วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567

ประเทศไทยไร้อนาคต / โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On February 6, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : ประชาธิปไตย เจริญสุข

บ้านเมืองในยุค คสช. ถ้าเป็นแง่ความขัดแย้งทางการเมืองไม่มีอะไรดีขึ้น ความขัดแย้งต่างๆยังถูกซุกไว้ใต้พรม ถ้าถามว่าความขัดแย้งในสังคมตอนนี้คืออะไร ผมคิดว่ากลุ่มต่างๆที่ยังมีความขัดแย้งกัน ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย นปช. (กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) หรือ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ซึ่งขัดแย้งเรื่องการเมืองบ้าง เรื่องความคิดบ้าง ตอนนี้ทุกกลุ่มไม่มีความขัดแย้งอะไรอีกแล้ว ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ หรือ นปช. กับ กปปส.

ผมย้ำว่าตอนนี้ทุกกลุ่มไม่ได้มีความขัดแย้งระหว่างกันเหมือนในอดีต สถานการณ์หลังการยึดอำนาจของ คสช. จนถึงขณะนี้ ทำให้ คสช. ขัดแย้งกับกลุ่มต่างๆในสังคมทั้งหมด ยกเว้นกลุ่ม กปปส. กลุ่มเดียว สะท้อนภาพใหญ่ทางการเมืองว่า การยึดอำนาจทำให้ทหารกลายเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งและความไม่พอใจทางการเมือง

สิ่งที่เกิดขึ้นจากการยึดอำนาจทำให้ คสช. กลายมาเป็นคู่ขัดแย้งกับกลุ่มต่างๆในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็ดึงกองทัพให้มาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนและพรรคการเมืองต่างๆมากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน เป็นการแยกขั้วทางการเมืองระหว่าง คสช. ทหาร และ กปปส. ฝั่งหนึ่ง กับกลุ่มที่เหลือในสังคมอยู่อีกฝั่งหนึ่ง

การสร้างความปรองดอง

แผนการสร้างความปรองดองของ คสช. เกิดยาก เพราะสิ่งที่ คสช. เข้าใจกับสิ่งที่คนอื่นเข้าใจคนละเรื่องกัน คสช. เข้าใจว่าตัวเองเป็นกรรมการกลางที่จะแก้ไขความขัดแย้ง แต่กลุ่มอื่นๆในสังคมไม่ได้คิดอย่างนั้นกับ คสช. อีกแล้ว ที่ คสช. บอกว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง แต่ความเป็นจริง คสช. เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ในแง่การเมือง ข้อเสนอต่างๆของ คสช. ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.พรรคการเมือง ระยะเวลาในการเลือกตั้ง การยึดโรดแม็พยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กฎหมายลูกต่างๆ หรือเรื่องการปรองดองนั้น ข้อเสนอที่ คสช. เสนอถูกวิพากษ์วิจารณ์และไม่เห็นด้วยจากคนกลุ่มต่างๆแทบทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องรัฐธรรมนูญ แผนยุทธศาสตร์ชาติ การเลื่อนโรดแม็พออกไป หรือการสร้างความปรองดอง ถูกตั้งคำถามหมด

เป็นปรากฏการณ์ที่ผมคิดว่าถ้า คสช. ไม่เข้าใจว่าตัวเองเป็นคู่ขัดแย้งกับกลุ่มอื่นๆ โจทย์ในการสร้างความปรองดองจะมีปัญหาแน่นอน สิ่งที่ คสช. จะทำภายใต้ภาพใหญ่แบบนี้คือ การตั้งโต๊ะคุยกัน เอาพวกนี้มาคุยกัน แล้วตัวเองเป็นกรรมการ แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ คสช. นี่แหละเป็นเป้าของความขัดแย้ง ความไม่พอใจระหว่างกลุ่มต่างๆรวมศูนย์ที่ คสช. ทั้งหมด

