วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

ชีวิตราชการ‘ธาริต เพ็งดิษฐ์’ / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On May 1, 2017

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

วันที่ 24 เมษายน สำนักนายกรัฐมนตรียุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคำสั่งไล่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ออกจากราชการ หลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดคดีร่ำรวยผิดปรกติครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และเตรียมอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติม โดยอ้างว่านายธาริตโยกย้ายทรัพย์สินที่ทุจริตให้บุตร ภรรยา และคนใกล้ชิด

การไล่ออกจากราชการหมายความว่านายธาริตหมดสิทธิจะได้รับบำเหน็จบำนาญ และมีแนวโน้มจะถูกดำเนินคดีถึงขั้นติดคุก ที่น่าสนใจคือชะตากรรมของนายธาริตแทบจะไม่ได้รับความเห็นใจจากใครเลย กลุ่มสลิ่มเสื้อเหลืองและสื่อมวลชนฝ่ายขวาพากันสมน้ำหน้าว่าเป็นผลกรรมครั้งอดีต และเป็นตัวอย่างของ “ข้าราชการชั่ว” ที่จะต้องถูกลงโทษ

ย้อนหลังประวัติของนายธาริต เกิดเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2501 ที่อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เดิมหลวงพ่อฤาษีลิงดำตั้งชื่อว่า “เบญจ” เพราะเป็นลูกคนที่ 5 ของ ร.อ.เจี๊ยบ เพ็งดิษฐ์ อดีตนายทหารคนสนิทจอมพล ป.พิบูลสงคราม เรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จบการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พ.ศ. 2524 ระดับเกียรตินิยม และเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ต่อมาจบปริญญาโทนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2532 สอบเข้ารับราชการในกรมอัยการ แต่งงานกับวรรษมลซึ่งทำงานเป็นนักกฎหมายเช่นเดียวกัน พ.ศ. 2537 เปลี่ยนชื่อเป็น “ธาริต” ตามความเชื่อในตำราโหราศาสตร์

ตำแหน่งหน้าที่ในราชการก้าวหน้าจนได้เป็นเจ้าหน้าที่หน้าห้องอัยการสูงสุดสมัยนายคณิต ณ นคร (พ.ศ. 2537-2540) สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยได้รับการชักชวนจากนายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ให้มาทำงานที่สำนักนายกรัฐมนตรีในทีมงานของนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาใหญ่ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งนายธาริตมีส่วนสำคัญในการร่างกฎหมายจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษด้วยแนวคิดว่า ควรมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เฉพาะในการป้องกัน ปราบปราม และควบคุมอาชญากรรมที่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เมื่อมีการจัดตั้งดีเอสไอในสังกัดกระทรวงยุติธรรมเดือนตุลาคม พ.ศ. 2545 นายธาริตได้รับตำแหน่งรองอธิบดี ถือว่าชีวิตราชการก้าวหน้าเร็วมาก

พ.ศ. 2551 สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นอธิบดีดีเอสไอษ นายธาริตร่วมยกร่างกฎหมายจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และเป็นเลขาธิการ ป.ป.ท. คนแรก เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลเป็นพรรคประชาธิปัตย์ พ.ต.อ.ทวีถูกย้ายจากตำแหน่ง ทำให้นายธาริตรับหน้าที่แทนตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2552 ถือเป็นหน่วยงานการเมืองที่รับใช้ด้านความมั่นคงของรัฐบาลชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพื่อควบคุมและปราบปรามการชุมนุมของคนเสื้อแดง บทบาทของนายธาริตยิ่งโดดเด่นในฐานะกรรมการ ศอฉ. ที่ขยันขันแข็งร่วมกับ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ที่สำคัญนายธาริตเป็นผู้ทำหน้าที่แถลงแสดงหลักฐานข้อมูลความเคลื่อนไหวของม็อบเสื้อแดง รวมทั้งเรื่องกองกำลังติดอาวุธชายชุดดำ ตลอดจนรวบรวมข้อกล่าวหาคนเสื้อแดงกรณีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง

