วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567

มุมมองกฎหมายถอนประกัน‘ไผ่ ดาวดิน’ / โดย ประชาไท

On January 16, 2017

คอลัมน์ : ข่าวไร้พรมแดน
ผู้เขียน : ประชาไท

กรณีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” มีคดีติดตัวถึง 5 คดี และล่าสุดถูกจับข้อหาตามมาตรา 112 เพราะการแชร์รายงานพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ของบีบีซีไทยนั้น ทำให้มีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวไผ่ทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและประชาคมโลก ซึ่งพนักงานสอบสวนยื่นศาลขอให้เพิกถอนการประกันตัวนายจตุภัทร์เนื่องจากมีการโพสต์เยาะเย้ยพนักงานสอบสวน โดยคำร้องตำรวจระบุว่า

1.หลังจากผู้ต้องหาได้รับการประกันตัว ผู้ต้องหามีความเคลื่อนไหวโดยแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ โดยพิมพ์ข้อความในเชิงเยาะเย้ยเจ้าพนักงานกรณีได้รับประกันตัวเป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท และพิมพ์ข้อความว่า “เศรษฐกิจแย่แม่งเอาแต่เงินประกัน”

2.ผู้ต้องหานี้เคยมีประวัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีความมั่นคงมาหลายคดี

3.คดีนี้เป็นคดีร้ายแรง เนื่องจากเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

4.กรณีมีเหตุฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากผู้ต้องหาได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นศาลที่ศาลจังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2559 ศาลอนุญาตแล้ว ผู้ต้องหายังมีการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์เรื่อยมา และอาจจะเป็นการยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หากรอถึงวันที่ 23 ม.ค. 2560 อาจก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าวข้างต้นจึงขอให้ศาลมีหมายเรียกนายประกันและผู้ต้องหามาสอบถาม และขอให้เพิกถอนประกันตัวผู้ต้องหานี้ด้วย

อาจารย์สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ระบุว่า โดยหลักการในรัฐธรรมนูญระบุว่าบุคคลจะถูกจับกุมคุมขังได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น และข้อยกเว้นใดๆจะต้องถูกตีความโดยเคร่งครัดและคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของบุคคลเป็นหลักเสมอ

อาจารย์สมลักษณ์เห็นว่ากรณีของนายจตุภัทร์มีการกำหนดเงื่อนไขและตีความการกระทำที่กว้างเกินไป และไม่ทราบว่าโดยข้อเท็จจริงมีการไต่สวนถึงเจตนาของพฤติการณ์หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่จะระบุได้ว่าบุคคลตั้งใจทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวจริงหรือไม่

ก่อนหน้านี้ภายหลังกลุ่มเพื่อนนักกิจกรรมและนักศึกษาร่วมกันเคลื่อนไหวให้ปล่อยตัวนายจตุภัทร์ด้วยการจุดเทียนเป็นสัญลักษณ์หน้าศาลอาญานั้น นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม ก็เตือนว่าอาจเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล แม้สามารถกระทำได้ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย

มุมมองทางกฎหมายเรื่องนี้น่าสนใจ อย่างความเห็นของอาจารย์สาวตรี สุขศรี อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์ประชาไทถึงหลักกฎหมายกับเหตุผลเรื่อง “การเยาะเย้ยเจ้าพนักงาน” และ “การเย้ยหยันอำนาจรัฐ” ที่ทำให้นายจตุภัทร์ไม่ได้ประกันตัวว่า “จากที่อธิบายถึงลักษณะ ขอบเขต และประเภทของเงื่อนไขที่ศาลกำหนดได้ในการให้ประกันตัวไปแล้ว ก็ค่อนข้างชัดเจนว่า “การเย้ยหยันอำนาจรัฐ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ไม่ได้เข้าข่ายหรือถูกกำหนดว่าเป็นความผิดตามกฎหมายใดๆย่อมไม่อยู่ในเหตุผลที่ศาลจะเพิกถอนการประกันตัวได้ และอย่าว่าแต่เพิกถอนไม่ได้ แม้แต่จะใช้เหตุผลนี้เพื่อกำหนดเป็น “เงื่อนไขการให้ประกันตัว” ศาลยังทำไม่ได้ (หรือไม่ควรทำได้) เนื่องจากไม่ได้เกี่ยวกับการป้องกันการหลบหนี การยุ่งเหยิงกับพยาน หรือการก่อเหตุอันตรายประการอื่นๆ ฯลฯ”