เพราะฉะนั้นแนวทางการสร้างความปรองดองตอนนี้ โจทย์หลักคือทำอย่างไรที่ คสช. จะทำให้กลุ่มอื่นๆในสังคมรู้สึกว่า คสช. ปรองดองกับเขา ฟังเขา ให้พื้นที่เท่าๆกันในการพูด การแสดงความคิดเห็น ถ้าสังเกตให้ดี เวลาพูดถึง คสช. จะเรียกร้องเรื่องเดียวกันหมดเลย ตอนร่างรัฐธรรมนูญ การทำประชามติก็เรียกร้องขอพื้นที่ในการพูด หรือกฎหมายพรรคการเมืองก็เรียกร้องให้ คสช. เปิดพื้นที่ให้ได้พูดเท่าๆกัน รวมทั้งเรื่องปรองดองก็เรียกร้องแบบนี้ อย่ามีทหารมานำคณะกรรมการปรองดอง ควรให้ทุกฝ่ายได้พูด ให้ คสช. รับฟังคนอื่น เวลานี้มีโจทย์อยู่แค่นี้

แม้กระทั่งกลุ่มประชาชนต่างๆ เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้าก็เรียกร้องให้ คสช. รัฐบาล ฟังประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้า หรือเรื่องค่าแรงก็เรียกร้องให้รัฐบาลฟังฝ่ายแรงงานที่เห็นว่าควรเพิ่มมากกว่า 5 บาท

ผมคิดว่า คสช. คือศูนย์กลางของความขัดแย้งในสังคมไทยตอนนี้ แต่ คสช. ไม่เข้าใจตัวเอง คิดว่าตัวเองเป็นกลางและจะมาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งของคนกลุ่มต่างๆ ทั้งที่ตอนนี้ไม่ได้ขัดแย้งกัน พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยไม่เคยแถลงข่าวด่ากันมานาน นปช. กับ กปปส. ก็ไม่ได้พาดพิงกันแล้ว ผมยืนยันว่าแนวทางการสร้างความปรองดองของ คสช. จะไม่ประสบความสำเร็จเพราะตั้งโจทย์ผิด แนวทางของ คสช. ผิด และไม่สามารถสร้างความปรองดองอะไรได้

สิ่งที่ควรจะทำตอนนี้คือ กระบวนการสร้างความปรองดองที่ คสช. จะเป็นเจ้าภาพ คสช. ควรหาคนอื่นมาทำ เช่น นักวิชาการหรือคนที่มีชื่อเสียงที่สังคมยอมรับ ซึ่งตอนแรก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า คนที่มาทำเป็นคนที่สังคมยอมรับ เพราะรู้ว่าถ้าทหารทำ การยอมรับของสังคมไม่มี คำถามคือ ทำไมทำไปทำมาจึงไม่ได้เป็นอย่างที่ พล.อ.ประวิตรพูด กลายเป็นคณะกรรมการที่ทหารคุมทั้งหมด แล้วก็เป็นทหารระดับปลัดกระทรวง ซึ่งจะสร้างความยอมรับได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่การเอาคนมาทำทำให้รู้สึกว่า คสช. หรือรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับคณะกรรมการชุดนี้นัก ทหารระดับปลัดกระทรวงกลาโหมไม่ใช่ตำแหน่งหลักของการบังคับบัญชาของกองทัพด้วยซ้ำไป ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดตั้งแต่ต้น ถ้าจะเป็นคนในกองทัพก็ควรเป็นอดีตนายทหารที่ไม่มีอำนาจในปัจจุบัน ถ้าจะเอาอดีตทหารที่มีอำนาจในปัจจุบันก็ต้องเป็นคนที่มีความสำคัญมากกว่าปลัดกระทรวง

ที่ถามว่าทำไม คสช. เพิ่งมาคิดเรื่องสร้างความปรองดองนั้น ผมคิดว่าเขาคงมองออกว่าในภาพใหญ่คนจำนวนมากมีความอึดอัดกับการคงอยู่ของรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ และอึดอัดว่าจะไม่มีการเลือกตั้งปลายปี 2560 ตามโรดแม็พเมื่อการเลือกตั้งมีแนวโน้มเลื่อนออกไป คสช. จะทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีการประนีประนอม จึงเกิดการสร้างความปรองดองขึ้น คือเลื่อนการเลือกตั้งแล้วมาคุยกัน แต่การคุยมันยังไม่จบ ยอมรับได้ยาก และไม่น่าจะมีใครเข้าร่วมด้วย เป็นกระบวนการที่ทหารก็ลำบากใจ ทั้งยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำไมไม่นำข้อเสนอของคณะกรรมการปรองดองของอาจารย์คณิต ณ นคร หรืออาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่ได้ข้อสรุปก่อนหน้านี้มาใช้ โจทย์การปรองดองของ คสช. กับชุดของอาจารย์คณิตและอาจารย์เอนกนั้นต่างกัน