หลังการชุมนุมยุติ ดีเอสไอเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินคดีคนเสื้อแดง โดยเฉพาะคดีก่อการร้าย ทำให้นายธาริตเป็นที่เกลียดชังอย่างมากของฝ่ายคนเสื้อแดง และเป็นสาเหตุให้ถูกฝ่ายพรรคเพื่อไทยตรวจสอบอย่างหนักทั้งเรื่องการทำงานและเรื่องส่วนตัว โดยเฉพาะกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง เปิดเผยเรื่องการโอนเงิน 150,000 บาท เข้าบัญชีของภรรยา โดยอ้างว่าเป็นเงินค่าตอบแทนในการเลี่ยงภาษี แต่นายธาริตตอบโต้ว่าเป็นค่าให้คำปรึกษาทางกฎหมาย

เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลายฝ่ายในพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงเรียกร้องให้ปลดนายธาริต แต่นายธาริตยังคงอยู่ในตำแหน่งอย่างมั่นคงและปรับเปลี่ยนบทบาททำงานกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้อย่างแข็งขัน โดยเฉพาะการดำเนินคดีกับฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ เช่น คดีต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส คดีทุจริตก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง คดีสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เป็นต้น ทำให้นายธาริตถูกโจมตีว่า “เปลี่ยนสีลู่ตามลม” แต่นายธาริตก็อธิบายว่า “ข้าราชการพลเรือนมีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล หากไม่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลจะมีความผิดทางวินัย นี่คือความจริงที่ต้องยอมรับ เพราะประเทศนี้วางกติกาว่าฝ่ายการเมืองเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายข้าราชการประจำเป็นฝ่ายปฏิบัติ ข้าราชการประจำคือเครื่องมือของฝ่ายการเมือง เมื่อกติกาของบ้านเมืองเราและกฎหมายเป็นเช่นนี้ เราก็ต้องปฏิบัติตามนี้”

ระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ขับไล่นายกฯยิ่งลักษณ์ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2556 นายธาริตและดีเอสไอตกเป็นเป้าการปิดล้อมและขับไล่ แม้กระทั่งบ้านภรรยาที่เขาใหญ่เพื่อทำโฮมสเตย์ก็ถูกตรวจสอบว่ารุกล้ำพื้นที่ป่าสงวนฯจนต้องยอมรื้อบ้านบางหลังและคืนที่ดินบางส่วน

เพียง 48 ชั่วโมงหลังการรัฐประหารก็มีคำสั่ง คสช. ที่ 8/2557 ย้ายนายธาริตพ้นจากตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายธาริตจึงใช้เวลาส่วนใหญ่กับการขึ้นศาลเพื่อต่อสู้คดีถึง 26 คดีที่เป็นทั้งโจทก์และจำเลย โดยนายธาริตอธิบายว่า “เราไม่ต้องพูดถึงความแฟร์อะไรนะ แต่ผมอยากจะกระตุ้นเตือนความคิดนิดหนึ่งว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับผมในขณะนี้ กำลังเกิดขึ้นกับข้าราชการประจำคนหนึ่งที่ตั้งใจและทุ่มเทการทำงานตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา แต่ต้องมาเจออะไรแบบนี้ ต่อไปจะมีข้าราชการประจำคนไหนกล้าที่จะมาทำงานกันไหม”

คดีร่ำรวยผิดปรกติของนายธาริตซึ่งจะถูกยึดทรัพย์ 346 ล้านบาท ถูกมองว่าเป็นคดีทางการเมือง เพราะคณะทหารและข้าราชการระดับสูงที่มีทรัพย์สินมากกว่านี้ยังมีอีกหลายคน การลงโทษนายธาริตเป็นเสมือนการ “ตักเตือน” ฝ่ายข้าราชการไม่ให้เบี่ยงเบนจากฝ่ายกระแสหลัก


You must be logged in to post a comment Login