ประเมินว่าอยู่ในสภาพอย่างนี้เงียบจริงหรือ ผลกระทบ ผลเสียหายของภาพรวมประเทศมันมากขนาดไหน เรื่องเศรษฐกิจถดถอยลงเรื่อยๆ ความไม่พอใจของประชาชนสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ หากมีเหตุการณ์อะไรจุดชนวนขึ้นมาอาจจะระงับยาก คำว่า “วิกฤตศรัทธา” จะแรง ประชาชนที่เคยสนับสนุนหรือนิยมชื่นชอบรัฐบาล คสช. ก็คงลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ ตอนนี้เราไม่รู้ภาพที่เป็นจริง เพราะสื่อไม่ได้ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา วิจารณ์มากๆก็ไม่ได้

การสร้างความปรองดอง

ความปรองดองไม่ใช่อยู่ที่การออกกฎหมายให้ตั้งคนโน้นคนนี้มาปรองดอง มันเป็นกระบวนการที่จะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจพฤติกรรมของกันและกัน ต้องใช้เวลามากๆ เวลาเราจะแตกหักกับใครสักคน แค่คำพูดคำเดียวก็จบแล้ว เหมือนแก้วที่แตกไปแล้วจะเอากาวมาประสานก็ไม่เหมือนเก่า จะทำให้เหมือนเก่าต้องทำให้มันละเอียดแล้วหลอมขึ้นมาใหม่ ใช้เวลานาน ต้องใช้เงินทอง ความแตกร้าวตอนนี้มีหลายคดีที่บี้กันอยู่ เช่น การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเรื่องรับจำนำข้าวก็ถูกวิจารณ์ว่าเลือกปฏิบัติ นโยบายประกันราคาแทบทุกรัฐบาลก็หมดเงินเป็นหมื่นเป็นแสนล้านให้กับชาวนาทั้งนั้น ทำไมโดนรัฐบาลเดียว ทั้งที่ไม่มีหลักฐานทุจริตเลย ผมไม่ได้เชียร์ใคร แต่พูดแบบนี้ เหตุอย่างนี้ไม่ใช่จบแค่ 1-2 วัน มันต้องคุยต้องเคลียร์

ที่สำคัญคือการปรองดองต้องอยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรมที่สร้างความเป็นธรรม เพราะมีเหตุการณ์หลายอย่างที่มีความผิด มีคนผิดคนถูก การปรองดองไม่ใช่การยกความผิด ยกโทษให้ทั้งหมด ต้องเป็นกระบวนการที่พูดคุยและเจรจาต่อรองตกลงกันบนฐานความเป็นจริง บางส่วนต้องยอมรับผิด บางส่วนต้องยอมรับว่าไม่ผิด แล้วหาข้อสรุปใหม่ให้ตรงกัน นี่คือความปรองดองที่ต้องมีความพอใจกับทุกฝ่าย

ดังนั้น ต้องยึดความยุติธรรม และความเป็นจริงต้องเกิดขึ้นก่อน ถ้าตรงนี้ไม่เกิดขึ้น ความปรองดองก็จะเกิดยาก แม้บางคนอาจจะเซ็นชื่อแต่ก็ไม่มีความหมายอะไร ยิ่งสถานการณ์ในปัจจุบันความปรองดองยังไม่เกิดเลย เราดูการไล่เช็กบิลคนผิด หรือคดีเก่าๆ จะเห็นว่าย้อนหลังไป 2 ปี มีการเช็กบิลนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลปัจจุบันแทบทั้งนั้น แล้วอย่างนี้จะปรองดองอย่างไร ถ้าปรองดองต้องไม่เลือกฝ่าย ไม่เลือกสี ไม่เลือกข้าง ทำไมปกป้องบางหน่วยบางพวกที่มีการจัดซื้อจัดจ้างที่มีลับลมคมใน ไม่โปร่งใส