โจทย์ของอาจารย์คณิตและอาจารย์เอนกเป็นแนวที่ศึกษารากเหง้าของความขัดแย้งระดับมหภาค แต่โจทย์ของ คสช. คือโจทย์เฉพาะหน้า ทำยังไงให้กลุ่มที่มีบทบาททางการเมืองยุติความขัดแย้งกัน มันคนละโจทย์กันจึงไม่น่าจะใช้แทนกันได้ โจทย์ที่ คสช. สนใจตอนนี้คือกลุ่มที่มีบทบาททางการเมือง ไม่ว่าพรรคการเมือง กลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ จะยุติบทบาทหรืออยู่อย่างสงบยังไง มีแค่นี้ ไม่มีอะไรมากกว่านี้ ผมจึงย้ำว่าการสร้างความปรองดองในยุค คสช. จะไม่ประสบความสำเร็จ ปัญหายังคงมีอยู่ต่อไป เพราะประตูที่จะทำให้ความขัดแย้งได้รับการไกล่เกลี่ยเป็นประตูที่แคบเกินไป ที่สำคัญไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้งที่เป็นจริงในสังคม

การเลื่อนเลือกตั้ง

ผมยังมองไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร เพราะคนที่อยากให้มีการเลือกตั้งก็ไม่มีพลังไปกดดัน คสช. ให้คืนอำนาจได้ ขึ้นอยู่กับ คสช. ว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนยอมรับมากกว่าที่ผ่านมา ผมคิดว่าไม่มีใครทำอะไร คสช. ได้ นอกจาก คสช. ต้องรับผิดชอบตัวเอง หากเลื่อนการเลือกตั้งไปปี 2561 ปัจจัยที่น่าจะมีผลอย่างเดียวคือ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่ง คสช. ก็กังวลเรื่องเศรษฐกิจ แต่ยังไม่เลวร้ายขนาดไปกดดันให้ คสช. ต้องรีบคืนอำนาจ ถ้ามีการถอนการลงทุนจากประเทศไทยระยะยาว 5 ปี 10 ปี อันนั้นจึงจะกดดัน คสช. มันคงไม่เกิดในเวลานี้ อาจมีการชะลอการลงทุน

ดังนั้น ถ้า คสช. มีโอกาสเลื่อนการเลือกตั้งได้ก็คงเลื่อนไปเรื่อยๆ เพราะที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดหรือทีมงานพูดนั้นไม่มีความกระตือรือร้นจะคืนอำนาจให้ประชาชนเลย เป็นเรื่องของคนที่หวงอำนาจ ได้อำนาจมาโดยมิชอบแล้วไม่อยากจะคืนอำนาจเป็นเรื่องธรรมดา

ขณะที่พลังของนักศึกษาในการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยก็ไม่มีพลังอะไร เพราะไม่มีขบวนการอะไรชัดเจน ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการเคลื่อนไหวผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเป็นหลัก แต่มวลชนมีไม่มาก เมื่อเรียนจบไปไม่มีคนรุ่นใหม่มาแทน ขบวนการก็จบไปโดยปริยาย ไม่มีขบวนการอะไรรองรับ

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าความอึดอัดของคนจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนที่อยากเห็นการเลือกตั้ง ความรู้สึกอึดอัดว่า คสช. ล้มเหลวในการแก้ปัญหาต่างๆจะสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ อันนี้ต้องดูว่าระหว่างความอึดอัดของคนกับสิ่งที่ คสช. เลือกจะอยู่ต่อไปนั้น จุดสมดุลมันอยู่ตรงไหน ถ้าไม่มีจุดสมดุลจะเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้นมาได้