ส่วนในคำร้องเพิกถอนการประกันตัวของตำรวจที่ระบุถึงการโพสต์ข้อความว่า “เศรษฐกิจแย่แม่งเอาแต่เงินประกัน” ซึ่งจำเลยระบุว่าโพสต์ถึงคดีของนักกิจกรรมอีกคนหนึ่งนั้น อาจารย์สาวตรีกล่าวว่า โดยส่วนตัวเห็นว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นเหตุแห่งการถอนประกันตัวได้ เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า

1.ศาลไม่ได้กำหนดห้ามกล่าวอะไรแบบนี้ หรือกระทั่งการเย้ยหยันอำนาจรัฐ การวิพากษ์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ฯลฯ ไว้ในเงื่อนไขการให้ประกันตัว ดังนั้น ประเด็นนี้ย่อมชัดเจนว่าผู้ต้องหาไม่ได้ “ฝ่าฝืน หรือผิดเงื่อนไขการให้ประกันตัว” และทั้งถ้อยคำเพียงเท่านี้ไม่ได้สร้างความเสียหายหรืออันตรายใดๆที่ชัดเจนจนสามารถเพิกถอนประกันได้

2.การกล่าววิพากษ์วิจารณ์ระบบเศรษฐกิจก็ดี วิพากษ์การใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับการเรียกเงินประกันหรือหลักประกันใดๆในคดีอาญาก็ดี ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายใดๆ ทั้งไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆที่ระบุเจาะจงตัวได้ที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน “หมิ่นประมาท” ใครได้ด้วย ตรงกันข้ามการวิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐถือเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ยิ่งปัญหาเรื่องนี้ด้วย หากใครติดตามอยู่บ้างจะพบว่าการที่รัฐ “เอาแต่เรียกประกัน” และเรียกประกันสูงๆด้วยจากผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือการใช้ดุลยพินิจของศาลในการเรียกประกันก็ขาดความชัดเจน ไม่แน่นอน และเอาแต่พิจารณาจากความหนักเบาแห่งข้อหา โดยให้ความสนใจเงื่อนไขอื่นๆน้อยกว่า นับเป็นปัญหาในกระบวนการยุติธรรมไทยมาโดยตลอด ทำให้เกิดปัญหาการอำนวยความยุติธรรมที่เหลื่อมล้ำระหว่างคนจนคนรวย จนหลายๆหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องค้นคว้าทำวิจัยเพื่อหาทางแก้ปัญหาอยู่เนืองๆ ดังนั้น การที่ประชาชนสักคนหนึ่งไม่เฉพาะแต่ผู้ต้องหาในคดีนี้จะรู้สึกไม่ดีหรือเห็นการเอาแต่เรียกประกันเป็นปัญหาของประเทศไทยจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดบาปอะไรจนกลายเป็นเหตุผลในการเพิกถอนประกันตัวได้

ส่วนที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ระบุว่าจำเลยไม่ได้ลบโพสต์ที่เป็นเหตุแห่งคดีนั้น อาจารย์สาวตรีเห็นว่า ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่จะเพิกถอนการประกันเช่นกัน หากศาลเห็นว่าควรลบก็สามารถกำหนดในเงื่อนไขได้ แต่ก็ไม่ได้ทำ เป็นไปได้ด้วยว่าศาลเองก็ยังไม่ชัดเจนหรือตัดสินว่าบทความดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดหรือไม่ จึงไม่ได้สั่งเช่นนั้น

สำหรับประเด็นยุ่งเหยิงกับพยานนั้นยิ่งไม่สมเหตุสมผลเลย เพราะหากศาลเห็นว่าบทความเป็นพยานหลักฐานได้ เมื่อผู้ต้องหาไม่ได้ลบทิ้งหรือแตะต้องมันก็ยิ่งชัดเจนว่าผู้ต้องหาไม่ได้เข้าไปยุ่งเหยิงกับพยาน ดังนั้น การอ้างเรื่องนี้จึงดูกลับหัวกลับหางมากๆ

(รายละเอียดความเห็นของอาจารย์สาวตรีในคดีของนายจตุภัทร์ อ่านเต็มได้ที่เว็บไซต์ประชาไทบทสัมภาษณ์ “คำอธิบายนักกฎหมายกรณีถอนประกันไผ่ ดาวดิน ไม่ถูกต้องชอบธรรม ไม่เป็นไปตามกรอบกฎหมาย”)


You must be logged in to post a comment Login