วันพฤหัสที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567

คืนความสุขให้นายทุน? / โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On March 20, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : ประชาธิปไตย เจริญสุข

นายจรูญกล่าวถึงกระแสสังคมที่มีต่อรัฐบาล คสช. ที่จะครบ 3 ปีว่า กลุ่มแรกที่สนับสนุนและพอใจการยึดอำนาจก็อาจยังมีความหวังอยู่ ให้โอกาสอยู่ อย่างกรณีวัดพระธรรมกายที่เห็นถึงความเด็ดขาด เอาจริงเอาจัง แต่เรื่องการปฏิรูปพลังงาน เรื่องโรดแม็พไม่ค่อยขยับนัก และเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้มีประสิทธิภาพกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและคดีต่างๆ กลุ่มที่ 2 ที่ไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ผิดหวังรัฐบาล เขาไม่พอใจเท่าไรและคิดว่ารัฐบาลนี้ทำอะไรไม่เป็นมรรคเป็นผลมากมายนัก ส่วนกลุ่มที่ 3 เช่น อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี อาจเห็นว่าผลงานไม่เป็นชิ้นเป็นอัน

สำหรับความคิดส่วนตัวเห็นด้วยเรื่องปราบปรามการทุจริต ปราบปรามผู้มีอิทธิพล การจัดการกับวัดพระธรรมกาย หรือสิ่งที่รัฐบาลในอดีตไม่ค่อยทำก็อาจจะพอดูได้ แต่ถ้าดูเวลาที่เหลือตามโรดแม็พและที่ผ่านมาตั้งแต่ต้น เมื่อไม่ได้มาตามปรกติ มาจากสถานการณ์บ้านเมืองที่ขัดแย้ง จึงต้องปฏิรูปประเทศ สร้างความปรองดองอะไรต่างๆ ผมคิดว่ายังไม่ได้มีอะไรเป็นรูปเป็นร่าง เป็นหลักประกัน เมื่อรัฐบาลลงจากอำนาจ บ้านเมืองจะเข้าสู่ภาวะปรกติได้อย่างไร ตรงนี้ผมยังมองไม่เห็น เพราะยังไม่มีองคาพยพอะไรที่เป็นหลักประกัน มีแต่กฎหมาย ซึ่งมีผลโดยตัวมันเองไม่ได้ ต้องมีผลโดยโครงสร้างของสังคม เป็นไปตามกฎหมาย

ถามว่าถ้าเป็นไปตามโรดแม็พแล้ว ในภาวะปรกติเราจะใช้เครื่องมืออะไร ซึ่งผมไม่เห็น ตอนนี้ที่ทำได้เพราะมีอำนาจพิเศษ เมื่อมีการเลือกตั้งปรกติผมเกรงว่าความขัดแย้งที่ยังไม่คลี่คลายและไม่ปรองดองอย่างชัดเจน ปัญหาก็จะกลับมาอีก อย่างวัดพระธรรมกายที่ยังยืดเยื้อเป็นลางบอกเหตุอะไรบางอย่าง

โอกาสจะเลื่อนโรดแม็พ

ผมคิดว่า 50-50 เพียงแต่จะใช้สถานการณ์อะไรมาเป็นเงื่อนไขเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ อย่างปัญหาธรรมกายยังคงอยู่ ผมคิดว่าขึ้นอยู่ที่เงื่อนไข ประการที่ 2 มีอะไรที่ทำให้ คสช. ไม่มั่นใจหรือวิตกกังวลสถานการณ์ขณะนี้ โดยเฉพาะกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองที่จะรับไม้ต่อจะทำให้บ้านเมืองดีขึ้นหรือแย่ลง
เพราะบริบททางสังคมเปลี่ยนไปเยอะในช่วง 2-3 ปีที่ คสช. เข้ามา ถ้าเกิดความขัดแย้งอีกผมคิดว่าจะน่ากลัวกว่าเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว

การเลือกตั้งเท่าที่ประเมินกลางปี 2561 อาจเลื่อนออกไปอีก แต่ถ้า คสช. จะอยู่นานก็จะถูกตั้งคำถามทั้งในประเทศและต่างประเทศว่ามีเหตุผลอะไรที่เลื่อนโรดแม็พ เลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ ตรงนี้จะเป็นโจทย์ให้ คสช. ต้องคิด ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกจะกดดัน คสช. กลุ่มที่อยากให้เลื่อนและให้ คสช. อยู่ต่อก็มีพอสมควร อีกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น คสช. จะอยู่ต่อหรือไม่เขาก็กดดันอยู่ตลอด คสช. จะยิ่งขาดความชอบธรรมมากขึ้นเรื่อยๆถ้าไม่เป็นไปตามโรดแม็พในทรรศนะของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย

ผมขอย้ำว่าขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ คสช. จะนำมาอ้าง แต่อ้างแล้วจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผมคิดว่าถ้า คสช. ทำตามโรดแม็พที่ให้สัญญาไว้จะเป็นมงคลมากกว่า ถ้าเงื่อนไขเขาเลือกได้ วางมือได้ ก็ไม่น่าจะอยู่ต่อ ยกเว้นกลุ่มอื่นๆที่ได้ผลประโยชน์จากอำนาจนี้ซึ่งมีหลากหลายกลุ่ม แต่ผมก็ไม่รู้ว่า คสช. จะอยู่ไปอีกกี่ปี ต้องดูเป็นระยะๆ ตอนนี้คิดว่าไม่น่าจะเป็นไปตามโรดแม็พแน่นอน แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะยืนยันหลายครั้งว่าจะเป็นไปตามโรดแม็พก็ตาม

ประชาชนจะออกมาหรือไม่

ผมประเมินว่าขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของปัญหาเวลานั้นว่ารัฐบาล คสช. ทิ้งทวนอะไรหรือไม่ เช่น โครงการลุ่มน้ำโขง โครงการในภาคใต้ หรือนโยบายต่างๆที่กระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน ปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นปัญหาใหญ่ ถ้าปัญหาต่างๆเหล่านี้รุมเร้าหนักผมก็ไม่คิดว่าประชาชนจะออกมา นอกจากจะมีสถานการณ์อะไรเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดความไม่พอใจในเวลานั้น

อย่างภาคใต้มีปัญหาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่และสงขลา ส่วนภาคอีสานก็มีโครงการลุ่มแม่น้ำโขง ส่วนเรื่องความไม่เป็นประชาธิปไตยผมคิดว่ามีความหลากหลาย ความเป็นเหลือง เป็นแดง มันเจือจางแล้ว แต่จะมีปัญหาใหม่คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องเข้ามา ขึ้นอยู่กับว่าถึงวันนั้นสถานการณ์จะคลี่คลายอย่างไร ถ้าไม่คลี่คลายก็น่าเป็นห่วงว่าจะปะทุได้ เพราะมีความไม่พอใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ผลงานรัฐบาล คสช.

ผมคิดว่าคนใต้ที่พอใจก็มี เช่น การปราบปรามผู้มีอิทธิพล การจัดการปัญหาที่รัฐบาลก่อนๆทำไม่ได้ แต่เรื่องที่คนใต้ผิดหวัง เช่น เรื่องพลังงาน การแย่งชิงทรัพยากรกับพี่น้องประชาชน คือคนใต้ส่วนหนึ่งที่มีข้อมูล มีความสนใจหรือวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืน เขาผิดหวังรัฐบาลพอสมควรที่ไปเข้าข้างนายทุนจนเขาใช้คำว่า “คืนความสุขให้นายทุน” คนใต้ก็น้อยใจ แม้เขาจะเข้าใจว่าทุกรัฐบาลจะตัดสินใจบนพื้นฐานอย่างนี้ แต่คิดว่ารัฐบาลทหารจะมีวิสัยทัศน์หรือความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการปัญหาพวกนี้ดีกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีกลุ่มทุนสนับสนุน แต่จริงๆกลับไม่แตกต่างกัน

ดังนั้น เสียงสนับสนุนจากพี่น้องคนใต้ต่อรัฐบาล คสช. คงไม่เหมือนเดิม คือลดลง นอกจากนี้ยังเห็นว่าผลงานของรัฐบาลหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา หรือราคายางตกต่ำ พี่น้องชาวใต้ไม่ค่อยแฮปปี้เท่าที่ควร เพราะการเข้ามาของ คสช. ครั้งนี้ ในสายตาของคนไทยมองว่าคนใต้มีส่วนในการสนับสนุน คสช. ทั้งที่จริงไม่ใช่ เพียงแต่สถานการณ์เวลานั้นทำให้เป็นอย่างนั้น และหวังว่าจะดีกว่ารัฐบาลก่อนๆ แต่เมื่อไม่ดีกว่าก็ผิดหวัง

