วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

อ่าวเปอร์เซียกับอาเซียน? / โดย ณ สันมหาพล

On May 15, 2017

คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง
ผู้เขียน : ณ สันมหาพล

เห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนบาห์เรน จึงต้องเขียนถึงความเคลื่อนไหวของประเทศรอบอ่าวเปอร์เซียที่มีต่ออาเซียนเพื่อที่คนไทยจะได้สนใจ เพราะถ้าความสัมพันธ์ระหว่าง 2 กลุ่มแน่นแฟ้น ไทยก็มีโอกาสสูงที่จะได้รับผลพลอยได้ความเจริญระดับมั่งคั่งและความเจริญทางการเกษตรที่ส่งผลดีต่อประชากรส่วนใหญ่

ความเคลื่อนไหวนี้ถูกจับตามองอย่างมากในเวทีโลก เพราะระยะที่ผ่านมาโลกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือ การที่สหรัฐลดบทบาทในตะวันออกกลาง ไม่เฉพาะด้านการทหาร แต่ยังลดด้านพลังงาน ซึ่งหมายถึงลดการซื้อน้ำมันดิบ เนื่องจากสามารถผลิตน้ำมันดิบจากหินดานได้จนเพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ไม่ต้องง้อน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง

ก่อนหน้านั้นภูมิภาคนี้อาจล่มสลายจากการปิดตัวของภาคการผลิต ขณะที่จีนและอินเดียเริ่มมั่งคั่งจนเป็นผู้ใช้พลังงานรายใหญ่ในเอเชียตะวันออกต่อจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ประเทศทั้ง 4 ซื้อน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากประเทศอ่าวเปอร์เซียในปริมาณที่มากกว่าสหรัฐและสหภาพยุโรปซื้อรวมกันถึง 3 เท่า และนับวันจะยิ่งมากขึ้น ทำให้ประเทศอ่าวเปอร์เซียต้องหันมามองประเทศตะวันออก ซึ่งมีประเทศอาเซียนรวมอยู่ด้วย

นอกจากประเทศอาเซียนจะเป็นผู้สั่งซื้อพลังงานจำนวนมากแล้ว ช่วงปี 2533-2550 ยังซื้อเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และคาดว่าจนถึงปี 2573 จะซื้อเพิ่มอีก 3 เท่า ประเทศอาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่ประเทศอ่าวเปอร์เซียต้องพึ่งพาเพื่อความอยู่รอดในฐานะผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก เพราะปี 2550 และ 2551 ประเทศรอบอ่าวเปอร์เซียเกิดวิกฤตอาหาร ทำให้กลัวว่าประเทศอาจระส่ำระสายจากความโกรธเคืองของประชาชน ซึ่งปี 2551 แรงงานอพยพในสหรัฐอาหรับและบาห์เรนได้ก่อจลาจลเพื่อประท้วงมาแล้ว

ประเทศอ่าวเปอร์เซียให้ความสำคัญต่อความมั่นคงภายในมาก การหันมาหาประเทศอาเซียนด้วยการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกที่บาห์เรน ซึ่งนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการสมาคมอาเซียนขณะนั้น ได้กล่าวคำประวัติศาสตร์ว่า “คุณมีสิ่งที่เราไม่มี และเรามีมากมายในสิ่งที่คุณไม่มี ดังนั้น เราจึงต้องการกันและกัน”

ความร่วมมือระหว่างประเทศอ่าวเปอร์เซียกับอาเซียนด้านเกษตรกรรมนับแต่นั้นจึงขยับใกล้ชิดกัน แต่ไม่ค่อยเป็นข่าว อย่างการลงทุนขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอาเซียนร่วม 10 ปีมาแล้ว เป้าหมายคือเป็นผู้ผลิตทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ ทั้งขุดเจาะและนำผลผลิตไปแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆทั้งเชื้อเพลิงและปิโตรเคมี

ผู้ลงทุนที่เอาจริงเอาจังที่สุดคือ Mubadala Development บริษัทรัฐบาลรัฐอาบูดาบี ซึ่งร่วมมือกับPetronas บริษัทน้ำมันแห่งชาติมาเลเซีย ในการสำรวจก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งร่วมพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ๆในไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม รองลงคือรัฐบาลรัฐดูไบ ซึ่งเมื่อ 4 ปีที่แล้วได้ลงนามในข้อตกลงสร้างคลังน้ำมันมูลค่า 6,750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 234,000 ล้านบาท ในรัฐยะโฮร์ของมาเลเซีย เพื่อจัดเก็บน้ำมันปริมาณ 60 ล้านบาร์เรล

ตามด้วยบริษัท Qatar Holding ของรัฐบาลกาตาร์ ซึ่งในปีเดียวกันได้ลงทุน 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 173,000 ล้านบาท ในโครงการ Pengerang Integrated Petroleum Complex ซึ่งจะเป็นโรงงานผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมตั้งอยู่ในรัฐยะโฮร์เช่นกัน ศูนย์แห่งนี้ถูกมองว่าจะทำให้มาเลเซียมีศักยภาพในการแข่งขันกับสิงคโปร์เพื่อช่วงชิงการเป็นฮับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Kuwait Petroleum Corporation บรรษัทน้ำมันแห่งชาติแห่งคูเวต ได้ประกาศร่วมลงทุนในโครงการโรงกลั่นน้ำมันในเวียดนามมูลค่า 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 312,000 ล้านบาท รวมทั้งประกาศเป็นหุ้นส่วนกับ Pertamina บริษัทน้ำมันแห่งชาติอินโดนีเซีย ในการพัฒนาศูนย์โรงกลั่นน้ำมันทางชวาตะวันออก

อย่างไรก็ดี การลงทุนทั้งหมดไม่มากเท่ากับการลงทุนของ Aramco บริษัทน้ำมันแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย ซึ่งประกาศจะลงทุน 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 243,000 ล้านบาท ในศูนย์อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในมาเลเซีย นอกจากจะเป็นการลงทุนนอกประเทศครั้งใหญ่ที่สุดของบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดแล้ว ยังเป็นการลงทุนในช่วงที่กษัตริย์ซัลมานเสด็จฯเยือนมาเลเซีย ความเคลื่อนไหวของซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ถือว่าน่าสนใจอย่างมาก ซึ่งประเทศไทยและอาเซียนก็ถือว่าได้ประโยชน์ด้วย


You must be logged in to post a comment Login