วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

ใช้ชุมชนเป็นฐานสร้างชาติ / โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On May 8, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : ประชาธิปไตย เจริญสุข

สภาพบ้านเมืองขณะนี้มองได้ 2 อย่างคือ การจัดการปัญหาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่สัญญากับประชาชน คสช. ต้องตอบโจทย์ตรงนี้ให้ได้ หมายความว่า 1.แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน อิทธิพลทางการเมืองหรืออิทธิพลการจัดการทรัพยากร ความเหลื่อมล้ำในสังคม หรือความไม่เป็นธรรม

ประเด็นที่ 2 คือการคืนอำนาจประชาชนตามโรดแม็พที่ให้สัญญา เช่น การทำรัฐธรรมนูญจนมีรัฐธรรมนูญปี 2560 ใช้แล้วตอนนี้ แต่จะเป็นอย่างไรต่อไป รัฐบาล คสช. ภายใต้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถตอบโจทย์การรัฐประหารได้มากน้อยแค่ไหน จะเป็นผลดีต่อประชาชนและคนที่คาดหวังว่าจะแก้ปัญหาต่างๆได้นั้น ความจริงผมอยากเรียกร้องให้มีการประเมินผลงานของรัฐบาลในการทำรัฐประหารมากกว่าผลงานโดยทั่วไป รวมทั้งเรื่องโรดแม็พที่คาดหวังหลังมีรัฐธรรมนูญ การทำกฎหมายลูกต่างๆ หรือกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรอิสระ ทำให้มันชัดเจนก็จะสามารถตอบโจทย์ทั้ง 2 ประเด็นที่ผมพูดถึง

ถ้าให้ผมประเมินเองก็ต้องแยกแยะแต่ละประเด็น อย่างเรื่องการปราบปรามอิทธิพล รัฐบาล คสช. สอบผ่าน สามารถแก้ปัญหากลุ่มอิทธิพลทางการเมือง อิทธิพลท้องถิ่น ปราบปรามเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆที่มีการสั่งสม อันนี้ทำให้บ้านเมืองอยู่ในความสงบ ทำได้ดีพอสมควร

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลทรัพยากรต่างๆ ป่า ดิน น้ำ หรือการปราบอิทธิพลต่างๆก็เป็นไปด้วยดี เข้าไปจัดการได้พอสมควร เรื่องความมั่นคงและการจัดระบบสังคมผมว่าอยู่ในลักษณะที่ดี เพราะการใช้อำนาจของ คสช. หรือมาตรา 44 มีประสิทธิภาพพอสมควร

แต่ที่เป็นคำถามที่ยังไม่เป็นที่พอใจนักคือ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมในเชิงเศรษฐกิจ ยังมีช่องว่างระหว่างรายได้ ระหว่างความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ยังไม่เป็นที่พอใจนัก ส่วนเรื่องความปรองดองก็ยังไม่เป็นรูปธรรม

ปรองดองไม่เกิดเพราะอะไร

เขาก็พยายามทำ ผมยกตัวอย่างเช่น ยุทธศาสตร์ในรัฐธรรมนูญ จะทำให้การวางแนวทางประเทศเดินตามยุทธศาสตร์ได้ อาจต้องปรับตามสถานการณ์เล็กน้อยก็ไม่ว่ากัน ผมคิดว่าเป็นทิศทางที่ใช้ได้ มันแฝงเรื่องความปรองดองเข้าไปด้วย แต่ผมคิดว่ามันไม่ค่อยจะได้เพราะเราตั้งคณะกรรมการที่ยังไม่เป็นที่พอใจมากนัก ยังไม่สามารถให้ทุกฝ่ายมาเจรจาบนโต๊ะที่ทำให้เกิดความปรองดองได้อย่างแท้จริง เรื่องความปรองดองเป็นปัญหาทางการเมืองมากกว่าปัญหาของประชาชน ถ้าเราโยงระหว่างประชาชนกับความปรองดองผมว่าจะมีปัญหา ต้องแยกกันระหว่างปัญหาของนักการเมือง