ที่ผมผิดหวังมากที่สุดคือวัฒนธรรมอำนาจไม่เปลี่ยน ยังมีระบบพรรคพวก มีนอกมีใน ไม่โปร่งใสร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่สง่างามพอ ผมคิดว่ากลุ่มอำนาจที่จะปฏิรูปบ้านเมืองไปสู่ความศิวิไลซ์และความชอบธรรมที่ยอมรับของสังคมไทยและสังคมโลกได้ต้องไม่มีอะไรที่เคลือบแคลง ด่างพร้อย ผมถือว่าการถูกกล่าวหาในทางการเมือง แค่ประชาชนเชื่อก็ไม่สง่างามแล้ว แต่เราไม่รู้จะไปเรียกร้องกับใคร ก็รู้สึกผิดหวัง ต้องยอมรับความจริงว่าสถานการณ์ไม่เหมือนลุงโฮจิมินห์ปฏิวัติเวียดนาม กรณี คสช. เป็นเรื่องอุบัติเหตุ เลยอาจไม่พร้อมที่จะไปกันทั้งขบวน นายกรัฐมนตรีก็พูดขัดใจหลายเรื่อง แต่ไม่รู้จะทำยังไง ขอเตือนว่ายิ่งรัฐบาล คสช. อยู่นานโดยไม่มีเงื่อนไขอันชอบธรรมก็จะยิ่งไม่เป็นผลดีต่อ คสช. เอง ยกเว้นจะจัดการอะไรให้เป็นรูปธรรม แต่ผมว่าคงยาก เพราะถ้าทำเรื่องปฏิรูปได้เขาคงทำไปแล้ว ถ้าเป็นหนังตะลุงคือมันใกล้จบเรื่อง ใกล้สว่างแล้ว คือตัวละครออกมาหมดแล้ว คงไม่มีตัวละครใหม่เกิดขึ้นอีก

โอกาสที่จะเกิดรัฐประหาร

ถ้าหากวิกฤตศรัทธาที่มีต่อ คสช. ลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสถานการณ์ต่างๆรุมเร้า คสช. โอกาสที่จะเกิดการรัฐประหารอีกครั้งผมคิดว่าเป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะก่อนพฤษภาทมิฬเราคิดว่า ไม่มีแล้ว พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็โดน พอหลังพฤษภาทมิฬเราว่าน่าจะหมดแล้ว แต่ก็เกิดเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 อีก และคิดว่าน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายมันก็เกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 อีก เรื่องรัฐประหารจึงเป็นไปได้ทั้งนั้น เพียงแต่ว่าพอถึงจุดนั้นก็เป็นไปได้ทั้ง 2 ทางคือ มิคสัญญีพลังประชาชนกับการยึดอำนาจของกองกำลังที่มีอำนาจทางอาวุธ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเวลานั้น

ที่ผ่านมาเราคิดว่าไม่น่าจะเกิด แต่ก็ยังเกิดการปฏิวัติรัฐประหารมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ยึดอำนาจจากคณะปฏิวัติเดิมไม่ค่อยเห็นเท่าไร เห็นแต่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ซึ่งเราเห็นตลอด แต่ครั้งนี้เป็นรัฐบาลทหาร ทีนี้ใครจะมายึดอำนาจ ก็มีแต่ทหารด้วยกัน แต่เงื่อนไขตรงนั้นคืออะไร ผมมองว่าเงื่อนไขคือบ้านเมืองไม่มีทางออก แต่ผมก็คิดว่ามันไม่ง่าย เรื่องการยึดอำนาจมันไม่ยาก แต่ยึดแล้วจะทำอย่างไรยากกว่า

ส่วนโอกาสที่ คสช. จะปฏิวัติตัวเองนั้น ผมยังย้ำว่าการยึดอำนาจไม่ยาก แต่หลังจากยึดอำนาจแล้วมันยาก จะพาบ้านเมืองไปยังไง ไม่เหมือนสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร แต่อย่างที่ผมว่ามันเป็นไปได้ทั้งนั้น จะไปฟันธงว่าอะไรไม่ได้ สิ่งที่เราคาดไม่ถึงก็อาจเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับบริบท ณ เวลานั้นว่าทางออกคืออะไร และคนที่ตัดสินใจเรื่องนี้คือใคร

อนาคตประเทศไทยเป็นอย่างไร

ผมคิดว่า คสช. หรือคณะปฏิรูปที่เข้ามาเป็นเพียงกลุ่มหนึ่งที่มาโดยการจัดตั้ง ภารกิจทั้งหมดจะสำเร็จลุล่วงไปไม่ได้ถ้าภาคประชาชนหรือพี่น้องประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทุกกลุ่มพลังไม่ร่วมมือกัน มันก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งต่อไป เพราะฉะนั้นผมอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเอาชาติบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง เอาผลประโยชน์ ความสงบสุขของสังคมเป็นที่ตั้ง คิดหาทางออกให้กับบ้านเมืองร่วมกัน อย่าปล่อยให้เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ปัญหาคือบ้านเรามีพื้นที่แค่ไหนให้พี่น้องประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วม ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ


You must be logged in to post a comment Login