ความขัดแย้งยังซึมลึกในสังคม

มันจมลึกมากๆ คือซึมลึกถึงขนาดแยกขั้วกันแล้วในขณะนี้ การสลายขั้วจะต้องออกแบบกระบวนการที่ยาวนาน ต่อเนื่อง ผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องมีความจริงใจต่อกระบวนการตรงนี้ ตอนนี้ทุกคนหวังประโยชน์ในระยะสั้นแค่นั้นเอง ไม่ได้หวังการเติบโต ความสงบสุขของสังคมอย่างยั่งยืน คนกอบโกยอะไรได้ก็กอบโกย ฉกฉวยผลประโยชน์อะไรได้ก็ฉกฉวย ทุกคนพยายามแสวงหาอำนาจ เข้าหาอำนาจ ยึดติดอยู่กับอำนาจ กลัวตัวเองจะหลุดจากอำนาจ แต่ไม่ได้มองสังคมส่วนรวมว่าระยะยาวคนรุ่นใหม่ คนรุ่นหลังจะอยู่กันอย่างไร ถ้าคนในปัจจุบันเห็นแก่ตัวมากเกินไป ผมคิดว่าขณะนี้เราเห็นแก่ตัวมากๆ ตัดสินใจแทนคนรุ่นหลังไปอีกกี่สิบปีก็ไม่รู้ในหลายเรื่อง

ทางออกของประเทศ

ผมอาจตามข่าวร้ายๆ ผลกระทบเยอะไปหน่อย แต่หลายเรื่องหลายอย่างมันเป็นภาพลวง ไม่ได้ยั่งยืน ไม่ได้เป็นความมั่นคง สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทยเป็นภาพหลอน ทางออกตรงไม่ใช่อยู่ที่นักการเมือง แต่อยู่ที่สังคมและประชาชนทุกคน ผมเน้นเรื่องการศึกษา เลิกซื้ออาวุธ เลิกซื้อของฟุ่มเฟือย เอาเงินมาทุ่มเรื่องการศึกษาให้มาก อย่างน้อย 10 ปี อย่าแก้แบบพายเรือในอ่าง ปัจจุบันต้องประคองตัวและทุ่มเทเรื่องการศึกษา การสร้างทักษะเทคนิคให้คนมีอาชีพ มีรายได้ ยกระดับการบริหารจัดการเพื่อให้เติบโต ดูสิงคโปร์เป็นตัวอย่าง ดูจีน ญี่ปุ่น ทางออกที่ดีที่สุดคือรีบคืนประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด

ประเทศไทยถูกแช่แข็งหรือไม่

ไม่ถึงกับถูกแช่แข็งซะทีเดียว แต่คล้ายๆมันเคลื่อนไหวยาก วิพากษ์รัฐบาลก็ไม่ได้ ผมคิดว่าบรรยากาศทางความคิดมันไม่สร้างสรรค์เลย ยิ่งกว่าถูกแช่แข็งเสียอีก มันลบ 32 องศาไปเลย โดยเฉพาะเรื่องความคิดของคนถูกดองถูกห้าม ตอนนี้ไม่มีเวทีอะไรวิจารณ์นโยบายของรัฐได้เลย รัฐบาลทำอะไรก็ไม่ผิด เพราะไม่มีเสียงสะท้อน ยิ่งเรื่องสิทธิเสรีภาพถูกปิดกั้น ผมเรียกร้องให้ภาคประชาชนมีความกล้าหาญที่จะลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ไม่เห็นด้วย เพราะบ้านเมืองจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ต้องเกิดจากประชาชนส่วนใหญ่ เมื่อแสดงความกล้าหาญแล้วผู้บริหารก็จะไม่กล้า ต้องค่อยๆปรับไปถึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ผมไม่หวังที่จะมีผู้มีอำนาจอีกชุดมาล้างชุดนี้ มันน่าจะหมดได้แล้วยุคอย่างนี้


You must be logged in to post a comment Login