รัฐบาลต้องเป็นผู้ประสานหรือตัวกลางที่ดีให้ได้ โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการจะทำให้เกิดผลเร็ว คนก็อยากเห็น ตรงนี้เป็นประเด็นที่ผมคิดว่ายังมีปัญหา ส่วนเรื่องประชาชน ขณะนี้เขาไม่ได้คิดอะไรมาก โดยปรกติการใช้ชีวิตของประชาชน การดำรงชีพ เขาคิดแต่เรื่องการทำมาหากิน หรือคุณภาพชีวิตที่ดี หรือการได้รับความเป็นธรรมจากการพัฒนาของรัฐ แต่ความปรองดองในเชิงความขัดแย้งระดับชุมชน หมู่บ้าน หรือท้องถิ่น ไม่ได้กระทบเหมือนในระดับชาติ นักการเมืองระดับชาติที่มีการต่อสู้หรือมีความขัดแย้งทางการเมือง ตรงนั้นเป็นเงื่อนสำคัญ แต่เงื่อนของประชาชนผมว่ายังเป็นปรกติ หมายความว่าประชาชนอยากให้รัฐบาลแก้เรื่องความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมต่างๆ การกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่นหรือภูมิภาค การกระจายอำนาจอะไรพวกนี้ ผมคิดว่าน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ในการพัฒนาประเทศ คือการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นหรือชุมชนท้องถิ่น

นอกจากนี้ยังมีปัญหาชายแดนภาคใต้ที่ต้องแยกออกจากความปรองดอง ต้องแก้ในหลักของศาสนาหรือการใช้วัฒนธรรมท้องถิ่น กลุ่มผู้มีอิทธิพลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะมีการเจรจากันอย่างไรกับกลุ่มก่อการร้ายทั้งหลาย

วิตกจุดไหนมากที่สุดขณะนี้

เราต้องมาดูว่าประเทศเจริญยังไง การพัฒนาประชาธิปไตยที่ผ่านมาพัฒนาเชิงโครงสร้างมากไป หมายความว่าเราคิดแก้โจทย์ทางการเมืองมากไป วุ่นอยู่กับนักการเมือง การเลือกตั้ง ความขัดแย้งทางการเมือง ผมคิดว่าเราต้องหันมาทุ่มเทเรื่องการสร้างคนให้มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย การพัฒนาประเทศ หรือยุทธศาสตร์ประเทศที่ทุ่มเทให้กับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ใช้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างชาติ สร้างประเทศ เราน่าจะสนใจเรื่องนี้ให้มาก

ผมอยากให้น้ำหนักไปที่การสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง สร้างท้องถิ่นที่เข้มแข็ง สร้างพลเมืองที่เอาการเอางาน ตอบโจทย์การพัฒนาทางสังคม ผมคิดว่าเราพัฒนาเชิงโครงสร้างคือเน้นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเมืองวกวนอยู่แบบนี้ มันขาดส่วนที่ผมกำลังพูด คือส่วนของพลเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่จะต้องใช้เป็นฐานให้เขาเข้าใจ การสร้างพลเมืองในหลายประเทศเขาทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง ทำให้ประเทศเดินได้ นักการเมืองเราก็โอเค เพราะต้องมาจากฐานพลเมือง แต่ที่ผ่านมาการเมืองแบบเก่าเราให้น้ำหนักเชิงโครงสร้างมากไป

ประชาชนทั่วไปถูกจูงถูกลากเข้าสู่กระแสการเมือง ทำให้ประชาชนเป็นเหยื่อทางการเมือง ผมคิดว่าต้องพัฒนาเรื่องสังคม เรื่องความเป็นธรรม สร้างความเข้มแข็งของพลเมือง ของชุมชนท้องถิ่นให้มากกว่าเดิม ต้องหาผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วย

ตราบใดที่เราไม่สามารถพัฒนาพลเมืองให้มีความเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความมีวินัย เคารพกฎหมาย ความมีส่วนร่วม หรือมีใจรักประเทศ รักบ้านเมือง ต้องเกื้อกูลช่วยเหลือกัน คือต้องสร้างผู้รับผิดชอบทางสังคมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ต้องสร้างพลเมือง สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง จึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนประเทศได้ ที่ผ่านมามีแต่เรื่องเลือกตั้งเมื่อไร เลือกตั้งแล้วเป็นเหมือนเดิม ธุรกิจต้องเป็นธุรกิจทางสังคม ไม่ใช่มากอบโกยหรือคอร์รัปชัน ต้องทำให้สังคมมีธรรมาภิบาลมากขึ้น ผมคิดว่าการสร้างคนต้องลงทุน ต้องใช้เวลาอย่างน้อยสัก 10-20 ปี ถ้าเราไม่เริ่มพัฒนาคน ปัญหาทางการเมืองก็จะเป็นวัวพันหลักกลับสู่วงจรเดิมอีก

การปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น

การเลือกตั้งท้องถิ่นถูกแช่แข็งกว่า 3 ปีแล้ว ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับ เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ รัฐบาลบอกจะให้ผู้บริหารท้องถิ่นอยู่ต่อไป แต่ไม่ให้มีการเลือกตั้ง เพราะอาจอยู่ในโหมดการรัฐประหาร ทำให้เขากลัวเรื่องการหาเสียง เรื่องการแทรกแซง เรื่องนอมินีของนักการเมือง ผมคิดว่าต้องทำกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่นคู่ขนานกับกฎหมายการเลือกตั้งของประเทศด้วย

สภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขณะนี้ต้องแยกเป็น 2 ส่วน ผมคิดว่าการปกครองท้องถิ่นในปัจจุบันเดินไปด้วยดี กำลังพัฒนาไปได้ด้วยดี เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม เลือกผู้นำของเขาเองมาบริหารชุมชน เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบที่เข้มข้นมากขึ้น นี่คือจุดดี แต่วัฒนธรรมเดิมของท้องถิ่นก็ต้องรับฟังไว้บ้าง คือยังมีพฤติกรรมที่ไม่มีธรรมาภิบาล มีนอมินีของนักการเมืองระดับชาติ ยังไม่ได้ตัดขาด การปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีอิสระ มีความเป็นตัวของตัวเอง จัดการชุมชนของตัวเองด้วยวิธีคิดของตนเองให้มาก คือกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มาก ท้องถิ่นก็จะแก้ปัญหาของตัวเองได้ มีนวัตกรรมท้องถิ่นที่แตกต่างจากส่วนราชการ เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุ นวัตกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อม การดูแลรักษาป่า รักษาน้ำ ทรัพยากรต่างๆ มีโรงเรียนธรรมาภิบาลของท้องถิ่น

ผมมองว่าเป็นจุดดีของท้องถิ่นที่เรากระจายอำนาจ แต่รัฐบาลต้องประคับประคอง ต้องจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐบาล คสช. ยังใส่ใจท้องถิ่นน้อยไป รวมทั้งเรื่องการกระจายอำนาจ รัฐบาลต้องทุ่มเทส่วนนี้ให้มากกว่าเดิม

คสช. จะให้เลือกตั้งท้องถิ่นก่อน

ต้องทำกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่นให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าคิดแบบการใช้อำนาจของ คสช. ก็ยาก ผมยังไม่มั่นใจว่าจะทำได้ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องดูรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ส่วนที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ บอกว่าอยากให้มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ เพื่อไม่ให้นักการเมืองไปครอบงำการเลือกตั้งท้องถิ่นได้นั้น ผมว่าไม่ค่อยเกี่ยวกันนัก เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นกับการเลือกตั้งระดับชาติยังไงก็หนีไม่พ้นการครอบงำ ยกเว้นคนท้องถิ่นมีความเป็นตัวของตัวเอง มีอิสระ ไม่เป็นนอมินีนักการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องตัวบุคคลมากกว่า

เราต้องเลือกตั้งให้บ่อยประชาชนจะได้เข้าใจ เพราะเดี๋ยวนี้เขาเรียนรู้ได้มาก มีคนหนุ่มคนสาวเข้าไปเยอะ คนรุ่นใหม่ ผู้บริหารท้องถิ่นรุ่นใหม่ ผมคิดว่าเขามีความมุ่งมั่น นั่นคือส่วนหนึ่งของการพัฒนาการเมือง สร้างนักการเมืองระดับท้องถิ่นให้เข้มแข็ง มีอิสระ ประเทศทั่วโลกต้องเริ่มจากการพัฒนานักการเมืองท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เพื่อไปเป็นนักการเมืองระดับชาติได้ดี ฐานการเมืองท้องถิ่นคือฐานการเมืองระดับชาติ พรรคการเมืองต้องมองเรื่องแบบนี้ ต้องมองนักการเมืองท้องถิ่นให้เข้ามาดูแลพรรค เข้ามาเป็นผู้บริหารในอนาคตของประเทศ