ตอนนี้ไม่มีใครสนใจเรื่องการปฏิรูปแล้ว พล.อ.ประยุทธ์เองก็อาจไม่ได้สนใจเรื่องนี้แล้ว เพียงแต่พูดว่าจะปฏิรูปโน่นปฏิรูปนี่ตามวาระ แต่โดยเนื้อในไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนตอนยึดอำนาจที่บอกว่าจะปฏิรูปความเหลื่อมล้ำทางสังคม เรื่องกฎหมายมรดก กฎหมายที่ดิน จนขณะนี้ก็ยังไม่เห็นมีอะไรคืบหน้า เรื่องที่คืบหน้าส่วนใหญ่เป็นการออกกฎหมายเชิงการเมืองมากกว่า กฎหมายที่จะนำไปสู่การปฏิรูปจริงๆกลับล่าช้ามาก กระบวนการยุติธรรมก็ไม่มีการปฏิรูปอะไร ตำรวจ ทหารก็ไม่มีการปฏิรูป เศรษฐกิจก็ไม่มี หน่วยงานเดียวที่ถูกปฏิรูปคือสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนมีอำนาจน้อยลง

คำว่าปฏิรูปของ คสช. มีความหมายแค่การออกกฎหมายให้มากๆ เวลาเขาพูดเรื่องความสำเร็จในการปฏิรูปจึงพูดแต่เรื่องการออกกฎหมายเป็นร้อยฉบับ แต่มันปฏิรูปหรือเปล่า คนละเรื่องกัน กฎหมายที่ออกมาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์นายกฯคนนอก

ยังประเมินอย่างนั้นไม่ได้ เพราะปี 2560-2561 อีก 2 ปีสถานการณ์ทุกอย่างมันเปลี่ยนได้เยอะ เราไม่รู้ว่าความขัดแย้งต่างๆในคนที่เกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจมีอยู่มากแค่ไหน ความอึดอัดของชนชั้นนำกลุ่มต่างๆที่ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2561 อยู่ 5 ปี แล้วจะอยู่ต่อไปอีก 4 ปีคือ 9 ปี ถือว่านานมาก ชนชั้นนำด้วยกันจะยอมรับได้แค่ไหน

คนคนหนึ่งอยู่ในอำนาจมากเกินไปหมายถึงคนอื่นๆไม่มีโอกาสเข้ามามีอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์จะรับแรงกดดันที่กลายเป็นเป้าของทุกคนที่พยายามมีอำนาจไหวหรือเปล่า โอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ เช่น รัฐประหารก่อนการเลือกตั้ง เรื่องนี้ผมยังประเมินไม่ได้ เพราะธรรมชาติการรวมศูนย์อำนาจในกองทัพที่อยู่ภายใต้ทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แปลว่าการขยับของขั้วอำนาจในกองทัพก็ต้องอยู่ภายใต้การรัฐประหาร ซึ่งในระบอบประชาธิปไตย การขยับอำนาจ เช่น ผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆผ่านการเจรจาต่อรอง การล็อบบี้ การพูดคุย หรือการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนรัฐบาล แต่รัฐบาลแบบ พล.อ.ประยุทธ์ อำนาจในกองทัพไม่สามารถเกิดการเปลี่ยนขั้วได้ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ยินยอม คำถามคือ ถ้าการจัดสรรอำนาจในกองทัพไม่สามารถทำให้ทุกคนมีความสุขร่วมกันได้ พล.อ.ประยุทธ์จะเกิดปัญหา เพราะไปปิดกั้นโอกาสความก้าวหน้าของเขาโดยปริยาย ถามว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรนั้นไม่สามารถตอบได้

ทิศทางอนาคตประเทศไทย

ผมคิดว่าประเทศไทยจะเดินหน้าไปอย่างไม่น่าจะมีอนาคตอะไร เพราะเป็นประเทศที่การมีส่วนร่วมของคนกลุ่มต่างๆในนโยบายต่างๆไม่ได้เกิดแล้ว เป็นประเทศที่ความเดือดร้อนของประชาชนมาจากนโยบายของรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ ข้าราชการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ประชาชนไม่สามารถเข้าไปสู่ระบบการเมืองหรือกลไกอำนาจรัฐในการตัดสินใจได้ เพราะฉะนั้นโอกาสสร้างระบบการเมืองที่ดีเพื่อตอบสนองประชาชนถือว่าต่ำมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์


You must be logged in to post a comment Login