วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

ธรรมกายกับสมเด็จ ป.อ. ปยุตโต / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On March 2, 2017

คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

ขอเขียนเรื่องพระ แม้ไม่ได้เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยตรง แต่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์การลงทุน ซึ่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระที่มีภาพพจน์ดีเยี่ยม ได้เขียนหนังสือชื่อ “กรณีธรรมกาย” วิพากษ์ธรรมกายว่าผิดฉกรรจ์หลายเรื่อง ผมได้เขียนบทความ 3 ชิ้นวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ ในที่นี้ผมขอสรุปรวบยอดข้อวิจารณ์ในคราวเดียวเพื่อความกระจ่าง

หนังสือของสมเด็จฯเขียนตั้งแต่ปี 2542 หนา 440 หน้า เน้นวิพากษ์บทความหนึ่งของพระสมชาย ฐานวุฑโฒ ซึ่งเคยเป็นแพทย์และกำลังเรียนปริญญาเอกขณะนั้น บวชมา 14 พรรษา อายุ 38 ปี ส่วนสมเด็จฯบวชมาแล้ว 38 พรรษา อายุ 61 ปี เรียกว่าลงไป “ชกข้ามรุ่น” ระดับพ่อ-ลูก ระดับพระผู้ใหญ่กับพระลูกวัดเด็กๆของวัดพระธรรมกาย

อันที่จริงสมเด็จฯควรรวบรวมตำรา ข้อเขียน หรือเทปคำสอนของเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายมาวิพากษ์ กล่าวถึงปัญหาธรรมกายเป็นข้อๆ แสดงวิธีศึกษาอย่างเป็นระบบแล้ววิเคราะห์ให้เห็นข้อที่ผิด พร้อมบรรณานุกรม แต่หนังสือเล่มนี้กลับเริ่มต้นด้วยการ “พาดหัว” คล้ายพิพากษาในเชิงลบตั้งแต่ต้น เช่น กรณีธรรมกาย ถึงขั้นจ้วงจาบพระธรรมวินัย ทําพระธรรมวินัยให้วิปริต ถ้าตีรวนพระไตรปิฎกได้ก็ถอนรากพระสงฆ์ไทยสําเร็จ เป็นต้น

สมเด็จฯมองฝ่ายคุกคามวัดพระธรรมกายในเชิงบวก เช่น แม้บางท่านจะรุนแรงทางถ้อยคําบ้างก็อาจเป็นเพราะความที่รักพระพุทธศาสนาและบ้านเมืองมาก เมื่อเห็นอยู่ชัดเจนว่าคำสอนและการปฏิบัติของชาวสํานักผิดแผกแตกต่างหรือสวนทางไปไกล ด้วยความรักต่อพระศาสนาและส่วนรวมจึงทําให้ท่านเหล่านั้นอดใจไม่ได้ต้องแสดงออกมารุนแรง แต่ก็เพียงด้วยวาจา

สมเด็จฯวิจารณ์เรื่องการสร้าง “ธรรมกายเจดีย์” ในประเด็นซ้ำๆไปถึง 25 หน้า ผู้เขียนก็ขออนุญาต “มองต่างมุม” อย่างที่ว่า “ถ้าสร้างแล้วช่วยให้เงินเข้าประเทศปีละ 100 ล้านบาท กว่าจะคุ้มทุน 70,000 ล้านบาทก็ 700 ปี หรือถ้าคิดทุนสร้างแค่ 20,000 ล้านบาทก็ 200 ปี” แสดงว่าสมเด็จฯไม่มีความรู้ทางการเงินเลย สมเด็จฯไม่ควรพูดด้วยความไม่รู้เช่นนี้

สมเด็จฯว่า “อนุสรณ์สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชไม่ใหญ่โตเท่าไรก็อยู่มาเกิน 2,000 ปีแล้ว” ข้อนี้ไม่จริง แม้ตัวสถูปสาญจีไม่ได้ใหญ่โตมาก แต่พื้นที่โดยรวมก็มีขนาดนับล้านตารางเมตร มหาสถูปแห่งเกสเรียซึ่งมีรูปร่างคล้ายธรรมกายเจดีย์ก็สร้างไว้ใหญ่โต สมเด็จฯควรศึกษา “17 พุทธสถานในอินเดียที่คุณจะต้องทึ่ง” ก่อนจะแสดงความเห็นเช่นนี้

