วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

เปิดโปงสินบนเอเชียแปซิฟิก

On March 10, 2017

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) ใช้เวลาระหว่างเดือนกรกฎาคม ปี 2015 ถึงเดือนมกราคม ปีนี้ รวม 19 เดือน สำรวจสถานการณ์การคอร์รัปชันใน 16 เขตเศรษฐกิจ ของภูมิเอเชียแปซิฟิก มีข้อมูลน่าสนใจหลายประเด็นด้วยกัน

ทีไอ (TI) เป็นองค์กรอิสระระดับสากล มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี และมีสาขาอยู่ทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ

สำหรับ 16 เขตเศรษฐกิจ ที่ทีไอสุ่มสำรวจ ประกอบด้วยอินเดีย เวียดนาม ไทย ปากีสถาน อินโดนีเซีย จีน มาเลเซีย มองโกเลีย กัมพูชา ศรีลังกา พม่า ไต้หวัน ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ฮ่องกง และญี่ปุ่น โดยตั้งหัวข้อที่ใช้สำรวจว่า “ประชาชนและการคอร์รัปชั่นในเอเชียแปซิฟิก” (People and Corruption : Asia Pacific)

ทีไอสอบถามประชาชนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 21,861 คน จากนั้น นำข้อมูลจากแบบสอบถามไปคำนวณเปรียบเทียบ พบว่ามีประชาชนใน 16 เขตเศรษฐกิจกว่า 900 ล้านคน ให้สินบนเจ้าหน้าที่ในรอบปีที่ผ่านมา

องค์กรและหน่วยงาน ที่ประชาชนจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาให้มากที่สุด 6 อันดับ ประกอบด้วยอันดับ 1 ตำรวจ จ่ายเพื่อให้ช่วยเหลือ หรือไม่ก็เพื่อไม่ให้ถูกปรับ อันดับ 2 หน่วยงานออกเอกสารต่างๆ เช่น บัตรประชาชน และใบขับขี่ เป็นต้น

อันดับ 3 ศาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี อันดับ 4 โรงเรียนรัฐบาล อันดับ 5 ระบบสาธารณูปโภค เช่น การประปา และอันดับ 6 โรงพยาบาลและหน่วยงานรักษาพยาบาล

ประเทศและเขตเศรษฐกิจที่มีคอร์รัปชัน หรือมีการให้สินบนน้อยที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย (1) ญี่ปุ่น มีเพียง 0.2% (2) ฮ่องกง 2% (3) เกาหลีใต้ 3% (4) ออสเตรเลีย 4%

และ (5) ไต้หวัน 6%

ส่วนประเทศที่มีคอร์รัปชันมากที่สุด 6 อันดับแรก ประกอบด้วย (1) อินเดีย 69% (2) เวียดนาม 65% (3) ไทย 41% และอีก 3 ประเทศ มี 40% เท่ากัน คือกัมพูชา พม่า และปากีสถาน

ผู้จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มผู้มีฐานะยากจนที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มมีทางเลือกน้อย และไม่มีอิทธิพอที่จะเลี่ยงจ่ายสินบนได้

ต่อคำถามว่า มีวิธีใดบ้างที่จะช่วยแก้ปัญหาการรับสินบนของเจ้าหน้าที่ คำตอบที่มีผู้ตอบมากที่สุดคือ แจ้งเรื่องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือไม่ก็ยืนกรานไม่ยอมจ่าย

แต่มีผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 20% บอกว่าไม่มีความสามารถจะต่อต้านคอร์รัปชันได้ ขณะผู้เคยให้สินบนส่วนใหญ่ยอมรับว่า ไม่ได้แจ้งเรื่องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเชื่อว่า “แจ้งไปก็เท่านั้น” ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ผลสำรวจครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าค่านิยมเรื่องการจ่ายสินบนในประเทศส่วนใหญ่ของภูมิเอเชียแปซิฟิก จะหมดไป


You must be logged in to post a comment Login