มันต้องเกิดจากการสร้างคนรุ่นใหม่จากท้องถิ่น อย่างจีนและประเทศใหญ่ๆหลายประเทศ แม้กระทั่งญี่ปุ่น อเมริกา หรืออังกฤษ นักการเมืองระดับชาติที่ดังๆส่วนใหญ่ก็มาจากนักการเมืองท้องถิ่นทั้งนั้น อย่างจีนถ้าดูประวัตินักการเมืองที่เติบโตเป็นประธาธิบดีก็มาจากผู้บริหารมณฑล ผู้บริหารแขวง มาจากคนท้องถิ่น แต่ของเรากลับกัน เป็นกลุ่มธุรกิจการเมืองมารวมตัวกันมากกว่า มันจึงมีปัญหามากถ้าเรายังไม่สร้างนักการเมืองระดับท้องถิ่น

ผมจึงเรียกร้องให้รัฐบาล คสช. สร้างพลเมือง สร้างนักการเมืองระดับท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ทุ่มงบประมาณพัฒนาให้มากกว่านี้ ไม่ใช่การสลายนักการเมืองท้องถิ่นให้มาเป็นพวก คสช. การสลายขั้วทำได้ยากอยู่แล้ว ถึงเวลาขั้วจะเปลี่ยนไปเอง ถ้าเรามีความมุ่งมั่นหรือมีเจตนาการพัฒนาที่ตอบโจทย์ที่ดีในอนาคต ปรกติคนที่อยู่ข้างโน้นข้างนี้มันสลายได้ด้วยผลงาน ด้วยยุทธศาสตร์ที่ดี คนเราเปลี่ยนได้ถ้าเขาเห็นภาพที่ดีๆเกิดขึ้นกับประเทศชาติ

แนวโน้มอนาคตประเทศไทย

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ผมคิดว่ายังมีความหวังคือ มียุทธศาสตร์ที่ต้องการให้ประชาชนร่วมกันสร้างชาติ สิ่งที่กำลังพูดคือ ความหวังทั้งหมดขึ้นอยู่กับจุดเริ่มต้นว่าเริ่มจากตรงไหน อย่างไร ถ้าเริ่มต้นจากการสร้างชุมชน ท้องถิ่น กระจายอำนาจ สร้างพลเมืองให้มีส่วนร่วม ผมก็ว่าไปได้ แต่ต้องใช้เวลา ผมขอย้ำว่าถ้าไม่เริ่มต้นอย่างที่ผมว่าอนาคตและความหวังของประเทศก็คงเลือนราง ถ้าเราทิ้งน้ำหนักไปยังส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือโจทย์ผิด ก็ผิดหมดเลย รัฐบาล คสช. อย่าติดกระดุมผิดเม็ดก็แล้วกัน

ผมคิดว่าทุกคนมีความตั้งใจ แต่ความตั้งใจต้องติดกระดุมให้ถูก แปลว่ารับฟังทุกฝ่าย รับข้อเสนอทุกส่วน เอาส่วนที่ดีที่สุดมาคลี่ดูแล้วก็เดิน โจทย์มันตอบได้อยู่แล้วคือ เราจะทิ้งน้ำหนักไปที่ส่วนไหนมาก เช่น ถ้าเรามุ่งแต่เศรษฐกิจ มุ่งความเจริญในแง่ของอุตสาหกรรมมากจนเกินไป ด้านสังคม ด้านคนก็จะยังมีความเหลื่อมล้ำ ถูกละเลย หรือการกระจายอำนาจก็ถูกทอดทิ้ง ผมคิดว่าต้องถ่วงดุลการพัฒนาให้ดี อย่าหนักไปจุดใดจุดหนึ่ง อย่าให้เกิดความไม่สมดุลในการพัฒนา


You must be logged in to post a comment Login