สมเด็จฯว่า “สิ่งมหัศจรรย์ของโลกมักเป็นอนุสรณ์แสดงอะไรบางอย่างในจิตใจที่ไม่ค่อยดี เป็นเรื่องตัวเรื่องตน อย่างน้อยก็คือความต้องการแสดงอํานาจความยิ่งใหญ่ น่ายกย่องพระเจ้าอโศกมหาราชมาก สร้างเน้นความเป็นอนุสรณ์ และแสดงความเคารพบูชาพระพุทธเจ้าจริงๆ เช่น มุ่งไปทําในที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ เป็นต้น” ข้อนี้ไม่ควรพูดส่อเสียดธรรมกายเจดีย์ สมเด็จฯคงเข้าใจผิด “เสาอโศก” สร้างกระจายทั่วอินเดียเพื่อเผยแผ่ศาสนามากกว่าแถวสังเวชนียสถานเสียอีก

ถามทางวัดพระธรรมกายว่า จะให้มหาธรรมกายเจดีย์เป็นศูนย์กลางชาวพุทธทั่วโลกเหมือนอย่างเมกกะ ตอบ เมกกะนั้นเป็นที่ประสูติของท่านศาสดามูฮัมหมัด (มหาธรรมกายเจดีย์) ก็ไม่เห็นมีความเกี่ยวข้องอะไรกับพระประวัติของพระพุทธเจ้า ข้อนี้สมเด็จฯไม่น่าพูดเป็นอื่น ธรรมกายเพียงสร้างเพื่อเป็นศูนย์เผยแผ่ศาสนาเช่นศาสนาอื่นเท่านั้น มหาธรรมกายเจดีย์อาจคล้ายมหาวิทยาลัยนาลันทะที่อาคารสถานที่ใหญ่โตและศิลปกรรมวิจิตรงดงาม นักศึกษามีประมาณ 10,000 คน และอาจารย์ประมาณ 1,500 คน

สมเด็จฯว่า “(วัดเชตวัน) อาคารไม่ใหญ่อย่างกุฏิพระพุทธเจ้า กว้างด้านละ 2-3 เมตร เท่านั้นเอง ที่ว่าบริเวณใหญ่โตก็คือเป็นสวนหรือเป็นป่า” ข้อนี้สมเด็จฯพูดผิดความจริงที่ว่า “(ที่ดิน) แพงมหาศาลถึง 18 โกฏิ สร้างถาวรวัตถุต่างๆสิ้นเงินไปอีก 36 โกฏิ” แสดงว่าสร้างอย่างยิ่งใหญ่มาก ส่วนกุฏิของพระพุทธเจ้าจะเล็กกว่าของสมเด็จฯไม่ใช่ประเด็น

สมเด็จฯว่า “พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลไม่เคยสร้างวัดที่ไหนเลยแม้แต่วัดเดียว” ข้อนี้สมเด็จฯพยายามบอกว่าพระธัมมชโยไม่ควรสร้างวัดใช่หรือไม่ ชาววัดพระธรรมกายเขาสร้างตามศรัทธา ในทางตรงข้าม วัดดังๆที่บุกรุกที่บนภูเขานั้นสมเด็จฯเคยเอ่ยปากตำหนิหรือไม่ ในสมัยพุทธกาลมีทั้งพระป่าและพระบ้าน เทวทัตขอให้พระอยู่แต่ในป่า แต่พระพุทธเจ้าไม่ยินดี สมเด็จฯต้องการให้พระอยู่แต่ในป่าหรือ

นักการศาสนาเยี่ยงสมเด็จฯยังเขียนเรื่องประชาธิปไตยว่า “เสียงมากตัดสินความจริงไม่ได้ (สมัยก่อน) คนบอกว่าดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก โลกแบน เรื่องความจริงนั้นต้องใช้ปัญญา” ข้อนี้สมเด็จฯอาจสับสนในกรณีศิลปะวิทยาการ จะไปถามคนส่วนใหญ่ไม่ได้ เช่น ถามว่าจะสร้างจรวดไปดวงจันทร์อย่างไรคงไม่ได้คำตอบ หรือกรณีรูปวาดแพงๆ ถ้าถามชาวบ้าน ถามสมเด็จฯ ก็คงมองไม่เห็นความสวยงามอะไรได้ลึกซึ้ง

อย่างไรก็ตาม เสียงส่วนใหญ่คือสัจธรรม หรือสัจธรรมยืนอยู่ข้างคนส่วนใหญ่ การตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ย่อมถูกต้องเสมอ เช่น การประเมินค่าทรัพย์สินโดยการเปรียบเทียบตลาด (Market Comparison Approach) ผู้ประเมินต้องหาข้อมูลให้เพียงพอจึงจะทราบว่าในตลาดมีระดับราคาที่เรียกว่า “ช่วงชั้นราคาตลาด” (Zone of Market Prices) หรืออีกนัยหนึ่งคือ “ฮั่งเส็ง” หรือ “หั่งเช้ง” คนส่วนใหญ่ซื้อบ้านในราคาตลาดก็สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน

พฤติกรรมตลาด (Market Behavior) เป็นผู้กำหนดราคา ซึ่งสะท้อนความเป็นไปได้ทั้งทางกายภาพ ตลาด การเงิน และกฎหมาย เมื่อมีตลาดก็มีราคา เราจึงต้องฟังเสียงตลาดหรือคนส่วนใหญ่ แต่บางครั้งก็อาจมีข้อมูลที่สูงต่ำผิดปรกติ (Outliers) ซึ่งเป็นความผิดพลาด (Errors) ที่อธิบายได้หรือยังอธิบายไม่ได้ อันเป็นผลจากการจดบันทึกหรือเก็บข้อมูลที่คลาดเคลื่อน มีตัวแปรพิเศษหรือกลุ่มตัวอย่างแตกต่างไปจากกลุ่มส่วนใหญ่ จึงต้องร่อนเอา Outliers ออกก่อนวิเคราะห์หรือประมวลผล

ในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ให้สาวกยึดมั่นในพระพุทธองค์ (หลังจากที่พระองค์ปรินิพพานแล้ว) แต่ให้ยึดมั่นในพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทน แม้แต่พระวินัยบางข้อ ถ้าที่ประชุมสงฆ์เห็นควรละเว้นแก้ไขก็อนุญาตให้ทำได้ แสดงว่าพระพุทธเจ้ายอมรับปัญญาและความเป็นอิสระของคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังปฏิเสธการแบ่งชั้นวรรณะ เห็นคนเท่าเทียมกัน บวชให้จัณฑาล จึงนับว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งประชาธิปไตย จึงถูกทำลายหรือไม่ก็ถูกควบคุมให้อยู่ใต้อาณัติของวรรณะพราหมณ์และวรรณะกษัตริย์เรื่อยมา ประชาธิปไตยยังเป็นเรื่องของกระบวนการแห่งการเรียนรู้ของประชาชน ไม่ใช่แค่ผลผลิต

สมเด็จฯมีฐานะที่สูงส่ง เป็นพระผู้ใหญ่ สิ่งที่เขียนจึงมีคนเชื่อโดยไม่ได้อ่าน อ่านไม่จบ หรืออ่านโดยไม่ไตร่ตรอง อันที่จริงควรจัดประชุมปุจฉาวิสัชนาเพื่อให้เกิดสังคมอุดมปัญญาแทนการเขียนอยู่ข้างเดียวและตีพิมพ์ซ้ำถึง 31 ครั้ง ในระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา แถมยังเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของท่าน หนังสือเล่มนี้จึงกลายเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างและสร้างความเกลียดชังธรรมกายและสร้างความแตกแยกในสังคม

เรื่องพระก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเราลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แล้ววิเคราะห์แบบผิดหลักวิชา ไม่ได้ศึกษาให้จริงจัง การลงทุนคง “เจ๊ง” แน่นอน เราจึงพึงวิเคราะห์ให้ดีจะได้ไม่พลาด


You must be logged in to post a comment Login